วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > New&Trend > 88 SANDBOX The Next Unicorn Platform อาสาสร้างม้าป่า Startup ทะยานสู่ Unicorn พันล้านระดับโลก

88 SANDBOX The Next Unicorn Platform อาสาสร้างม้าป่า Startup ทะยานสู่ Unicorn พันล้านระดับโลก

ครบรอบ 88 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มผู้ก่อตั้ง 88 SANDBOX จัดงานเปิดตัว “88 SANDBOX The Next Unicorn Platform” ศูนย์กลางการเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการแห่งอนาคต

88 SANDBOX PLATFORM เป็นโครงการระยะยาวเพื่อปั้นสตาร์ทอัพ สู่ยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทยเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ทดลอง พัฒนา และต่อยอดไอเดีย พร้อมมอบระบบนิเวศครบครัน โดยในปี 2565 จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ Startup ทีมอย่างเข้มข้น

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า “88 SANDBOX The Next Unicorn Platform” ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ potential partner 2 องค์กรสำคัญที่จะมาช่วยสร้างช่องทางการเรียนรู้ออนไลน์ เป็นที่ๆ เปิดกว้างให้ทุกคนได้เรียนฟรี โดยเปิดกว้างสำหรับคนทุกวัย ทุกไอเดียโดยมองว่าการเรียนการสอนในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ฝึกให้มีการปฏิบัติงานจริง ลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และมีอิสระทางความคิด โครงการนี้เราต้องการสร้างสตาร์ทอัพให้ประเทศไทยและให้กับโลก มีธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม การมี “88 Sandbox” ขึ้นมาจะช่วยเพิ่มกำลังคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศ และช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพื่อจะค้นพบว่าทุกคนก็เป็นเถ้าแก่ได้ จึงมีห้องปฏิบัติการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะการพัฒนาการโครงการใหม่ๆ

ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวถึงรูปแบบของ 88 Sandbox ว่าเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ทดลอง พัฒนา เพื่อมอบระบบนิเวศ ต่อยอดไอเดียปั้นสตาร์ทอัพใหม่ๆ ขึ้นมา เริ่มในปี 2565 โปรเจคนี้แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ เริ่มต้นจาก Skill Space คือการยกระดับทักษะผู้ประกอบการผ่าน Learning Platform และ Idea Market โดยเปิดกว้างให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วประเทศที่มีไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ในการประกอบธุรกิจใหม่ๆ มานำเสนอ และเข้าร่วมเพื่อฝึกฝนทักษะที่จำเป็นโดยมีทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ จากนั้นจะมีการจัดเอ็กโปอีเวนต์สตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุด เพื่อให้มาเจอกัน มาสร้างทีม หาไอเดียร่วมกัน มีการจับคู่คนที่เหมาะสมกัน

จากนั้นจะเข้ามาในส่วนที่ 3 Pre-Hackathon คือการอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าไอเดียที่มีได้รับการเทรนอย่างใกล้ชิดจากพี่เลี้ยง (mentor) ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ โดยจะมีการลงมือทำจริง จากนั้นทุกทีมจะต้องเข้าสู่เวทีการแข่งขันที่เรียกว่า Hackathon ซึ่งจะมีนักลงทุน CEO สตาร์ทอัพ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมอาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR และองค์กรธุรกิจผู้สนับสนุนรายอื่นๆ เพื่อจะดูว่าไอเดีย หรือธุรกิจของคนรุ่นใหม่ทีมไหนสามารถเป็นจริงได้

“สำหรับทีมที่ผ่านการคัดเลือก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้เงินลงทุนเริ่มต้นและเข้าไปถือหุ้น หาพี่เลี้ยงธุรกิจให้ โดยใช้พื้นที่ 88 Sandbox ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสตาร์ทอัพครบครันที่เราเรียกว่า Forest for Unicorn เพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับยูนิคอร์น นอกจากนี้ยังมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มาเป็นพาร์ทเนอร์ อาทิ OR เพื่อพัฒนาธุรกิจและร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพด้วย ทั้งนี้ นักเรียนระดับมัธยมที่เข้าร่วมโปรเจค สามารถใช้ผลงานนี้เข้ายื่นต่อ มธ.ในรอบ Portfolio ได้ ถ้าเป็นนักศึกษาของมธ.ในโปรเจค ที่สามารถระดมทุนได้ ทำยอดขายได้จริง เราเทียบโอนหน่วยกิตให้ 15 หน่วยกิต”

ขณะที่ จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ OR หนึ่งในองค์กรที่เข้ามาสนับสนุน เปิดเผยถึงความร่วมมือในโปรเจคนี้ว่า พร้อมเปิดรับสตาร์ทอัพ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาทดลองลงมือในพื้นที่ของเรา และพร้อมสนับสนุนทั้งทางด้านเงินทุนและกระบวนการ ร่วมเป็นผู้ลงทุน เริ่มต้นจากก่อตั้งสตาร์ทอัพ และพัฒนาไประดับยูนิคอร์น โดย OR มี 2 ช่องทางที่ให้การสนับสนุน คือ มธ.สร้างสตาร์ทอัพใหม่ส่งเข้ามา เรามีบริษัทที่ร่วมทุนชื่อ ORZON มีกองทุนเริ่มต้นให้ 25-50 ล้านดอลลาร์ เป้าหมายภายใน 10 ปี จะต้องมีสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น 10 ราย อีกช่องทางหนึ่งคือสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโต OR จะเข้าลงทุนโดยตรง อย่างกรณีบริษัท Flash Express เราร่วมลงทุนจนกลายเป็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยแห่งแรก เพราะเราเห็นว่าเรามีหน้าที่สร้างโอกาส สร้างการพัฒนา ให้ทุน เพื่อพาเขาเติบโต เชื่อว่าสตาร์ทอัพสามารถค้นคิดวิธีการใหม่ย่อมจะเกิดตลาดใหม่ๆ

เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าของฉายา “The Godfather of Thai Startup หนึ่งในทีมพี่เลี้ยงของ “88 SANDBOX” ประเมินถึงโอกาสที่สตาร์ทอัพสัญชาติไทยจะพัฒนาไปสู่ระดับยูนิคอร์น มูลค่าธุรกิจ 1,000 ล้านดอลลาร์ ว่า อีก 10 ปีต่อจากนี้ถือว่าเป็น “ยุคทอง” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีหน้าประเทศไทยอาจมียูนิคอร์นเพิ่มขึ้นอีก 1-2 บริษัท

นอกจากนี้หนึ่งในผู้ก่อตั้ง 88 SANDBOX อย่าง ธเนศ จิระเสวกดิลก Co Founder Divana & Dii Wellness กล่าวถึงความมั่นใจในโครงการว่า “จากสถิติประเทศไทยมีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จเพียง 1% แต่โครงการนี้จะทำให้ความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า เพราะเราทำการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เป็นระบบมี Passion ของคนที่ประสบความสำเร็จ มีเงินสนับสนุน และมี Idol Model เรามองว่าสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่จะได้รับจากโครงการนี้คือแหล่งบ่มเพาะที่ดี ทุกคนคือเพื่อนที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และไอเดีย รวมถึงสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้อนาคต”

ส่วน พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ Co Founder Divana & Dii Wellness ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง 88 SANDBOX กล่าวเชิญชวนว่า “88 SANDBOX เป็นพื้นที่ที่ใคร ๆ ก็เข้ามาร่วมได้แม้จะไม่ใช่คนธรรมศาสตร์ เพราะที่นี่คือพื้นที่ของประชาชนที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้เป็น Lifelong learning ของทุกคน เป็นแพลตฟอร์มที่ยกมาตรฐานการเป็นอยู่ และสังคมให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือเป็นสนามที่ให้ทุกคนมาเจอกันแบบ Community

สำหรับผู้ที่สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการ 88 SANDBOX Startup Ecosystem สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/88Sandbox หรือ https://line.ee/27BMhAp

ใส่ความเห็น