วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
Home > Cover Story > ความสามารถในการแข่งขันของไทย ผ่านมุมมองของ “ธีรนันท์ ศรีหงส์” แห่ง TMA

ความสามารถในการแข่งขันของไทย ผ่านมุมมองของ “ธีรนันท์ ศรีหงส์” แห่ง TMA

เป็นประจำทุกปีที่สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะออกมาเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก (World Competitiveness Ranking) ซึ่งผลการจัดอันดับประจำปี 2566 พบว่า เดนมาร์กยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในบรรดา 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 30 ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้

ในขณะที่สิงคโปร์ยืนหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ด้วยอันดับที่ 4 ตามมาด้วยมาเลเซียในอันดับที่ 27 ปรับขึ้นมา 5 อันดับ ส่วนอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 34 ปรับขึ้นมาถึง 10 อันดับจากอันดับที่ 44 ในปี 2565 และฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 52 ตามลำดับ

โดยปัจจัยที่ IMD นำมาใช้ในการจัดอันดับ ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก จากปัจจัยย่อยกว่า 200 ปัจจัย ได้แก่ 1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) 2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ 4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร

แม้ว่าตัวเลขจากการจัดอันดับจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่เลยมาตรฐาน และหลายฝ่ายมองว่าเป็นอันดับที่ดี อีกทั้งยังมีการปรับอันดับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่สำหรับ “ธีรนันท์ ศรีหงส์” ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association: TMA) หนึ่งในพันธมิตรของ IMD และเป็นองค์กรที่มีส่วนที่ทำให้เกิดความตระหนักและการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป พร้อมเปิดเผยว่า

จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนปัจจัยที่นำมาพิจารณา ล้วนเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศในการพัฒนา และยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนอีกด้วย

“ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อันดับที่ดีที่สุดของไทยเคยขึ้นไปอยู่อันดับที่ 25 และลงไปต่ำสุดที่อันดับ 35 สำหรับปีนี้อยู่ที่ 30 แปลว่าผ่านมา 15 ปี อันดับของไทยไม่เคยถูกปรับ แม้ว่าปัจจัยทั้ง 4 ด้านจะมีการปรับตัวขึ้นลงบ้างก็ตาม”

ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่า ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ภาพรวมของไทยมีอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ สาเหตุหลักมาจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจก็มีการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ กลับเป็นสิ่งที่ไทยยังต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากกว่าเดิม เพราะมีการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1 อันดับ มาอยู่ที่ 43 ในปีนี้ และถ้าดูย่อยลงไปอีกจะพบว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพของไทยอยู่ในอันดับที่ 22 ในขณะที่ด้านอื่นๆ ยังค่อนข้างต่ำ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 39 โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับที่ 53 และโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาอยู่อันดับที่ 54

โดยที่ก่อนหน้านี้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหรือสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทยเป็นปัจจัยที่มีคะแนนนำสูงสุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอีก 3 ด้าน เรียกว่าเป็นดาวเด่นของประเทศเลยก็ว่าได้ สำหรับด้านที่แย่ที่สุดและยังแย่มาโดยตลอด คือ คะแนนด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่ได้คะแนนอยู่อันดับที่ 45 จาก 64 อันดับ ส่วนประสิทธิภาพภาครัฐและภาคเอกชนยังคงขึ้นๆ ลงๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงครึ่งหลังของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นดาวเด่นมาโดยตลอดของไทย กลับมีการขยับลำดับที่แย่ลง อันเนื่องมาจากโครงการสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพภาครัฐ และประสิทธิภาพภาคเอกชนที่ไม่ได้ถูกปรับปรุงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน (Soft Infrastructure)

ซึ่งธีรนันท์เสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ Hard Infrastructure ได้แก่ ถนนหนทาง โทรศัพท์ ประปา อินเทอร์เน็ต ซึ่งระยะหลังไทยพัฒนามาตรฐานได้ดีจนทำให้คะแนนด้านนี้สูง แต่ในส่วนของ Soft Infrastructure ซึ่งหมายถึง คน ประสิทธิภาพของคน คุณภาพการศึกษา มาตรฐานด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีประสิทธิภาพ และยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานเท่าที่ควร ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติทั้งสิ้น

นอกจากประเด็นโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ธีรนันท์ยังชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่องหลักๆ คือ ข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน

“กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มันซ้ำซ้อนและยุ่งยาก เป็นส่วนหนึ่งที่ปิดกั้นการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ นักลงทุนต่างชาติจะมาลงทุนในอาเซียนจำนวนไม่น้อยมักคิดถึงการลงทุนในสิงคโปร์ก่อน ทั้งที่ประเทศเขาเล็กมาก แต่เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของเขามันทำความเข้าใจง่าย และเขามีความพร้อมมากกว่าโดยเฉพาะเรื่องคนและมาตรฐานต่างๆ”

ข้อจำกัดด้านต่อมาคือเรื่อง “คุณภาพของคนและคุณภาพการศึกษา” เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาความสามารถของประเทศ แต่ที่ผ่านมาความพร้อมของคนตลอดจนคุณภาพการศึกษากลับไม่ถูกพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การแก้ปัญหาการศึกษาต้องดูตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวง อว. ที่เตรียมความพร้อมบุคลากรสำหรับตลาดแรงงาน รวมถึงกระทรวงแรงงานที่มีส่วนพัฒนาฝีมือและคุณภาพของแรงงานด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องทำงานร่วมกัน ถึงจะเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันได้”

ข้อจำกัดด้านที่สาม คือ “ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม” ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นสิ่งท้าทายของรัฐไทย และข้อจำกัดด้านที่สี่คือ “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจในทุกภาค” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และภาคการบริการ ที่ธีรนันท์เห็นว่าเป็น 3 ภาคที่ยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพในการผลิต เพราะใช้ทรัพยากรในการผลิตเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของการผลิต

ในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น ธีรนันท์ชี้ว่าภาครัฐและภาคเอกชนควรมุ่งเป้าเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดทั้ง 4 ประการดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของไทยอย่าง การศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นรากฐานที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ ของประเทศให้พัฒนาไปได้อีกมาก รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง และก้าวหน้าเท่าทันกับประเทศอื่น ๆ อย่างเร่งด่วน

และที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหันมาพูดในสิ่งเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงประเด็นและยั่งยืน.