วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
Home > Cover Story > 30 ปี ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ปรับปรุง เพื่อเปลี่ยนแปลง

30 ปี ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ปรับปรุง เพื่อเปลี่ยนแปลง

เป็นเวลา 30 ปี จากจุดเริ่มต้นที่ พันธ์รบ กำลา ประธานบริหาร ตั้งต้นและพัฒนาสูตร ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จนกระทั่งแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวเป็นที่รู้จัก มีผู้สนใจร่วมลงทุนเป็นจำนวนกว่า 4,000 สาขาทั่วประเทศ

แม้ว่าปัจจุบันบะหมี่แบรนด์ชายสี่จะได้รับเสียงวิพากษ์กันอย่างหนาหูว่า รสชาติไม่นิ่ง ความอร่อยของบะหมี่แต่ละสาขาแตกต่างกัน แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อความนิยมที่ค่อยๆ ลดลง ในขณะที่คู่แข่งตลาดสตรีทฟูดมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ปัญหาที่เปรียบเสมือนจุดบอดของแบรนด์ชายสี่กลายเป็นปมที่ผู้บริหารต้องเร่งแก้ไข เพื่อที่จะก้าวสู่จุดหมายที่ไปไกลมากกว่าการขยายจำนวนแฟรนไชส์ หรือการออกแบรนด์ลูก รวมถึงการพัฒนาธุรกิจในเครือของชายสี่ คอร์ปอเรชั่น

“การอยู่ในเส้นทางธุรกิจแฟรนไชส์อาจจะส่งผลให้เราโตเร็วไม่ได้ดั่งใจ บวกกับทิศทางของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ที่ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวถูกก่อตั้งขึ้น สตรีทฟู้ดที่เราเห็นก็จะมีแต่บะหมี่เกี๊ยว จนถึงวันนี้จะเห็นได้ว่า เรามีเพื่อนที่อยู่ในเส้นทางนี้จำนวนมาก” อนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ปัจจุบัน ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น มี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มแฟรนไชส์ กลุ่มร้านอาหาร และกลุ่มเทรดดิ้ง มีแค่แบรนด์ ชายสี่โกลด์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน จำหน่ายในโมเดิร์นเทรดเท่านั้น

ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น พยายามที่จะแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดคือช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่จัดงานแถลงข่าวยิ่งใหญ่พร้อมดึงพันธมิตรใหม่เข้าร่วมพอร์ตกลุ่มร้านอาหาร เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ เสือร้องไห้ ร้าน BRIX คาเฟ่ของหวาน ร้านหมูสองชั้น หมูกระทะบุฟเฟต์ และร้านชายสี่ พลัส บะหมี่ฮ่องกง

สำหรับการเลือกแบรนด์ร้านอาหารเข้ามาเสริมพอร์ตนั้น อนุชิตระบุว่า จะเลือกร้านอาหารที่เจ้าของที่มีแนวทางการทำธุรกิจใกล้เคียงกัน พร้อมที่จะเติบโต ซึ่ง ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จะเข้าไปถือหุ้นใหญ่

ด้านผู้บริหารหน่วยธุรกิจและผู้ก่อตั้งแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวเรือ เสือร้องไห้ ที่เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับชายสี่ ณัฐชนา ปิ่นนิกร และวีรพล การีโรจน์ ให้เหตุผลในการเข้าร่วมธุรกิจในครั้งนี้ว่า “การได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชายสี่ คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของก๋วยเตี๋ยวเรือ เสือร้องไห้ อย่างเป็นรูปธรรม และการเปิดสาขาที่เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ไม่เพียงจะเป็นการขยายตลาดเข้าสู่เมืองใหญ่ แต่ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอประสบการณ์ที่พิเศษของก๋วยเตี๋ยวเรือแบบพรีเมียมที่มีต้นกำเนิดจากอยุธยาให้คนกรุงเทพฯ ได้สัมผัส นอกจากเราจะได้รับการสนับสนุนในด้านการพัฒนาระบบการจัดการและกระบวนการปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นจนจบ เรายังได้รับการส่งเสริมในด้านการตลาดและคอนเนกชั่นที่กว้างขวางของชายสี่ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งทำให้เรามั่นใจว่าการเติบโตของแบรนด์จะก้าวไกลและครองใจลูกค้าได้อย่างยั่งยืน”

นอกจากการแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นแล้ว การดึงร้านอาหารเข้ามาร่วมธุรกิจของชายสี่ คอร์ปอเรชั่น น่าจะทำให้ชายสี่เข้าใกล้เป้าหมายสำคัญ คือการเป็น “เจ้าแห่งสตรีทฟู้ด” มากขึ้น

แน่นอนว่า การให้ความสำคัญกับธุรกิจกลุ่มร้านอาหารซึ่งถือเป็นหนึ่งขาสำคัญของชายสี่ คอร์ปอเรชั่น อาจจะไม่เพียงพอต่อการเติบโตเท่าที่ควร เพราะต้องบอกว่า ชายสี่ ยังต้องแก้ปัญหาที่ดูจะสะสมมาระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือ รสชาติที่ยังไม่มั่นคงจากร้านแฟรนไชส์ รวมถึงแบรนด์แฟรนไชส์ในกลุ่ม อย่าง พันปีหมี่เป็ดย่าง ชายใหญ่ ข้าวมันไก่ อาลี หมี่ฮาลาล ไก่หมุนคุณพัน และลูกชิ้นทอด OMG ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก เนื่องจากยังมีจำนวนสาขาไม่มาก

อนุชิตกล่าวถึงแนวทางที่เป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับรูปเกมครั้งนี้ว่า ต้องมุ่งเน้นด้านคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค “ลูกค้าแฟรนไชส์ต้องการต้นทุนที่ถูกลง กำไรมากขึ้น เขาต้องอยู่ได้ ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุดิบ การส่งผ่านคุณภาพไปยังผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค และเราต้องสร้างระบบเทรนนิ่ง แบรนด์ดั้งเดิมของเรามีความแข็งแรงอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เราต้องการให้อยู่ได้ด้วยแบรนด์เดิม”

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ 3 กลุ่มธุรกิจ รายได้หลักประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งรายได้จากแบรนด์ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวกินสัดส่วนกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้ของกลุ่มร้านอาหารมี 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากร้านอาหารแต่ละแบรนด์ยังมีสาขาไม่มากนัก และรายได้จากกลุ่มเทรดดิ้งมีสัดส่วน 3 เปอร์เซ็นต์

การขยับขยายและลงทุนเพิ่มในครั้งนี้น่าจะเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของชายสี่ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป้าหมายหลักคือความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และเข้าตลาดหุ้น ติดนามสกุล “มหาชน”

ทว่า สิ่งที่นักบริหารมืออาชีพอย่างอนุชิตจะทำเป็นอันดับต้นๆ คือการปัดฝุ่นแบรนด์ลูกๆ ทั้ง 7 แบรนด์ ด้วยการสร้างการจดจำ และการเข้ามาเป็นทางเลือกหลักในอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค ขณะที่อนุชิตยังมองว่า ธุรกิจสตรีทฟู้ดในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังเติบโตได้ยากลำบากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ

“ธุรกิจร้านสตรีทฟู้ดในยุคนี้ต้องบอกว่าไม่โตเท่าที่ควร เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา กระทบต่อกำลังซื้อ จะเห็นได้ว่าร้านอาหารจำนวนมากปิดตัวลง ซึ่งคนที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้คือ คนที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์อาจได้รับผลกระทบในทางลบบ้าง เราน่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัว แต่กลุ่มร้านอาหารยังมีทิศทางที่ดี มีโอกาสเติบโต เนื่องจากผู้บริโภคในกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจร้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

ซึ่งทำเลที่เรามองสำหรับการขยายสาขาของแบรนด์ร้านอาหาร ที่เราดึงเข้ามาในพอร์ตมีการพิจารณาจากทำเลที่อยู่อาศัยเป็นหลัก พื้นที่ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก

ปัจจุบันร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวมีมากกว่า 4,000 สาขา ทั่วประเทศ มองในภาพรวมสามารถที่จะขยายได้อีก 2,000 สาขาภายใน 2-3 ปี และนั่นน่าจะถึงจุดอิ่มตัว อนุชิตมองว่าการขยายสาขาแบบรวดเร็วเช่นเดิมคงเป็นเรื่องยากขึ้น ดังนั้น การมองหาแบรนด์ใหม่เข้าพอร์ตเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปีนี้เราคาดว่าจะมียอดรายได้ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท และสำหรับงบประมาณการลงทุนกับแผนที่เราเตรียมการไว้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท นอกจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เราต้องการที่จะเป็นเจ้าแห่งเส้น เจ้าแห่งสตรีทฟู้ด” อนุชิตทิ้งท้าย

การสร้างภาพจำให้แก่แบรนด์ลูก 7 แบรนด์ รวมถึงการขยายสาขาร้านอาหารที่มีเพื่อเสริมแกร่ง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซื้อของประชาชนยังชะลอตัว คงเป็นเรื่องที่ท้าทายชายสี่บะหมี่เกี๊ยวรถเข็นสีเหลืองพอสมควร.