ปลายปีที่ผ่านมา “ศรีจันทร์” สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ให้กับตลาด ด้วยการเปิดตัว “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” ศิลปินเกาหลีสัญชาติไทย ไอดอลระดับโกลบอล ในฐานะพรีเซนเตอร์ SRICHAND IN-SKIN กลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สร้างสีสันได้อย่างมากแล้ว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังถือเป็นหลักไมล์สำคัญในการเสริมภาพความเป็นแบรนด์ระดับสากลของศรีจันทร์ให้แจ่มชัดขึ้นอีกด้วย
“ศรีจันทร์” (SRICHAND) แบรนด์เครื่องสำอางที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 76 ปี มักถูกพูดถึงและยกเป็นกรณีศึกษาของความสำเร็จในการสานต่อธุรกิจครอบครัว ชุบชีวิตแบรนด์เครื่องสำอางที่ซบเซาและรอวันปิดตัว ให้กลับมามีชีวิตชีวาเป็นที่รู้จักอีกครั้งด้วยยอดขายหลักพันล้านบาท โดยมี “รวิศ หาญอุตสาหะ” ทายาทรุ่น 3 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
จุดเริ่มต้นของศรีจันทร์เกิดขึ้นจากร้านขายยาเล็กๆ ย่านวังบูรพา ในปี พ.ศ. 2491 เมื่อ “พงษ์ หาญอุตสาหะ” ที่ขณะนั้นประกอบธุรกิจขายยาในชื่อร้านห้างขายยาสหโอสถ ได้มีการซื้อสูตรการผลิต “ผงหอมศรีจันทร์” จากหมอเหล็ง ศรีจันทร์ นำมาผลิต พร้อมเปลี่ยนชื่อจากห้างขายยาสหโอสถ เป็น “ห้างขายยาศรีจันทร์สหโอสถ” เพื่อดำเนินธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอางเป็นหลัก และมีการเปลี่ยนรูปแบบกิจการจากห้างขายยาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดในปี พ.ศ. 2510
ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 มีการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอีกครั้งจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด ในชื่อ “บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด” โดยมี “ผงหอมศรีจันทร์” หรือแป้งพอกหน้าคุมมันเป็นสินค้าหลัก ที่ได้รับความนิยมจากสาวๆ ในยุคนั้น เพราะมีคุณสมบัติที่ช่วยควบคุมความมันบนใบหน้าได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาเปลี่ยนไปความนิยมของผู้บริโภคก็ถดถอยไปตามกาลเวลา ผงหอมศรีจันทร์ในกล่องกระดาษสีเหลืองฟ้าที่คุ้นเคยกลายเป็นเพียงที่รู้จักของคนรุ่นเก่าๆ เท่านั้น ส่งผลให้แบรนด์ซบเซาลงเรื่อยๆ จนหลายคนคิดว่าปิดกิจการไปแล้ว กระทั่งในปี พ.ศ. 2549 รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อจากผู้เป็นปู่เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาอีกครั้ง
ภาพจากเว็ปไซต์ srichand.co.th
ซึ่งก่อนหน้านี้ภาพการกลับมารับช่วงต่อธุรกิจของที่บ้านไม่ใช่สิ่งที่รวิศคิดไว้ โดยหลังจากจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวิศเริ่มต้นทำงานตามที่เรียนมาอยู่ราวๆ 2 ปี ก่อนที่จะบินไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่ Vanderbilt University สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานในแวดวงการเงินการธนาคารอีกเป็นเวลาหลายปี
กระทั่งวันที่คุณปู่ผู้บุกเบิกศรีจันทร์ล้มป่วย รวิศในวัย 27 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากงานธนาคารและเข้ามารับช่วงต่อ เพราะถ้าไม่มีใครมาทำอะไร บริษัทก็คงต้องค่อยๆ ปิดตัวลงในที่สุด โดยตอนแรกที่รวิศเข้ามาเขามุ่งไปที่การสร้างระบบเป็นอันดับแรก เพราะ ณ ขณะนั้น บริษัทยังเป็นระบบแมนนวล ใช้เครื่องพิมพ์ดีด 100% ทุกอย่างอยู่บนแผ่นกระดาษ ไม่มีคอมพิวเตอร์ และมีสินค้าอยู่ตัวเดียวคือ “ผงหอมศรีจันทร์” ที่ต้องผสมน้ำเวลาใช้ และไม่มีบาร์โค้ด ซึ่งเท่ากับว่าวางขายได้จำกัด อีกทั้งยังไม่มีการทำการตลาดหรือการโฆษณามาก่อน
สิ่งที่รวิศทำคือนำคอมพิวเตอร์และโปรแกรมต่างๆ เข้ามาใช้ และทำให้ข้อมูลทุกอย่าง ทั้งสต๊อก บัญชี เข้าไปอยู่บนคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น ยังมีการปรับองค์กร โดยใช้คนรุ่นใหม่ในการทำงานด้านคอมพิวเตอร์ และให้พนักงานรุ่นเก่าที่อยู่กันมานานและอาจไม่ถนัดในการใช้คอมพิวเตอร์ให้ไปอยู่ฝ่ายจัดซื้อที่ต้องใช้ความถนัดในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานถนัดมากกว่า เรียกได้ว่าแฮปปี้กันทุกฝ่าย
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังขยายช่องทางการจำหน่าย จากที่เคยอยู่ในร้านขายยาเฉพาะในเขตภาคใต้ สู่พื้นที่ต่างๆ มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2552 สามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรดอย่างเซเว่น-อีเลฟเว่นได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงมีการปรับภาพลักษณ์ตราสินค้าของผงหอมศรีจันทร์และมีการเปิดตัว “เอ๊ะ-อิศริยา สายสนั่น” ในฐานะพรีเซนเตอร์คนแรกอีกด้วย ซึ่งปรากฏว่าสามารถเพิ่มยอดขายให้กับศรีจันทร์ได้ในระดับหนึ่ง โดยยอดขายผงหอมศรีจันทร์ก่อนที่รวิศเข้ามาอยู่ที่ปีละ 10 กว่าล้านบาทเท่านั้น
แต่ด้วยผงหอมศรีจันทร์ที่ตอนนั้นขายในตลับละ 18 บาท มีวิธีการใช้ที่ต้องผสมน้ำ อีกทั้งบรรจุภัณฑ์ก็ดูไม่ทันสมัย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ สิ่งที่รวิศคิดคือถ้าไปต่อแบบนี้ก็ไปได้ไม่ไกล ซึ่งนั่นนำไปสู่การปรับโฉมผลิตภัณฑ์และรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี 2557 จากผงหอมศรีจันทร์ราคาหลักสิบที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 60 ปี สู่ “แบรนด์ศรีจันทร์” พร้อมเปิดตัว “ศรีจันทร์ ทรานส์ลูเซนท์ พาวเดอร์” (Srichand Translucent Powder) แป้งฝุ่นควบคุมความมันกล่องม่วงที่ทาได้เลยไม่ต้องผสมน้ำ เครื่องสำอางราคาหลักร้อยที่มีการพัฒนาสูตรให้มีคุณภาพเทียบเท่าเครื่องสำอางระดับโลกออกสู่ท้องตลาด
ภาพจากเว็ปไซต์ srichand.co.th
อีกทั้งยังมีการปรับบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย รวมถึงมีการทำการตลาดในช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงชื่อ “ศรีจันทร์” ไว้เหมือนเดิม เพราะรวิศต้องการให้ศรีจันทร์เป็นแบรนด์เครื่องสำอางไทยที่สามารถอยู่บนร้านค้าชั้นนำได้ ซึ่งในปีเดียวกันนี้เองยังมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ศรีจันทร์เบบี้” (Srichand Baby) ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มาพร้อมกับแป้งเด็ก “เบบี้ พาวเดอร์” เพิ่มเติมอีกด้วย
ซึ่งผลจากการรีแบรนด์ครั้งนั้นได้สร้างยอดขายให้กับแบรนด์จาก 10 ล้านบาทในปี 2549 พุ่งมาเป็น 300 ล้านบาท ในปี 2557 และทำให้ชื่อของ “ศรีจันทร์” กลับมาโลดแล่นในวงการอีกครั้ง พร้อมๆ กับชื่อของ “รวิศ หาญอุตสาหะ” ก็ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเช่นกัน
หลังจากนั้นศรีจันทร์ยังไม่หยุดนิ่ง ปี 2559 มีการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าให้เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “SRICHAND” และห้อยท้ายด้วย “BANGKOK 1948” เพื่อขยายตลาดไปยังลูกค้าในต่างประเทศ และมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เครื่องสำอางและสกินแคร์อื่นๆ เพิ่มเติมตามความต้องการของตลาด เช่น ครีมกันแดด ครีมทาหน้า เอสเซนส์ น้ำตบ และเซรั่ม
ถัดมาในปี 2560 ศรีจันทร์แตกแบรนด์เครื่องสำอางใหม่สำหรับวัยรุ่น อย่าง “Sasi” (ศศิ) เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าเดิมไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเพื่อรับโอกาสจากการเติบโตของกลุ่มเครื่องสำอางสำหรับวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนั้น อันเนื่องมาจากกระแสของโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นให้คนต้องดูดีตลอดเวลา เพื่อถ่ายรูปลงในช่องทางออนไลน์ต่างๆ
โดย Sasi ระดมผลิตภัณฑ์หลาย SKU มาดึงดูดความสนใจของเหล่าวัยรุ่นตั้งแต่แป้งฝุ่น, แป้งรองพื้น, ดินสอเขียนคิ้ว, ลิปทินต์, อายแชโดว์, ครีมกันแดด ราคาเริ่มต้นที่ 39 บาท ไปจนถึง 100 บาท เน้นการทำการตลาดออนไลน์และโรดโชว์ตามสถานศึกษา ก่อนที่ภายหลังจะมีการรีเฟรชแบรนด์หลังอยู่ในตลาดมานาน 5 ปี โดยรีเฟรชแบรนด์สู่ Beauty and Lifestyle Brand ที่ไม่จำกัดแค่เครื่องสำอาง แต่ยังรวมไปถึงเทรนด์แฟชั่น การแต่งหน้าแต่งตัว พร้อมกับออกไลน์สินค้าใหม่ในหมวดไลฟ์สไตล์เพิ่มขึ้น ทั้งหมวก เสื้อ และกระเป๋า แต่ยังคงโฟกัสที่กลุ่ม Base Makeup ที่มีจุดยืนเรื่องราคาย่อมเยาเป็นหลัก ซึ่งนั่นทำให้ยอดขายในปี 2565 ของแบรนด์ Sasi เติบโตขึ้นถึง 50% แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
จาก Sasi รวิศยังคงเดินหน้าแตกแบรนด์ลูกเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น “HYPE!!” (ไฮพ์) แบรนด์สินค้าเพื่อสุขอนามัย เช่น แฮนด์ครีม, สบู่ล้างมือ แบรนด์ “SELENE” (เซเลนี) แบรนด์แรกในหมวดผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกายของศรีจันทร์สหโอสถที่มีจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอม และ “1948beauty.com” เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้านความงามที่ศรีจันทร์สั่งสมและสืบทอดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1948
นอกจากการแตกแบรนด์ใหม่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว การตลาดของศรีจันทร์เองก็น่าสนใจไม่น้อยและเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของความสำเร็จ เพราะมีการทำการตลาดในหลากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย โดยดึงเอาบุคคลมีชื่อเสียงอย่าง ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก, มาย ภาคภูมิ, อาโป ณัฐวิญญ์ และ เก้า สุภัสสรา มาเป็นตัวแทนในการสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ จนทำให้แบรนด์ศรีจันทร์และแบรนด์ในเครือเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันศรีจันทร์มีคู่ค้าอยู่ทั้งในลาว เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นที่ถือเป็นตลาดที่เจาะยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นสกินแคร์และเครื่องสำอาง
ปลายปีที่ผ่านมาศรีจันทร์เดินหน้าสู่ระดับสากลอีกหนึ่งขั้น กับการดึง “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” ศิลปินเกาหลีสัญชาติไทย ไอดอลระดับโกลบอล นั่งแท่นพรีเซนเตอร์ SRICHAND IN-SKIN กลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ของแบรนด์ศรีจันทร์ เพื่อผลักดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดสากลแบบเต็มตัว โดยเลือกเปิดตัว ณ พาร์ค พารากอน ซึ่งเรียกกระแสความสนใจจากกลุ่มแฟนคลับได้เป็นอย่างมาก
โดยรวิศเปิดเผยว่ากระแสผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม (Health & Beauty) ไทยมาแรง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์ ที่มีสัดส่วนโตมากที่สุดถึง 44% ศรีจันทร์จึงมุ่งขยายธุรกิจจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพไปยังสกินแคร์อย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตภายในไทยนั้นคิดเป็น 85% ของธุรกิจเครื่องสำอางในไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทยเองนั้นได้รับการยอมรับและมีคุณภาพไม่แพ้ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
ส่วนการดึงแบมแบมมาเป็นพรีเซนเตอร์ในครั้งนี้ เพราะศรีจันทร์เห็นถึงแพชชั่นของแบมแบม ที่พยายามทำตามความฝันจนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งเป็นภาพที่ศรีจันทร์ต้องการสื่อถึงความเป็นแบรนด์ศรีจันทร์ที่มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและไม่เคยถอยเช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดด้วยความดังระดับโกลบอลของแบมแบม ย่อมเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของแบรนด์และเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดสากลได้เป็นอย่างดี และทำให้หมุดหมายในการเป็นแบรนด์ไทยที่สามารถโกอินเตอร์สู่ระดับสากลของศรีจันทร์ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น
ทั้งนี้ ศรีจันทร์คาดว่าในปี 2568 จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยผลประกอบการย้อนหลังของบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด พบว่า ปี 2563 มีรายได้ 440 ล้านบาท กำไร 6.3 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้ 520 ล้านบาท ขาดทุน 38.8 ล้านบาท, ปี 2565 รายได้ 735 ล้านบาท กำไร 25.7 ล้านบาท และปี 2566 รายได้รวม 1,046 ล้านบาท กำไร 80 ล้านบาท.