วันจันทร์, ธันวาคม 2, 2024
Home > New&Trend > สถาบันบริหารธุรกิจระดับโลก “MIT Sloan School of Management” ประกาศเปิดตัวสำนักงานในประเทศไทย สำนักงานแห่งที่ 2 นอกสหรัฐฯ

สถาบันบริหารธุรกิจระดับโลก “MIT Sloan School of Management” ประกาศเปิดตัวสำนักงานในประเทศไทย สำนักงานแห่งที่ 2 นอกสหรัฐฯ

ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกหลายครั้งที่ผ่านมา ชื่อของ Massachusetts Institute of Technology (MIT) มหาวิทยาลัยชื่อดัง ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มักครองตำแหน่งเบอร์ต้นๆ ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันสาขาอื่นๆ อย่าง MBA หรือการบริหารธุรกิจก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “MIT Sloan School of Management” สถาบันบริหารธุรกิจในเครือของ MIT ที่ถือเป็นสถาบันบริหารธุรกิจระดับโลกเช่น

ล่าสุดสถาบันบริหารธุรกิจระดับโลก “MIT Sloan School of Management” (สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน) ประกาศเปิดสำนักงานอาเซียนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสำนักงานแห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อจากประเทศชิลี

“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ มร.เดวิด คาโพดิลูโป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ถึงการตัดสินใจมาเปิดสาขาในเมืองไทย พร้อมวิสัยทัศน์ แนวทางการดำเนินงาน และเป้าหมายของสำนักงานเอ็มไอที สโลน ประเทศไทย

สำหรับ มร.เดวิด คาโพดิลูโป ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ในระดับผู้บริหารมามากกว่า 40 ปี ทั้งในด้านการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า การพัฒนากระบวนการเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนการขายและการวางแผนการตลาดกับบริษัทด้านการลงทุนชั้นนำ ก่อนที่จะเข้าสู่วงการการศึกษา ด้วยการร่วมงานกับสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน โดยเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจ และหลักสูตรบริหารการจัดการ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลก รับผิดชอบการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือกับหลักสูตรระดับปริญญาโทและสถาบันการศึกษาจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลี ออสเตรเลีย โปรตุเกส อินเดีย รัสเซีย ตุรกี ไต้หวัน ชิลี และบราซิล

นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในโครงการ MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program (MIT REAP) และโครงการ Visiting Fellows รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มและบริหารสำนักงานสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ประจำภูมิภาคลาตินอเมริกา ในเมืองซานติอาโก ประเทศชิลี อีกด้วย

มร.เดวิด เปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องบ่อยนักที่ทาง สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน จะตัดสินใจเปิดสำนักงานสาขานอกสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความที่เอ็มไอที สโลน เล็งเห็นถึงการพัฒนาสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมานาน ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าและพันธมิตรของ MIT ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าศิษย์เก่า MIT ในเมืองไทยมีจำนวนไม่น้อยเลยจริงๆ และศิษย์เก่าและพันธมิตรเหล่านั้นล้วนเป็นผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ ที่ต้องการยกระดับความสัมพันธ์และเพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ซึ่งพันธกิจของ MIT เองก็คือการพัฒนาโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลให้ทางเอ็มไอที สโลน ตัดสินใจมาเปิดสำนักงานขึ้นในเมืองไทย เพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations – ASEAN) เดินหน้าขยายอิทธิพลในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอภิปรายด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านความสามารถในการบริหารจัดการในระดับสากล รวมถึงความแตกต่างทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายในการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนในภูมิภาค

ทั้งนี้  เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตได้อย่างเต็มที่ การพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหารจัดการ และการเปิดรับแนวทางของธุรกิจระดับโลก จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในการส่งเสริมโอกาสนี้ผ่านความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและผู้ประกอบการชั้นนำในภูมิภาค รวมไปถึงเครือข่ายศิษย์เก่าและพันธมิตรที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยแนวทางในด้านความร่วมมือและการสนับสนุนของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน เพื่อมุ่งผลักดันอนาคตของภูมิภาคอาเซียน มีดังต่อไปนี้

การผนึกกำลังอันแข็งแกร่ง สู่อนาคตที่ยั่งยืน

ผนึกกำลังกับผู้บริหารและองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน เช่น การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund) ทั้งในรูปแบบการสมทบทุนและ/หรือเงินสนับสนุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางด้านวิชาการและการวิจัยในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคอาเซียนที่สนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง  มากไปกว่านั้น ยังช่วยให้สถาบันสามารถสร้างการยอมรับและเป็นศูนย์กลางในการผนึกกำลังของสมาชิก พร้อมสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

โครงการ MIT Sloan Action Learning

สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ยังคงขยายความร่วมมือไปทั่วภูมิภาคอาเซียน ผ่านโครงการ MIT Sloan Action Learning ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลางในภูมิภาค ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเศรษฐกิจอาเซียน และยังช่วยให้เหล่าพันธมิตรได้เข้าใจทฤษฎีการจัดการ แนวทาง และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการ MIT Sloan Action Learning ได้ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อมากกว่า 600 โครงการ ครอบคลุม 5 ระดับหลักสูตรการศึกษา และได้ร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในประเทศกัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

หลักสูตรทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Lab)

หลักสูตร ASEAN Lab ถือเป็นหลักสูตรแรกของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองและการตลาดเชิงพลวัตในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง นักศึกษายังจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรภายในประเทศในการรับมือกับความท้าทายด้านการบริหาร ทั้งนี้หลักสูตรนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเอ็มไอที และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้

หลักสูตร Thailand Summer Lab

หลักสูตร Thailand Summer Lab เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศิษย์เก่า เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนโครงการในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจผู้ประกอบการ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยหลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักศึกษาจากหลากหลายหลักสูตรปริญญาของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน และนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนโครงการได้มีรายงานว่าผู้เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างดีเยี่ยม เห็นได้จากการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการมอบข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและแสดงขอบเขตที่ชัดเจนของการดำเนินงานในโครงการ

การจัดสัมมนา

ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ได้เคยร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อจัดการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ ‘Building Resilient Cities for the Future’ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญคณาจารย์จากสถาบันเอ็มไอที และผู้นำในประเทศ มาร่วมกันนำเสนอแนวทางเชิงกลยุทธ์ การแสวงหาพันธมิตรร่วม และการเตรียมความพร้อมให้กับผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผ่านการปรับปรุงศูนย์กลางเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองใหม่ทั่วภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และทำให้สถาบันเอ็มไอทีในภูมิภาคอาเซียนมีความน่าเชื่อถือและยั่งยืนยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งการขยายการสนับสนุนทางการเงิน จะช่วยให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถวางแผนการจัดประชุมและกิจกรรมอื่นๆ ในหัวข้อที่ทันยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน ความปลอดภัยด้านอาหาร  การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และอื่นๆ อีกมากมาย โดยกิจกรรมในอนาคตจะช่วยเพิ่มบทบาทของเอ็มไอทีในภูมิภาคอาเซียน พร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดและข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการผนึกกำลังของสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลกเข้าด้วยกัน

งานวิจัยของสถาบัน

คณาจารย์จากสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน กำลังดำเนินการจัดทำงานวิจัยที่ล้ำสมัยในภูมิภาคอาเซียน  เช่น งานวิจัยของ จอห์น อี. เฟร์นันเดซ (John E. Fernandez) ศาสตราจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม และผู้อำนวยการกลุ่มเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism) และมิโฮ เมซเซอเรียว (Miho Mazereeuw) รองศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม และผังเมืองและผู้ก่อตั้งโครงการ Urban Risk Lab ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประชุม “Building Resilient Cities for the Future”

โครงการ ”Building Resilient Cities for Future to Thailand” ของรองศาสตราจารย์มิโฮ เมซเซอเรียว มุ่งเน้นด้านการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายที่สุดของการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน ผ่านการค้นหานวัตกรรมในด้านเทคโนโลยี เทคนิค วัสดุ กระบวนการ และระบบต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ยังได้พัฒนาระบบให้สามารถติดตามความพร้อมของวัคซีนได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน โครงการ “The Urban Metabolism of Bangkok, the EEC and Korat” ของศาสตราจารย์จอห์น อี. เฟร์นันเดซ ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างเครื่องมือวิเคราะห์และกระตุ้นความสนใจให้เกิดการขับเคลื่อนในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตเมืองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

โดยโครงการวิจัยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund)

นอกจากนี้ มร.เดวิด ยังได้เปิดเผยอีกว่า ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน มี 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ถือเป็นวาระเร่งด่วนของโลก ซึ่งรวมถึงการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยเช่นกัน เพราะจากเหตุการณ์อุทกภัยและภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่ง  2. เรื่องของพลังงาน และ 3. เรื่องสุขภาพความเป็นอยู่

โดย มร.เดวิด ทิ้งท้ายว่า เอ็มไอที สโลน จะทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ศิษย์เก่า และทุกภาคส่วน เพื่อใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีมาพัฒนาสังคมและโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม