วันอาทิตย์, ธันวาคม 8, 2024
Home > Cover Story > Kidult + Art Toy ตลาดของเล่นไปไกล 2 หมื่นล้าน

Kidult + Art Toy ตลาดของเล่นไปไกล 2 หมื่นล้าน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ธุรกิจของเล่นในไทยมีบริษัทผู้ประกอบการถึง 1,093 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิต 238 ราย มูลค่าจดทะเบียน  2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มผู้ขาย 855 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,782.60 ล้านบาท

ปี 2566 สามารถสร้างรายได้กว่า 19,677.21 ล้านบาท และดึงนักลงทุนฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น เข้ามาลงทุน รวมทั้งสามารถผลิตและส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยบวกสำคัญ ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็ก แต่เกิดกระแส Kidult ที่เกิดจากการรวมกันของคำว่า Kid (เด็ก) และ Adult (ผู้ใหญ่) หรือของเล่นที่มีกลุ่มผู้ใหญ่เป็นลูกค้าหลัก

แน่นอนว่า กลุ่ม Kidult มีกำลังซื้อสูง จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและขยายตลาดของเล่นกว้างมากขึ้น ทั้งของเล่น เกม การ์ตูน การสะสมโมเดลต่างๆ แถมมีธุรกิจ Art Toy เป็นตัวจุดประกายสร้างกระแสในวงการของเล่นทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยเกิดแข่งขันซื้อขาย Art Toy ผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งขายหน้าร้าน ขายผ่านออนไลน์ เกิดอาชีพนักหิ้ว เพราะเสน่ห์สำคัญ คือ Art Toy นำเอาศิลปะจากดีไซเนอร์นักวาดรูปมาผสมกับการตลาดยุคใหม่ ใช้จุดขาย Limited Edition และการบรรจุสินค้าอยู่ในกล่องสุ่มที่ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้ตัวหายากหรือ Secret หรือไม่

ทั้งนี้ ดีไซเนอร์นักวาดการ์ตูนของไทยมีส่วนสร้าง Art Toy ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสากล จนกลายเป็นที่ต้องการของ Kidult ในระดับโลกด้วย

ที่สำคัญ การเข้ามาเปิดสาขาแฟล็กชิปสโตร์ในไทยครั้งแรกของ POP MART ร้านขายของเล่น Art Toy สัญชาติจีน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 สร้างปรากฏการณ์บรรดาลูกค้าจำนวนมากมารอคิวซื้อสินค้าและกลายเป็นตลาดเติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้คนแข่งขันสะสมตัวอาร์ตทอย สร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ตลาดของเล่นขยายทั้งตัวสินค้าและฐานลูกค้า

ปัจจุบัน Pop Mart Thailand ปักหมดในไทยรวม 6 สาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว สยาม เทอร์มินอล 21 อโศก แฟชั่นไอส์แลนด์และเมกาบางนา

ขณะเดียวกัน POP MART สามารถกอบโกยรายได้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปี 2566 มียอดขายกว่า 6.3 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2565 รายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ Art Toy จากความร่วมมือกับศิลปินและนักออกแบบชื่อดัง เช่น เคนนี หว่อง ศิลปินชาวฮ่องกง และ Art Toy จากความร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำ เช่น Walt Disney และ Universal Studios นำตัวละครมาผลิตเป็นของเล่น

แน่นอนว่า POP MART กลายเป็นผู้เล่นที่ครองตลาดอาร์ตทอยมากที่สุดในจีนและกระจายสาขาไปหลายประเทศ มีหน้าร้านกว่า 350 สาขา ตู้ขายสินค้ากว่า 2,000 แห่งทั่วโลก และสามารถออเดอร์ผ่านช่องทาง Online

ตลาดของเล่นจึงไม่ใช่อุตสาหกรรมเล่นๆ เหมือนชื่อ เพราะหลายประเทศทั่วโลกล้วนเติบโตสูงมาก โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมข้อมูลไว้หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตของเล่นชั้นนำที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลก 10 ปีติดต่อกัน อย่าง LEGO พบว่า ปี 2566 มีมูลค่าตลาดราว 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 6.5%

แม้ครึ่งปีแรกของปี 2566 ยอดขายตลาดของเล่นโลกหดตัวลง 7% แต่ LEGO มียอดขายเติบโตขึ้น 14% สวนทางกับตลาดโลก เป็นผลจากกลยุทธ์ปรับตัวต่าง ๆ การเข้าสู่ตลาดเกมและสวนสนุก การเข้าซื้อลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์จากการ์ตูนและภาพยนตร์ทั้ง Star Wars Marvel Harry Potter และ Jurassic Park สามารถดึงดูดลูกค้าทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่

ส่วนตลาดของเล่นในสหราชอาณาจักร มีมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านปอนด์ โดยของเล่นที่ขายได้ 63.5% เป็นของเล่น ที่มีราคาต่ำว่า 10 ปอนด์ และประเภทของเล่นที่มีสัดส่วนสูงสุดคือ ของเล่นลิขสิทธิ์ (Licensed Toys) สัดส่วน 32% ของยอดขาย ของเล่นทั้งหมด และตลาดของเล่น Kidults  มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านปอนด์ เติบโตจากปีก่อนหน้า 6% นอกจากนั้น ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมของเล่น มีการจัดงาน Toy Fair ดึงดูดบริษัทกว่า 250 แห่ง เข้าร่วมงาน โชว์ผลิตภัณฑ์กว่าพันรายการให้ผู้เข้าชม ทั้งผู้ค้าปลีก ผู้ซื้อ และสื่อต่าง ๆ

ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่มีบริษัทของเล่นที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่ง คือ BANDAI NAMCO ซึ่งเป็นการควบรวมของบริษัท ผู้ผลิตฟิกเกอร์และของเล่นตัวการ์ตูน เช่น Mobile Suit Gundam (โมบิลสูท กันดั้ม) Ultraman (อุลตร้าแมน) และบริษัท NAMCO ผู้นำในวงการเกมอย่าง Pac-Man และ Galaxian โดย BANDAI NAMCO สร้างรายได้จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ลิขสิทธิ์และแฟรนไชส์ ทั้งหมดกว่า 1,929 IP ทั้งการ์ตูน เกม และคาแรกเตอร์ต่างๆ ส่งผลให้สามารถครองสัดส่วนรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรมของเล่นของโลก รองจากบริษัท LEGO เดนมาร์ก

ปี 2566  BANDAI NAMCO มีรายได้สูงถึง 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ การออกสินค้ารุ่นพิเศษคุณภาพสูงที่ผลิตตามจำนวนพรีออเดอร์ การร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ เช่น BANDAI NAMCO x Nike ผลิตสินค้าลิมิเต็ด และตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 29%

สำหรับสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมของเล่น มีบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น JAKKS Pacific ผู้ผลิตของเล่นที่มีลิขสิทธิ์จากการ์ตูนและตัวละคร เช่น Disney และ The Simpsons บริษัท Hasbro เจ้าของแบรนด์ My Little Pony และ Monopoly รวมถึง บริษัท Mattel ผู้คิดค้นและผู้ผลิต Barbie และ UNO พร้อมทั้งถือลิขสิทธิ์ของเล่นของบริษัทบันเทิงระดับโลกอย่าง Disney และ Warner Brothers

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Statista คาดการณ์ว่า ในปี 2567 สหรัฐฯ จะมีรายได้ในตลาดของเล่นและเกมกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมของเล่นหลายรูปแบบ ทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้ผลิตของเล่นสามารถปกป้องแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง การจัดตั้งหน่วยงานดูแลกฎระเบียบด้านความปลอดภัย ทำให้บริษัทผู้ผลิตของเล่นสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศง่ายขึ้น .