เป็นประจำทุกปีสำหรับช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่หลายๆ สำนักต่างออกมาประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของปีใหม่ที่มาถึง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย แม้จะมีโอกาสเติบโตจากแรงส่งของปี 2567 แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ในขณะที่แรงส่งหลักเริ่มถดถอย
“ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปเปิดแนวโน้มเศรษฐกิจของปี 2568 ผ่านมุมมองของ “ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้ให้มุมมองทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและเศรษฐกิจของเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า
“สภาพเศรษฐกิจปีหน้าดูไม่ง่าย ต้องแยกเป็นส่วนๆ ส่วนแรกในฝั่งของอเมริกา อันนี้ถือเป็นข่าวดีเพราะจีดีพีเขาโตเร็วกว่าเกณฑ์ปกติ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เงินเฟ้อปรับตัวลงมาแม้ว่าตลาดจะยังไม่ปรับตัวลงเท่าไร และนโยบายการเงินยังผ่อนคลายอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มที่ดี แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือเมื่อทรัมป์เข้ามาแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเป็นอย่างไรต่อ ถ้าทรัมป์ใช้นโยบายอย่างที่เคยเสนอไว้และทำได้จริงๆ ผมรับรองปลายปี 2568 อเมริกาเงินเฟ้อกระจาย”
ซึ่ง ดร. ศุภวุฒิเกริ่นว่า ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อของอเมริกาอาจจะแย่ลงถ้าทรัมป์ใช้นโยบายตามที่เสนอไว้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 นโยบายหลักที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อันได้แก่ 1. นโยบายทางด้าน “ภาษีศุลกากร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงทันทีเมื่อทรัมป์คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทำให้ทรัมป์กวาดคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันไปเป็นจำนวนมาก โดยทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% และสินค้าจากประเทศอื่นๆ ราว 10%
ทั้งนี้ นโยบายกำแพงภาษีดังกล่าวของทรัมป์มีจุดประสงค์ในการลดการขาดดุลการค้าและส่งเสริมการผลิตในประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งการกีดกันไม่ให้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ อาจทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ซึ่งนั่นเป็นการกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ
2. นโยบายลดภาษี โดยมีการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล (Tax Cuts and Jobs Act: TCJA) ไปอีก 10 ปี จนถึงปี 2577 หลังมาตรการเดิมจะหมดอายุในช่วงกลางปี 2568 ซึ่งถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีการลดภาษีด้านการลงทุน
3. นโยบายกีดกันผู้อพยพ โดยผลักดันคนที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายและไม่ให้คนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะจะทำให้แรงงานในประเทศขาดแคลน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้อพยพถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกา ทั้งนี้ อเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มกีดกันผู้อพยพมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2568 ส่งผลให้กำลังแรงงานอเมริกาและยูโรโซนลดลงร้อยละ 1 และ 0.75 ภายในปี 2573 ตามลำดับ
4. นโยบายลดทอนกฎเกณฑ์ต่างๆ (deregulation) เช่น ลดทอนกฎเกณฑ์การบังคับการขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาใหม่ ลดทอนกฎเกณฑ์ที่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจในอเมริกาเท่านั้น แต่ยังมีการคาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย เนื่องจากโลกจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันและความผันผวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรง ซึ่งนั่นรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดย SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะลดลงราวร้อยละ 0.5 เทียบกับแนวโน้มเดิมก่อนรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นอกจากฝั่งอเมริกาแล้ว เศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปก็ดูไม่ค่อยจะดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสที่กำลังมีปัญหาทางการเมือง
“เศรษฐกิจยุโรปปรับตัวลดลง จีดีพีแทบไม่ขยับเลย โดยเฉพาะเยอรมนีกับฝรั่งเศส ซึ่งเขามีปัญหาทางการเมือง ฝรั่งเศสกำลังต้องหานายกฯ ใหม่ ฝั่งเยอรมนี นายกฯ เพิ่งโดนปลด เพราะแพ้คะแนนเสียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่ง 2 เศรษฐกิจหลักของยุโรปกำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงมาก แล้วยังมีปัญหาระหว่างยูเครนกับรัสเซียอีก”
สำหรับฝั่งประเทศจีน ดร. ศุภวุฒิมองว่า ภาวะเงินเฟ้อในประเทศต่ำมากจนเข้าภาวะเงินฝืด อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปตลาดอเมริกาที่สูงขึ้น รวมถึงจีนกำลังประสบกับภาวะผลิตเกินความต้องการของคนในประเทศ โดยพบว่า Producer Price Index (PPI) หรือราคาขายสินค้าของผู้ผลิตติดลบต่อเนื่องมาถึง 2 ปี จีนจึงจำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน ทำให้สินค้าจีนมีแนวโน้มทะลักเข้าไปขายยังตลาดอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งนั่นทำให้ผู้ผลิตไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง และยิ่งเป็นการกดดันให้ภาคการผลิตไทยฟื้นตัวช้ามากขึ้นไปอีก
“จีนกำลังผลิตสินค้าที่ราคาถูกลงไปเรื่อยๆ นั่นแสดงว่ากำลังซื้อในประเทศเขาอ่อนแอ คนไม่จับจ่าย ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องดันสินค้าออกมานอกประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเจอกันอยู่ สินค้าจากจีนทะลักเข้าประเทศ ลองคิดตาม ถ้าผมเป็นผู้ประกอบการในจีน ทำไมผมต้องมาขายในเมืองไทย ถ้าในเมืองจีนขายดี ถ้าดูตามสถิติผู้ผลิตที่เกินความต้องการของคนในประเทศมากที่สุดคือจีน PPI เขาติดลบมา 26 เดือนแล้ว”
ซึ่งนี่คือภาพเศรษฐกิจของอเมริกากับประเทศต่างๆ และถ้าหันกลับมาโฟกัสที่เศรษฐกิจของไทยในปี 2568 นั้น แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตไปได้อยู่ ในขณะที่ ดร.ศุภวุฒิมองว่าการโตของเศรษฐกิจไทยเป็นแบบ “กระท่อนกระแท่น”
“ครึ่งแรกดีเพราะมีโมเมนตัมของการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งการแจกเงินและกระตุ้นงบลงทุน เพราะงบลงทุนยังค้างท่ออยู่เยอะ และยังมีการขับเคลื่อนนโยบายการคลังอยู่ ครึ่งแรกไม่ค่อยน่าห่วง พอมาครึ่งหลังต้องถามว่า Growth Engine จะอยู่ตรงไหน และที่สำคัญต้องดูว่านโยบายการค้าของอเมริกาเขาจะเข้มข้นแค่ไหน จะเริ่มมาบีบเราหรือยัง”
โดย ดร.ศุภวุฒิได้เผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีการขยายตัวได้ประมาณ 2.7% โดยไตรมาส 4/2567 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก
ส่วนในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว 2.9% แต่แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ และนโยบายการค้าโลกโดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของอเมริกาที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค ซึ่งการที่อเมริกาอาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 60 และขึ้นภาษีทั่วไปร้อยละ 10 สำหรับประเทศอื่นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะสั้นจากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน (China+1) แม้ว่าในระยะยาวอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออกก็ตาม
ทั้งนี้ ดร.ศุภวุฒิเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2568 ได้นั้น มาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปยังอเมริกาเท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี แต่ทั้งนี้ยังคงมีความเสี่ยงขาลงที่ต้องระวัง อีกทั้งตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะไม่แข็งแรงเท่าใดนัก
2. แรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2568 จะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ถึงกระนั้นรายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่าที่เคยเป็นมา
3. แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปี 2568 จากการแจกเงินก้อนสุดท้ายและการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่มนั้นอาจแปลได้ว่านโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น
4. ปัจจัยจากนโยบายการเงิน ซึ่งตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 2568 เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือกำลังซื้อภายในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้ ส่วนภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม บริการสุขภาพที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ และสถาบันการเงินที่มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและปรับตัวสู่ดิจิทัล.