วันเสาร์, พฤศจิกายน 9, 2024
Home > Cover Story > การเดินทางของ “อาหารส่วนเกิน” จากผู้ให้ส่งถึงมือผู้รับ

การเดินทางของ “อาหารส่วนเกิน” จากผู้ให้ส่งถึงมือผู้รับ

“อาหารที่มูลนิธิเอามาให้มันช่วยเราได้เยอะ อย่างผักนี่เอาไปต้มจืดก็กินได้หลายมื้อแล้ว ยิ่งช่วงโควิดอย่างนี้มันช่วยได้มากจริงๆ” เสียงจากชาวชุมชนมักกะสัน ขณะกำลังช่วยกันลำเลียงอาหาร ทั้งผักสด ผลไม้ ออกจากรถเก็บความเย็นของมูลนิธิเอสโอเอสที่นำอาหารที่ได้รับบริจาคมาส่งต่อให้กับชุมชน

แต่ละวันเรามีอาหารส่วนเกินที่เกิดจากการผลิตที่เกินความจำเป็นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งอาหารจากไลน์บุฟเฟต์ ร้านอาหาร ผักผลไม้ที่ไม่สวย อาหารกระป๋อง และอาหารแช่แข็งที่ถูกถอดออกจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตตามมาตรฐานของห้างร้านแม้จะยังไม่หมดอายุก็ตาม อาหารเหล่านี้กลับถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งจากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ขณะเดียวกันกลับมีกลุ่มคนที่ขาดแคลนและไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน

มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance: SOS) หรือ เอสโอเอส ประเทศไทย จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำส่วนหนึ่งของอาหารส่วนเกินเหล่านั้นไปส่งมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน ทั้งตามชุมชน สถานสงเคราะห์ เพื่อไม่ให้อาหารถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์

ในทุกๆ เช้า ณ ที่ทำการของมูลนิธิเอสโอเอส เหล่า Food Rescue Ambassador หรือผู้พิทักษ์รักษ์อาหาร ที่ทำหน้าที่เก็บกู้และส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ได้รับบริจาคมาให้แก่ชุมชนต่างๆ จะคอยตระเตรียมความพร้อมในการออกไปรับอาหาร โดยทยอยนำตะกร้าพร้อมกล่องสำหรับบรรจุอาหารลำเลียงขึ้นรถเก็บความเย็นจำนวน 4 คัน ที่จอดรอเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ก่อนตระเวนไปรับอาหารที่ได้รับบริจาคทั้งจากร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ โดยจะกระจายออกไป 4 เส้นทางหลักๆ ได้แก่ บางแค, บางนา, บางใหญ่ และพระราม 4

“วันนี้ที่แรกเราได้มาหนึ่งตะกร้าครับ ช่วงนี้ได้ของบริจาคน้อยหน่อย แต่ไปรับหลายๆ ที่ รวมกันก็ได้เยอะอยู่ครับ” สหพัศ หมั่นไชย หรือ “นิล” หนึ่งใน Food Rescue Ambassador ของเอสโอเอส บอกกับ “ผู้จัดการ 360” หลังจากที่เขาไปรับอาหารจากผู้บริจาครายแรกแล้ว ก่อนที่จะขับรถมุ่งหน้าสู่จุดหมายถัดไปของเส้นทางที่ได้รับมอบหมายในวันนี้

ปริมาณอาหารที่เอสโอเอสได้รับบริจาคในแต่ละวันนั้นไม่แน่นอน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ภารกิจในการรับมอบพร้อมส่งต่ออาหารส่วนเกินยังคงดำเนินไปอยู่ทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพราะพวกเขารู้ว่าในทุกๆ วัน มีคนอีกหลายปากท้องที่รอคอยการส่งต่ออาหารเหล่านี้

เมื่อไปถึงจุดหมาย นิลจะนำตะกร้าและกล่องพลาสติกที่เตรียมมาไปใส่อาหารที่ผู้บริจาคเตรียมไว้ให้ เบเกอรี่ประเภทต่างๆ ทั้งขนมปัง โดนัท ครัวซองต์ น้ำหนักกว่า 4 กิโลกรัม คือสิ่งที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้ และก็เป็นหน้าที่ของ Food Rescue Ambassador ที่ต้องชั่งน้ำหนัก และบันทึกประเภทอาหารที่ได้รับมาในแต่ละครั้งเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูล ก่อนจะลำเลียงขึ้นไปในรถเก็บความเย็นต่อไป

“เราจะส่งข้อความแจ้งไปทางเอสโอเอสทุกวันว่าวันนี้มีของบริจาคหรือไม่ ไม่ว่าจะดึกขนาดไหนเราก็จะแจ้งไปเพื่อเขาจะได้เตรียมตัว ส่วนขนมพวกนี้ทางเราต้องแช่เย็นเอาไว้เพื่อรอให้ทางเอสโอเอสมารับไป เมื่อก่อนในแต่ละวันถ้าขนมขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง ทั้งที่มันยังกินได้ แต่พอรู้ว่ามีช่องทางที่เราสามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ก็ดีครับ” วีรพงษ์ องคะชื่น พนักงานแผนกเบเกอรี่ของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้บริจาคอาหารให้กับทางเอสโอเอส กล่าวขณะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งมอบอาหาร

จากจุดหมายแรกจนถึงจุดหมายสุดท้ายในแต่ละเส้นทาง Food Rescue Ambassador ต้องใช้เวลาตลอดทั้งวันในการขับรถเพื่อรับอาหารจนครบก่อนที่จะนำไปส่งต่อให้กับชุมชนต่างๆ ที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แม้ว่าบางชุมชนจะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

ชุมชนมักกะสัน ชุมชนแออัดใจกลางย่านธุรกิจหลักของเมือง คือหนึ่งในชุมชนที่อยู่ในโครงการแบ่งปันอาหารของเอสโอเอส ซึ่งทุกวันศุกร์จะเป็นวันที่ชาวชุมชนมักกะสันหลายคนรอคอยเพราะเป็นวันที่เอสโอเอสจะนำอาหารที่ได้รับบริจาคมาส่งต่อให้กับพวกเขา

ทันทีที่รถของมูลนิธิเอสโอเอสมาถึง ชาวชุมชนหลายคนจะออกมาช่วยกันลำเลียงอาหารที่ได้ในวันนั้น เพื่อคัดแยก พร้อมแจกจ่ายให้กับสมาชิก ผักหลากชนิด ทั้งผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า ที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูถูกแยกเป็นถุงๆ นอกจากนั้นยังมีผลไม้อย่างกล้วยหอม สับปะรด รวมถึงเบเกอรี่ที่รับประทานได้เลยอีกจำนวนหนึ่ง

สุพาภรณ์ บุนนาค ชาวชุมชนมักกะสันและผู้ประสานงานกับเอสโอเอส เปิดเผยว่า “เมื่อก่อนพอได้อาหารมาเราจะให้ชาวชุมชนเขามาเลือกหยิบเอาเองตามความต้องการ แต่พอมีโควิดเราจะใช้วิธีนำของมารวมกัน คัดแยก และจัดเป็นชุดๆ แล้วค่อยเอาไปแจกตามบ้าน เพื่อลดความเสี่ยง”

เมื่อเราถามว่า อาหารที่มูลนิธิเอามาให้มันช่วยได้มากน้อยแค่ไหน?

“มันช่วยเราได้เยอะจริงๆ อย่างผักนี่เอาไปต้มจืดก็กินได้หลายมื้อแล้ว ยิ่งช่วงโควิดอย่างนี้มันช่วยได้มากจริงๆ” เธอตอบขณะที่มือยังคงสาละวนกับการคัดแยกประเภทอาหาร

ผักสด ผลไม้ ขนมปัง โดนัท หลายตะกร้าค่อยๆ ถูกลำเลียงเข้าไปในตรอกแคบๆ เพื่อนำไปคัดแยกก่อนแจกจ่ายเป็นมื้ออาหารให้กับชาวชุมชนได้อิ่มท้อง

ในขณะเดียวกันภารกิจของ Food Rescue Ambassador ในวันนั้นก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ เหลือเพียงการนำตะกร้าที่เคยบรรจุอาหารส่วนเกินเหล่านั้นกลับไปยังมูลนิธิ ทำความสะอาด เพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติภารกิจอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

ใส่ความเห็น