วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > ปณต สิริวัฒนภักดี จาก Day 1 ถึง “วัน แบงค็อก” ล่าสุด

ปณต สิริวัฒนภักดี จาก Day 1 ถึง “วัน แบงค็อก” ล่าสุด

วันแรกของการเป็นหัวเรือใหญ่รับผิดชอบโปรเจกต์แสนล้าน One Bangkok (วัน แบงค็อก) ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ย้ำกับสื่อในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อ 7 ปีก่อนว่า “ผมประเมินอย่างเดียว คือ คุณเจริญมีความเชื่อมั่นผมหรือเปล่า!!”

เพราะ One Bangkok ไม่ใช่แค่อภิมหาโครงการแรกที่เครือทีซีซีกรุ๊ปผนึกกำลังกับกลุ่มเฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด ในเครือเอฟแอนด์เอ็น หลังเจริญ สิริวัฒนภักดี ทุ่มเม็ดเงินกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท ซื้อกิจการ “เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ” หรือ เอฟแอนด์เอ็น บริษัทอาหารเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี ในประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2556

แต่ยังเป็นแผนสร้าง “เมือง” แลนด์มาร์กระดับโลกที่เจริญไฟเขียวให้ ปณต เปิดตัวลุยเดี่ยวบริหารโครงการทั้งหมด ชนิดที่ยกครอบครัวในตระกูลทุกคน และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือ ร่วมงานแถลงในวันนั้น เพื่อรับรู้ศักยภาพและอนาคตของลูกชายคนสุดท้องผู้นี้

หากย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น กว่าจะถึงวันที่เจริญให้ความเชื่อมั่นเต็ม 100% ปณตต้องใช้เวลาฝึกวิทยายุทธ์และเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากผู้เป็นพ่อ รวมถึงพี่ๆ หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และปริญญาด้าน MIS ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

ระยะแรกๆ ดูเหมือนผู้เป็นพ่อตั้งเป้าหมายให้ลูกชายคนเล็กดูแลสายธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร โดยมีนโยบายทำอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งวางแผนการเพาะปลูกและนำผลผลิตมาแปรรูป ในพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของเจริญที่สะสมไว้จำนวนมาก และทำสัญญากับกลุ่มเกษตรกรในลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เพื่อรับซื้อผลผลิตมาแปรรูป เน้นพืชเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน คือ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์พลิกผัน เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีเกิดจุดเปลี่ยน ต้องเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งในและต่างประเทศ กำลังซื้อถดถอย ตลาดหุ้นซบเซา การเมืองวุ่นวาย และการแข่งขันรุนแรง

หลายฝ่ายวิเคราะห์ปมปัญหาเกิดจากชั้นเชิงการบริหารของทีมผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างจากเจริญและขาดประสบการณ์ จนส่งผลให้เป้าหมายการขึ้นแท่นทอปทรี นับจากบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากสิงคโปร์ จัดตั้ง บริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ไปไม่ถึงไหน

มิหนำซ้ำกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์อย่าง Capital Land ตัดสินใจถอนเงินทุนทั้งหมดที่ลงทุนในทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ ในสัดส่วน 40% โดยขายคืนให้เจริญในราคา 2,330 ล้านบาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพจากลูกเขย โสมพัฒน์ ไตรโสรัส มาเป็นลูกชายคนสุดท้อง รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเวลาต่อมา

ปี 2555 ทีซีซีกรุ๊ปเผยโฉมโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ พร้อมๆ กับการเปิดตัวปณต สิริวัฒนภักดี ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท ทีซีซีแลนด์ โดยถือเป็นโปรเจกต์แรกที่พิสูจน์ฝีมือการบุกเบิกไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้มอลล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ เฟสติวัล มาร์เกต (Festival Market) เนื้อที่กว่า 72 ไร่ บนถนนเจริญกรุง แต่ต้องยอมรับว่า ปณตยังบริหารเอเชียทีคแบบซุ่มเงียบ โดยมีวัลลภาและโสมพัฒน์ ไตรโสรัส คอยสนับสนุนและออกโรง

จนกระทั่งเจริญเกิด Passion อยากสร้างแลนด์มาร์กระดับโลกที่ยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีงามของกรุงเทพฯ และประเทศไทยบนเวทีโลก โดยมอบหมายภารกิจให้ปณต ทันทีที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกาศผลการประมูลให้เครือทีซีซีกรุ๊ปชนะการประมูลเช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเก่า บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4

เขาทำงานหนักจนสรุปแผนทั้งหมดและลุยโครงการ วัน แบงค็อก แผนสร้าง “เมือง” ขนาดใหญ่ที่ต่อยอดจากโครงการ One Central Park ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ นำร่องรูปแบบการสร้าง “เมือง” จากไลฟ์สไตล์ของ “คน” บวกความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด 19 มีนาคม 2567 ปณต ในฐานะซีอีโอกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ในเครือทีซีซี โชว์ความคืบหน้าและความพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ได้แก่ สำนักงาน 2 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง คือ The Ritz-Carlton Bangkok และ Andaz One Bangkok ลักชัวรี เรสซิเดนซ์ พร้อมรีเทล 2 โซน คือ The Parade และ The STOREYS  มีพื้นที่สีเขียวและ Live Entertainment Arena รองรับการประชุม นิทรรศการ งานแสดง ระดับมาตรฐานสากล

ส่วนพื้นที่ที่เหลือคาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการจนครบทุกเฟสภายในปี 2570 ซึ่งในภาพรวมทั้งหมดจะประกอบด้วย อาคารสำนักงานระดับพรีเมียม 5 อาคาร โรงแรมระดับลักชัวรีและไลฟ์สไตล์ 5 แห่ง อาคารที่พักอาศัยระดับลักชัวรี 3 อาคาร และพื้นที่ One Bangkok Retail

ปณตกล่าวว่า จากประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ประเทศทั่วโลก บริษัทนำความรู้และความเชี่ยวชาญทั้งหมด พร้อมทีมงานคุณภาพระดับโลกในหลากหลายสาขามาร่วมกันสร้าง วัน แบงค็อก เมืองอัจฉริยะต้นแบบเพื่อความยั่งยืนที่ครบครัน บนพื้นที่กว่า 108 ไร่ โดยใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนออกแบบมาสเตอร์แพลน การก่อสร้าง และแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาให้เป็น The Heart of Bangkok เมืองกลางใจ ที่ใช้ใจสร้างทุกตารางนิ้ว ให้เมืองนี้อยู่กลางใจผู้คนและเป็นเมืองที่ทุกคนหลงรัก พัฒนาพื้นที่สีเขียวในโครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ สร้างแรงบันดาลใจด้วยงานศิลปะและวัฒนธรรมให้กับทุกคน ยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ซึ่งรวมถึงบริษัทย่อยในเครือเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป และอยู่ในเครือทีซีซี เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรระดับสากล จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่ม ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก ศูนย์การพาณิชย์และธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและการขนส่ง ธุรกิจการให้บริการ โดยดำเนินธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ออสเตรเลีย ยุโรป และจีน มีธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์กว่า 70 เมือง ใน 20 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

แต่ ณ เวลานี้ ในวงการต่างรอดีเดย์เปิด วัน แบงค็อก โปรเจกต์ที่จะเป็นบทพิสูจน์หลายอย่าง ทั้งความคาดหวังและสานฝันของพ่อ ความมุ่งมั่นของปณต พิสูจน์การบริหารอีกหนึ่งโครงการระดับมาสเตอร์พีซของเครือทีซีซีด้วย.