วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > ภาวะมีบุตรยาก หนุนการแพทย์-ท่องเที่ยวโต รพ. นครธน เร่งคว้าโอกาส

ภาวะมีบุตรยาก หนุนการแพทย์-ท่องเที่ยวโต รพ. นครธน เร่งคว้าโอกาส

ปัญหาการเกิดต่ำที่เกิดขึ้นในประเทศทั่วโลก จนส่งผลให้รัฐบาลของหลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย สนับสนุนให้ครอบครัวมีสมาชิกเพิ่มขึ้น พร้อมข้อเสนอสวัสดิการสำหรับเด็กเกิดใหม่

เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งรวมถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนบุตรสำหรับเด็กที่เกิดตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยบุตรคนที่ 1-2 จะได้รับเงินเพิ่มจาก 8,000 เป็น 11,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน และบุตรคนที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับ 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน ขณะที่บิดาสามารถลางานเพื่อดูแลบุตรได้เพิ่ม จาก 2 สัปดาห์เป็น 4 สัปดาห์

รัฐบาลจีนที่ประกาศนโยบายลูก 3 คน เมื่อปี 2021 โดยเสนอลดหย่อนภาษีและระบบการดูแลสุขภาพของมารดา เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้น ถึงกระนั้นเมื่อปี 2022 ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี อยู่ที่ 1.4118 พันล้านราย ลดลงประมาณ 8.5 แสนราย

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายให้เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรและขยายวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร และยังให้เงินอุดหนุนการแช่แข็งเซลล์ไข่

ปัจจัยหลายด้านส่งผลต่อแนวคิดของคนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง ตัดสินใจที่จะไม่มีทายาท หรือในบางครอบครัวที่ต้องการมีบุตรแต่ต้องพบกับภาวะความกดดันก่อให้เกิดความเครียด ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพ

ตัวเลขของสถานการณ์คุณแม่คลอดบุตรในปี 2554-2564 ที่ระบุว่า ในแต่ละปีกลุ่มแม่คลอดบุตรที่มีอายุ 10-19 ปี และ 20-29 ปี มีแนวโน้มลดลง กลุ่มแม่คลอดบุตรที่อายุ 30 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 33.8% ในปี 2554 เป็น 42.2% ในปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่าคู่สมรสมีแนวโน้มจะชะลอการมีลูก

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่คู่สมรสที่มีความต้องการมีบุตร มีข้อมูลสถิติจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า ในปี 2562 การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 4,500 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลจาก Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกมีมูลค่าแตะระดับ 3.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 14.2% ต่อปี (ปี 2562-2570) ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิกเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด โดยมีมูลค่ากว่า 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 14.7% ต่อปี

ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของ Fertility Tourist ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มีการคาดการณ์ว่าตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากของไทยในปี 2570 จะมีมูลค่ากว่า 1.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 14.6% ต่อปี

แม้ว่าในไทยจะมีศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการแก่ผู้มีบุตรยากจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ ของโรงพยาบาลนครธน ที่เปิดให้บริการด้านนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในฝั่งกรุงเทพตะวันตก

“รพ. นครธน ให้บริการรักษาผู้มีภาวะมีบุตรยากมาประมาณ 10 ปี ซึ่งศูนย์แห่งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท โรงพยาบาลนครธน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ จำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF, ICSI) เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์, การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของโครโมโซมด้วยวิธี NGS (Next Generetion Sequencing) เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ” แพทย์หญิงศิเรมอร ทองสิมา ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ให้ข้อมูล

เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยทั่วไปอยู่ที่ 30-40% แต่การใช้เทคโนโลยีของศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ ทำให้อัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็น 50-70%

“เราใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อด้วยเครื่อง Semen Quality Analyzer ซึ่งประมวลผลด้วยระบบ AI บันทึกภาพวิดีโอเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงมาปฏิสนธิกับไข่ มีระบบดูแลตัวอ่อนผ่านเครื่องเพาะเลี้ยง EmbryoScope Plus ควบคุมอุณหภูมิ ลดการรบกวน สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ประสบความสำเร็จ”

แน่นอนว่า ในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังขาดเสถียรภาพ อีกทั้งยังมีปัจจัยหลายด้านที่ต้องกังวล แต่การตั้งเป้าหมายรายได้ของ รพ.นครธนที่ 2 พันล้านในปี 2567 ไม่ใช่เรื่องที่ พญ.สิเรมอร กังวล

“แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะสร้างความกังวลใจ แต่คิดว่าไม่กระทบต่อความคาดหวังที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ ซึ่ง รพ.นครธนมีความพร้อมในหลายด้าน เรามีศูนย์เฉพาะทาง 21 ศูนย์ พร้อมให้บริการรักษาโรคยากและซับซ้อน ในปี 2565 มีรายได้ 1,963 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้ 2,036.89 ล้านบาท และปีนี้เราตั้งเป้าว่า ยอดรายได้จะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว”

“ที่ผ่านมาผู้เข้ามารับบริการปัญหาการมีบุตรยากเป็นคนไทยประมาณ 95% ชาวต่างชาติ 5% โดยชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ คือ จีน รองลงมาคือ เมียนมา ซึ่งแผนของเรายังคงมุ่งเป้าไปที่คนไทยที่ต้องการมีบุตร ก่อนจะขยายเป้าหมายขยายตลาดไปยังชาวต่างชาติให้มากขึ้น” พญ.ศิเรมอร ทิ้งท้าย.