วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 10, 2024
Home > Life > เทรนเนอร์ออนไลน์บูม โควิดระลอกไหนก็สยบไม่ลง

เทรนเนอร์ออนไลน์บูม โควิดระลอกไหนก็สยบไม่ลง

“ในวิกฤตมักมีโอกาสเสมอ” คำพูดนี้ดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์อันยากลำบากนี้ยิ่งนัก เมื่อโลกต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสโควิด-19 มานานกว่า 1 ปี หลายธุรกิจถูกคลื่นความร้ายกาจของไวรัสนี้กลืนกิน บางรายไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ในขณะที่อีกหลายธุรกิจพยายามเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด

วิถี New Normal คือกุญแจสำคัญของธุรกิจที่จะไปต่อได้ในช่วงเวลาอันแสนลำเค็ญ แน่นอนว่าการต่อยอดจากธุรกิจฟิตเนสแบบสาขา มาสู่รูปแบบออนไลน์ ก็เช่นเดียวกัน

ธุรกิจฟิตเนสได้รับผลกระทบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะฟิตเนสคืออีกหนึ่งสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสูงมาก เนื่องจากผู้คนมีความใกล้ชิดกัน การหยิบจับและใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายร่วมกัน เกือบทุกประเทศออกมาตรการคำสั่งเด็ดขาดให้ฟิตเนสปิดบริการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนัก แม้ว่าต่อมาจะออกมาตรการผ่อนปรนให้สามารถเปิดบริการได้ แต่ยังมีการควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการ กำหนดเวลาเปิดปิด หรือเพิ่มข้อบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มาออกกำลังกาย แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแล้ว จะเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า การใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย จะทำให้เหนื่อยเพิ่มขึ้น แม้จะปลอดภัยมากขึ้นก็ตาม

เหตุผลข้างต้นอาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเทรนเนอร์ออนไลน์ ค่อยๆ กลับมาอยู่ในกระแสความนิยมอีกครั้ง แม้ว่าธุรกิจนี้จะมีมานานแล้วก็ตาม แต่ด้วยวิถี New Normal เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดี ที่เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อสถานการณ์ที่ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และกิจการฟิตเนสจะสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เมื่อใด

ในเมื่อธุรกิจฟิตเนสยังต้องแสวงหารายได้เพื่อมารองรับกับค่าใช้จ่าย การปั้นธุรกิจเทรนเนอร์ออนไลน์ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ธุรกิจเทรนเนอร์ออนไลน์ในไทยเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว และได้รับความนิยมไม่น้อย แม้จะเป็นเพียงลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ของธุรกิจฟิตเนสที่ไม่สามารถเปิดบริการได้เต็มรูปแบบเช่นเดิม ส่งผลให้ธุรกิจนี้สามารถต่อยอดและค่อยๆ ขยายวงกว้างมากขึ้น

บางรายเริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยการเป็น InFluencer แนะนำท่าออกกำลังกาย ทำคลิปสั้นๆ ที่มีความยาวไม่เกิน 5 นาที และโพสต์ให้ผู้ติดตามได้เห็น เมื่อเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ติดตามมากขึ้นจึงขยับขยาย และนำเสนอบริการเทรนเนอร์ออนไลน์ ที่มีการดูแลเรื่องการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล รวมไปถึงการแนะนำสัดส่วนของปริมาณอาหารที่ต้องบริโภค

ส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้น นั่นเพราะความต้องการของประชาชนที่ยังอยากออกกำลังกาย ข้อจำกัดของผู้ให้บริการฟิตเนสภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ขณะที่มีกระแสความใส่ใจรักสุขภาพเติบโตขึ้น เพราะการออกกำลังกายเป็นเกราะป้องกันสุขภาพเบื้องต้น

แม้ปัจจุบันในโลกออนไลน์จะมีคลิปออกกำลังกายเผยแพร่อยู่มากมายก็ตาม แต่หลายคนที่ต้องต่อสู้กับการสร้างวินัยของตัวเองนั้นยังเป็นเรื่องยากลำบาก บางคนจึงเลือกใช้บริการเทรนเนอร์ออนไลน์เพื่อให้มากำกับการออกกำลังกายของตัวเอง หลายคนมักพูดว่า หากไม่ได้จ่ายเงินให้คนมากระตุ้น หรือบังคับให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย คงไม่เห็นผลแน่

ความแตกต่างระหว่างเทรนเนอร์ออนไลน์กับเทรนเนอร์ส่วนตัวที่ฟิตเนส มีเพียงแค่การไม่ได้เจอตัวกันเท่านั้น แต่การดูแลเรื่องการออกกำลังกาย ควบคุมหรือแนะนำสารอาหารนั้นไม่แตกต่างกันเลย เพราะเทรนเนอร์จะคำนวณเป้าหมายของแต่ละบุคคล และจัดสรรโปรแกรมการออกกำลังกาย อาหาร เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์หรือใกล้เคียงมากที่สุด

นอกจากนี้ ข้อดีของเทรนเนอร์ออนไลน์ คือ ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนสำหรับฟิตเนส ไม่ต้องเดินทาง และบางคนหลัง WFH แล้ว สามารถออกกำลังกายได้ทันที ไม่ต้องต่อคิวใช้อุปกรณ์ ราคาไม่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อดีไม่น้อย แต่ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง คือ การเทรนออนไลน์นั้นอาจไม่ใช่การสื่อสารแบบเรียลไทม์ ผู้เทรนต้องสร้างวินัยต่อตัวเองที่จะลุกขึ้นมาออกกำลังกายตามโปรแกรมที่ได้รับ โดยที่ไม่มีเทรนเนอร์คอยควบคุม และบางคนอาจไม่รู้สึกสนุก เมื่อต้องออกกำลังกายตามลำพัง บางคนอาจเล่นไม่ครบเซตตามโปรแกรม ซึ่งจะส่งผลให้ไปถึงเป้าหมายในการลดน้ำหนักได้ช้าลง

ในต่างประเทศมีผู้พัฒนาธุรกิจ Streaming Fitness ภายใต้ชื่อ Peloton ที่จำหน่ายจักรยานและลู่วิ่งที่มีจอสัมผัสและลำโพงขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สมาชิกรู้สึกเสมือนได้เข้าไปอยู่ในคลาสกับผู้สอนจริงๆ และอีกหนึ่งบริษัทคือ Mirror ที่ผลิตเทคโนโลยีจอกระจกที่มีกล้องและลำโพงในตัว เมื่อเปิดจะแสดงคลาสและผู้สอนเพื่อให้สมาชิกเล่นตามได้แบบอินเทอร์แอคทีฟ ที่ผู้สอนสามารถกระตุ้นและให้กำลังใจสมาชิกได้ขณะเล่นผ่านเทคโนโลยี Motion Sensor ซึ่งค่าบริการของทั้งสองบริษัทก็มีราคาถูกกว่าค่าสมาชิกรายเดือนของฟิตเนสหลายแห่ง

ธุรกิจฟิตเนส ไม่เพียงแต่ถูก disrupt จากเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังถูกมรสุมจากพิษโควิด-19 อีกด้วย บางทีหากหมดยุคโควิด-19 แล้ว อาจถึงเวลาที่ธุรกิจฟิตเนสต้องปรับตัว สร้างกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยการเพิ่มบริการเทรนเนอร์ออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น

ใส่ความเห็น