ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ประกอบการไทย ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่นักลงทุนจีนแห่แหนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า อสังหาฯ ทั้งในเรื่องประเด็นการขาดดุลการค้าระหว่างไทยและจีน หรือการตัดโอกาสสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs รายกลาง-รายย่อย
ขณะที่นักลงทุนจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่นำเม็ดเงินเข้ามาใช้จ่ายลงทุนในโครงการใหญ่ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในแง่มุมของการจ้างงาน การก่อสร้าง หลายธุรกิจมาพร้อมความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งนี่จะเป็นอีกหนึ่ง know-how ที่ไทยจะได้อานิสงส์
ปี 2023 ประเทศไทยมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาปักหมุดสร้างฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมูลค่าการลงทุนจากนักลงทุนจีนสูงถึง 382,061 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ทว่า จีนกลับเป็นประเทศที่ขอรับการส่งเสริมจาก BOI มากสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 430 โครงการ เงินลงทุน 159,387 ล้านบาท
ไฮเออร์ เป็นอีกหนึ่งนักลงทุนจากจีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ด้วยการเทกโอเวอร์บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ซันโย ในช่วงแรกนั้นดำเนินการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ประเภท เช่น ตู้แช่ ตู้เย็น ก่อนจะเพิ่มไลน์การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นตามมา
ล่าสุดควักกระเป๋าลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งแรกในประเทศไทยมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท แม้ว่าก่อนหน้านี้ ไฮเออร์จะมีโรงงานเครื่องปรับอากาศ แต่เป็นในลักษณะการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในไทย และผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกหลายประเภท แต่โรงงานใหม่ที่กำลังจะก่อสร้างในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้จะเป็นโรงงานที่ผลิตและประกอบเครื่องปรับอากาศแบบเต็มระบบ
“นับเป็นก้าวสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการมุ่งขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพื่อตอกย้ำศักยภาพอันแข็งแกร่งของการเป็นผู้นำด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในระดับโลก ซึ่งการขยายการเติบโตในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่แห่งใหม่และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพเชิงพื้นที่ที่แข็งแกร่งของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งไฮเออร์ยังคงเป็นผู้นำในตลาดโดยมีส่วนแบ่งกว่า 13% เป็นยอดขายอันดับ 1 ในแง่จำนวนในช่องทางออฟไลน์” มร. โจว หยุนเจี๋ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ กรุ๊ป กล่าว
และยังเสริมว่า หากการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทุกเฟส โรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตเครื่องปรับอากาศแบบเต็มกำลังการผลิตได้มากถึง 6 ล้านเครื่อง จากจำนวนดังกล่าวจะทำให้โรงงานแห่งนี้กลายเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตนอกประเทศจีนที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์
โรงงานแห่งใหม่ของไฮเออร์ รองรับการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในไทย และส่งออกไปยังต่างประเทศ ในสัดส่วน 50-50 โดยตลาดส่งออกเครื่องปรับอากาศที่สำคัญของไฮเออร์ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อเมริกา
ท่ามกลางการต่อสู้ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด หลายแบรนด์ต่างลงสนามสงครามเย็นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเครื่องปรับอากาศที่มีมูลค่าสูงถึง 28,000 ล้านบาท และปีนี้ว่ากันว่า มีทิศทางการเติบโตได้ถึง 40% สูงสุดในรอบ 8 ปี
“ทิศทางการเติบโตของตลาดเครื่องปรับอากาศไฮเออร์ในไทย 37% เพราะอากาศร้อน คาดการณ์การเติบโตด้านยอดขายในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไฮเออร์ ทั้งปี 11,000 ล้านบาท แต่หากให้เจาะจงลงไปที่เครื่องปรับอากาศเราคาดการณ์ว่าจะเติบโต 4,500 ล้านบาท แต่เมื่อมองที่สัดส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดรวมแบรนด์ไฮเออร์มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 11% เครื่องปรับอากาศสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 13%” มร. ต่ง เจี้ยนผิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อิเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบาย
พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC กลายเป็นพื้นที่เนื้อหอม ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมในด้านระบบโลจิสติกส์
“โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 จ. ชลบุรี พื้นที่ดังกล่าวนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังใน จ. ชลบุรี 49 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 131 กิโลเมตร รวมถึงสามารถเชื่อมต่อด้านคมนาคมได้หลายเส้นทาง เราแบ่งแผนการดำเนินการก่อสร้างเป็น 3 เฟส มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 ซึ่งเฟสแรกจะเปิดในส่วนของการผลิต 3 ล้านเครื่องในเดือนกันยายน 2568 เฟสที่สองและเฟสสามจะเสร็จสิ้นพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ หลังจากดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น โรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์” มร. โจว หยุนเจี๋ย ขยายความ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังกังวลและเป็นข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย ตั้งแต่ในระดับผู้บริหารงานของประเทศ จนถึงชาวบ้านร้านตลาด ในประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำที่มีทิศทางว่าจะมีการปรับเป็น 400 บาทต่อวันในทุกอาชีพ เพราะค่าแรงคือหนึ่งในต้นทุนการผลิตสินค้าที่นักลงทุน หรือนายจ้างต้องแบกรับ
และหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีชายแดนติดกับไทย หรือประเทศที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนอย่างเวียดนาม ที่มีค่าแรงถูกกว่า และมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นความพร้อมที่ไม่ต่างจากไทย ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปในพื้นที่เหล่านั้น จากความกังวลต่อปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะต้องปรับในอนาคตอันใกล้
มร. ต่ง มองประเด็นนี้ว่า “แม้ว่าค่าแรงจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่เราคงไม่ได้มองปัจจัยเรื่องค่าแรง 400 บาทที่เป็นนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างเดียว แต่คงต้องบริหารจัดการต้นทุนของชิ้นส่วนเพื่อให้บาลานซ์กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น”
ขณะที่มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว อีกยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ตลาดเงินตลาดทุนที่มีความอ่อนไหว นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากหลายสถาบันมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้อาจร้ายแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง และถูกนิยามว่า นี่คือสถานการณ์เศรษฐกิจ “ต้มกบ” ที่กว่าจะรู้ว่ากำลังประสบกับภาวะย่ำแย่ ก็ยากจะแก้ปัญหาแล้ว
“แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซา แต่เราต้องมองให้เป็นโอกาส ถ้าเทียบกับตลาดจีน ตลาดไทยยังมีช่องว่างให้เราได้เติบโตอีกมาก เราต้องมองว่าทำอย่างไรที่เราจะคว้าโอกาสนั้นให้ได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความยากลำบาก แต่แค่ต้องสร้างโอกาสให้ตัวเอง ซึ่งคำว่า ‘โอกาส’ อาจจะหมายถึงช่องทางที่เรายังทำได้ไม่ดี เราต้องเพิ่มความพยายามสร้างการเติบโตในช่องทางนั้นๆ หรือหากแบรนด์ไฮเออร์ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคบางกลุ่ม เราต้องหากลยุทธ์ที่จะสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ไฮเออร์” มร. ต่ง ขยายความ
การลงทุนครั้งสำคัญของไฮเออร์ดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในหลายมิติ ซีอีโอจากบริษัทแม่ของไฮเออร์ ทิ้งท้ายว่า “การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของไฮเออร์แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศจีนและไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ของไฮเออร์ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานในระดับสากล สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก พร้อมส่งต่อพลังแห่งการสร้างสรรค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามแนวคิด More Creation, More Possibility”.