วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > สำรวจเครือข่าย รพ.ไทย ในอาเซียน ก่อนเปิดประตูสู่ AEC

สำรวจเครือข่าย รพ.ไทย ในอาเซียน ก่อนเปิดประตูสู่ AEC

 

ไม่เพียงธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่สยายปีกออกสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเมืองที่เป็น “หน้าด่านการค้า” สำคัญ เพื่อเตรียมรับกับกระแสการเปิดประชาคมอาเซียนในอีกไม่ถึง 3 ปี โรงพยาบาลเอกชนนับเป็นอีกธุรกิจที่เดินเครื่องมุ่งหน้าปักหมุดในหัวเมืองสำคัญตามแนวชายแดนอย่างคึกคัก รวมถึงความพยายามที่จะรุกเข้าไปปักธงในเมืองสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรอรับโอกาสทองจากเออีซีที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
 
ในบรรดา รพ. เอกชนไทย การเคลื่อนทัพของเครือ รพ. กรุงเทพ ดูจะร้อนแรงและน่าจับตาเป็นที่สุด ทั้งนี้เพราะวิสัยทัศน์ของ “กรุงเทพดุสิตเวชการ” หรือ BGH คือการเป็น “พี่ใหญ่” ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อรุกเข้าสู่ตลาดจีนในอนาคต
 
“นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องรุกเปิด รพ. ทางตอนเหนือ เพราะถ้าเรานำสาขาเข้าไปใกล้กับพม่าและลาวได้ก็จะใกล้กับจีนได้มากขึ้น” คำอธิบายจาก นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ หลังการควบรวมครั้งใหญ่ระหว่างเครือ รพ.กรุงเทพ กับเครือ รพ. พญาไท และเปาโลเมโมเรียล เมื่อวันที่ 1เม.ย. 2554 ส่งผลให้มี รพ. ในเครือถึง 27 แห่ง โดยมี 2 แห่งอยู่ในกัมพูชา และในปีนั้น BGH ได้เปิด รพ.กรุงเทพปากช่อง เป็นแห่งที่ 28
 
ในปีที่ผ่านมา BGH ยังคงเดินหน้าขยาย รพ. อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในชัยภูมิที่เป็นเมืองหน้าด่านเออีซี โดยได้ซื้อกิจการ รพ.อุดรปัญญาเวช ในอุดรธานี เพื่อปรับปรุงเป็น รพ.กรุงเทพอุดร และยังได้ลงทุนก่อสร้าง รพ. ในเชียงใหม่ โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางภาคเหนือ และเติมเต็มเครือข่ายของกลุ่มให้ครบทุกภาค คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2557
 
“ปัจจุบันเรามีสาขาอยู่ในจังหวัดชายแดนเพื่อรองรับคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้าน เชียงใหม่รองรับคนไข้จากพม่า อุดรธานีรับคนไข้จากลาว และหาดใหญ่รับคนไข้จากมาเลเซีย ซึ่งตอนนี้เรากำลังจับตาดูว่า โครงการท่าเรือทวายจะเป็นโอกาสที่จะสร้าง รพ. แถวๆ นั้นได้ไหม” หมอชาตรีระบุว่า ยุทธศาสตร์ในการใช้ประโยชน์จากเออีซีของ BGH คือ การใช้ รพ. ที่อยู่ติดชายแดนเป็นหน้าด่านนั่นเอง
 
เครือ รพ.กรุงเทพ ยังได้ซื้อและปรับปรุง รพ.สุนทรภู่ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2557 เมื่อถึงเวลานั้น BGH จะมี รพ. รองรับคนไข้ในระยองถึง 2 แห่ง นอกจากนี้ BGH กำลังเตรียมตัวเปิด รพ. ใหม่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, พิษณุโลก และภูเก็ต ซึ่งจะเป็นแห่งที่ 2 ของกลุ่มในจังหวัดนี้ คาดว่าจะเปิดได้ในไตรมาสแรกของปี 2557
 
ส่วนเกมบุกตลาดอาเซียน ภายในปีนี้  BGH จะมี รพ.รอยัลพนมเปญ ซึ่งจะเป็น รพ. แห่งที่ 3 ของกลุ่มในกัมพูชา และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการกับ รพ. แห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งตลาดพม่าถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่ม เพราะพม่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดย 2 ปีที่ผ่านมา คนไข้จากพม่าบินเข้ามาใช้บริการในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพม่ายังเป็นช่องทางที่เข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างสบาย
 
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนเปิดเกมรุกสู่ตลาดจีน ต้นเดือน เม.ย. ที่เพิ่งผ่านมา BGH ได้ลงทุนสร้าง รพ.กรุงเทพ ไชน่า ทาวน์ ในย่านเยาวราช ขนาดเพียง 59 เตียง โดยจะมีบรรยากาศของ รพ. ในเซี่ยงไฮ้ เพราะทั้งภาษา วัฒนธรรม และพนักงาน จะเป็นจีนทั้งหมด คาดว่าจะเปิดให้บริการก่อนตรุษจีนปีหน้า ทั้งนี้เพื่อใช้ศึกษาตลาดคนจีนก่อนตัดสินใจเข้าไปเปิด รพ. ในเมืองจีน
 
สำหรับแบรนด์อื่นในเครือ ผู้บริหารแห่ง BGH ชี้ว่าทุกแบรนด์จะเดินหน้าในทิศทางเดียวกันคือ การบุกตลาดอาเซียน โดย “สมิติเวช” เป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาได้ออกไปต่างประเทศแล้ว แต่เป็นรูปแบบของการรับบริหาร รพ. โดยได้เข้าไปบริหารให้กับ รพ.วิคตอเรีย ในพม่า และร่วมบริหาร รพ.แกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในเนปาล
 
เครือ รพ. เกษมราษฎร์ หรือ “บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH)” ถือเป็นอีกเครือที่มีความเคลื่อนไหวตอบสนองต่อกระแสเออีซีอย่างชัดเจน โดย BCH ได้ลงทุนปรับปรุงคลินิกศรีบุรินทร์ซึ่งเป็นสาขาของเครือใน อ.แม่สาย ให้เป็น รพ.ขนาดเล็ก เพื่อรองรับผู้ป่วยจากพม่า และเชื่อมโยงกับ รพ.เกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ในตัวเมืองเชียงราย ซึ่งกำลังขยายเพิ่มอีก 100 เตียง 
 
นอกจากนี้ กลุ่ม BCH ยังมีแผนจะก่อสร้างโพลีคลินิกในอำเภอชายแดนอื่นในเชียงรายอีก 2 แห่ง ได้แก่ อ.เชียงของ เพื่อรองรับกับการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่จะเปิดตัวในกลางปีนี้ และอีกแห่งคือ อ.เชียงแสน 
 
“การที่เราเน้นไปเชียงราย เพราะเราต้องการต้อนรับประชาคมอาเซียนที่จะมีขึ้น เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 และถนนสาย R3A ที่จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างไทย ลาว และจีน สะดวกขึ้น” นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. บางกอก เชน ฮอสปิทอล กล่าว
 
เพื่อรองรับเออีซี BCH ยังลงทุนพัฒนา รพ. ใหม่ภายใต้ชื่อ “World Medical Center (WMC)” เพื่อรุกสู่ตลาดบนและเจาะกลุ่มชาวต่างชาติ โดยเล็งจะสร้างแห่งที่ 2 ที่เมืองพัทยา เพิ่มจากแห่งแรกบนถนนแจ้งวัฒนะที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่เพิ่งผ่านมา
 
สำหรับกลุ่ม รพ.ธนบุรี แม้จะไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีแผนการขยายธุรกิจที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป้าหมายหลักอยู่ที่ตลาดจีน โดยนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการกลุ่ม รพ.ธนบุรี ได้ให้ข่าวเมื่อต้นปีว่า บริษัทได้เตรียมเม็ดเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในจีนในช่วง 2-3 ปีนี้ หลังจากที่ได้เคยชิมลางตลาดจีนผ่านการร่วมทุนกับ รพ.รัฐบาลของจีนในการบริหาร รพ. มาก่อนหน้านี้
 
แต่การลงทุนใหญ่ครั้งนี้เป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจจีน มีเป้าหมายเพื่อสร้างโรงพยาบาล 4 แห่งในเมือง “หนานจิง” และ “ฉางโจ” ในมณฑลเจียงซู ซึ่งอยู่ติดกับเซี่ยงไฮ้ มีขนาดประชากร 100 ล้านคน โดยปีนี้ บริษัทจะลงทุน 2 หมื่นล้านบาทสำหรับสร้าง รพ. ในหนานจิง เพื่อรองรับชาวต่างชาติและคนรวยของจีน 
 
ในมุมมองของหมอบุญ ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมาก เพราะมีดีมานด์มหาศาลและมีกำลังซื้อสูง แม้จะมีกลุ่มคนรวยเพียง 3-5% แต่ก็มากกว่า 40 ล้านคนแล้ว ขณะที่ รพ.ที่มีคุณภาพยังมีอยู่น้อย ฉะนั้นจึงเป็นตลาดที่กว้างใหญ่มาก
 
อย่างไรก็ดี ตลาดอาเซียนก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ โดยกลุ่ม รพ.ธนบุรี ได้นำร่องด้วยการรับบริหารโรงพยาบาลในเวียดนามและกัมพูชา พร้อมกับเตรียมแผนขยายไปในพม่า  
 
สำหรับตลาดในประเทศ หมอบุญเผยว่า จะไม่เน้นขยายธุรกิจ รพ.เพิ่ม แต่จะหันไปพัฒนาโครงการ “Nursing Home” แทน เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต เนื่องจากแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยโครงการแรกจะอยู่ที่ราชบุรี จับกลุ่มลูกค้าระดับบนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จากนั้นมีแผนขยายไปในหลายทำเลสำคัญ อาทิ ภูเก็ต หัวหิน และกรุงเทพฯ 
 
ขณะเดียวกันมี รพ. หลายแห่งที่แม้ไม่ได้ขยายไปในจังหวัดใหม่ๆ แต่ก็ได้ลงทุนขยับขยาย รพ.ที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรับมือกระแสเออีซี เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ ที่ลงทุนซื้อที่ดินในบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างสาขา 2 ส่วนกลุ่ม รพ. กล้วยน้ำไท และ รพ.ยันฮี ต่างก็สร้างอาคารเพิ่มเติม ขณะที่กลุ่ม รพ.รามคำแหง ได้ทำการขยับขยาย รพ.เชียงใหม่ราม และ รพ.ขอนแก่นราม เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นตั้งรับคนไข้จากลาว
 
แม้ไทยจะได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาคอาเซียน หรือ “Medical Hub of ASEAN” แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ทั้งรัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียต่างก็มีนโยบายที่จะผลักดันประเทศไปสู่การเป็น Medical Hub เช่นกัน
 
การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียนอย่างรวดเร็วของกลุ่ม Integrated Healthcare Holdings Sdn Bhd (IHH) ของมาเลเซีย น่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลมาเลเซียได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ IHH ก็คือ กองทุน Khazanah ของรัฐบาลมาเลเซีย นั่นเอง
 
โดยในปี 2553 IHH ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดบริษัทปาร์คเวย์ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเครือข่าย รพ.ชั้นนำติดอันดับต้นๆ ของโลก และเคยมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ส่วนปีที่ผ่านมา IHH ได้เข้าซื้อหุ้น 75% ในบริษัท Acibadem Group ของตุรกี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาล 13 แห่ง และคลินิก 9 แห่งในตุรกี และโรงพยาบาลอีก 1 แห่ง ในประเทศมาเซโดเนีย ส่งผลให้ IHH กลายเป็นเครือข่าย รพ. ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
 
ปัจจุบัน IHH เป็นเจ้าของ รพ. มากมายในหลายประเทศ นอกจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็ยังมีในอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก รวมถึง รพ. ที่กำลังก่อสร้างในจีนและเวียดนาม ด้วยความแข็งแกร่งของเครือข่าย IHH นี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ รพ.เอกชนไทยไม่นิยมขยายสาขาลงมาทางอาเซียนตอนใต้ 
 
ว่ากันว่า ทันทีที่มีการเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจสถานพยาบาลตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ กลุ่มธุรกิจในอาเซียนสามารถลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนไทยได้ถึง 70% อาจเป็นไปได้ว่า IHH จะรุกคืบเข้ามาซื้อโรงพยาบาลจำนวนมากในประเทศไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่าย 
 
ประเด็นข้างต้นถือเป็นอีกปัญหาที่รัฐบาลไทยควรตั้งรับให้ทันก่อนประตูเออีซีจะเปิด นอกเหนือจากปัญหาเดิมๆ คือ การหาแนวทางสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้ทันกับการขยายตัวของ รพ.เอกชน พร้อมๆ กับการจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐานที่ดีและทั่วถึงสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

Related Stories:

ทางเลือก + ทางรอด Medical Hub