วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > On Globalization > อนาคตที่เก่าแก่ และประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

อนาคตที่เก่าแก่ และประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

 
Column: AYUBOWAN
 
หลังผ่านการเฉลิมฉลองเถลิงศกใหม่แบบไทยๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สังคมไทยยังมีโอกาสได้ย้อนรำลึกความหลัง ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 233 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ให้ได้ชื่นชมชื่นใจในยามที่หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคมกำลังเดินทางมาถึงจุดที่ได้แต่ก้มหน้าฝืนทนและหวังจะให้ผ่านพ้นไปเสียที
 
ประวัติศาสตร์ความเป็นไปของบ้านเมืองและผู้คน ในด้านหนึ่งจะเป็นเพียงเรื่องราวที่มีไว้บอกกล่าว ปลอบประโลม หรือแม้กระทั่งปลุกกระแสสำนึก ให้ได้ร่วมเรียนรู้บทเรียนครั้งเก่า คงต้องขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ในการนำเสนอและบุคลิกว่าด้วยทัศนะวิพากษ์ที่แต่ละสังคมพึงจะมี
 
สำหรับโคลัมโบ ซึ่งกำลังจะมีการฉลองวาระครบรอบ 150 ปี ของการจัดตั้งสภาเทศบาลแห่งกรุงโคลัมโบ หรือ Colombo Municipal Council ซึ่งได้รับการจัดตั้งตามธรรมนูญเมื่อปี 1865 ในช่วงที่ศรีลังกาตกอยู่ในอาณัติการปกครองของอังกฤษอาจให้ภาพที่แปลกแตกต่างออกไป
 
เพราะในความเป็นจริงความเป็นไปของโคลัมโบมีประวัติศาสตร์สืบเนื่องยาวนานและเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง ที่สัญจรผ่านร้อนหนาวข้ามแผ่นผืนทวีปและห้วงมหาสมุทรมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักคุ้นเคยอยู่ในบันทึกของเหล่าพ่อค้าวานิชมามากกว่า 2,000 ปี
 
ชื่อของ Colombo อย่างที่คุ้นเคยและเรียกขานในปัจจุบันนี้ เป็นชื่อเรียกขานที่ได้รับเป็นมรดกมาจากชาวโปรตุเกสซึ่งถือเป็นกลุ่มชนกลุ่มแรกๆ ที่นำพาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ให้เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ แต่นั่นก็เมื่อประมาณ ค.ศ. 1500 หรือ 500 กว่าปีที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านั้น Colombo ได้รับการบันทึกถึงด้วยภาษาท้องถิ่นสิงหลในชื่อ Kolon thota ซึ่งสามารถถอดความได้ว่า เมืองท่าที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำ Kelani ควบคู่กับชื่อ Kola-amba-thota ซึ่งหมายถึงเมืองท่าที่เต็มไปด้วยต้นมะม่วง ก่อนที่จะกร่อนเสียงมาเป็น Kolamba 
 
ในขณะที่นักเดินทางและสำรวจชาวมุสลิมจากต่างแดนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาสร้างความมั่งคั่งด้วยการค้าจากตะวันออกกลางและแอฟริกา เรียกเมืองแห่งนี้ว่า Kalanpu ก่อนที่โปรตุเกสจะเข้ามาครอบครองดินแดนตามชายฝั่งและสร้างสถานีการค้าขึ้นที่เมืองแห่งนี้ พร้อมกับขับไล่ชาวมุสลิมที่ตั้งหลักแหล่งอยู่เดิมให้พ้นออกไปและเรียกขานเมืองแห่งนี้ด้วยสำเนียงโปรตุเกสว่า Colombo สืบมา
 
ความเก่าแก่และเป็นไปของโคลัมโบ ไม่ได้มีเพียงแค่ในการบันทึกของนักเดินทางเท่านั้น หากแต่ยังดำเนินผ่านช่วงเวลาแห่งยุคสมัยอาณานิคม ที่ทำให้โคลัมโบมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ท่ามกลางความสำคัญทางยุทธศาสตร์การค้าและการทหาร
 
การเปลี่ยนผ่านจากยุคของโปรตุเกส มาสู่ยุคของดัตช์ และล่วงเลยมาสู่อังกฤษ ได้ส่งผ่านแบบแผนทางสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ซึ่งในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงอดีตที่ระคนไปด้วยความรุ่งเรืองและบอบช้ำ ประหนึ่งอนุสรณ์แห่งกาลเวลาที่ช่วยให้ชาวโคลัมโบและศรีลังกาโดยรวม ได้ตระหนักถึงการก้าวผ่านไปสู่อนาคตครั้งใหม่
 
สถานะแห่งการเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า ที่ดำเนินยาวนานหลายศตวรรษของโคลัมโบ เริ่มได้รับการทบทวนในช่วงทศวรรษ 1980 ภายใต้แนวความคิดที่จะย้ายหน่วยราชการออกไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ใน Sri Jayawardenepura Kotte อดีตเมืองหลวงเก่าของราชอาณาจักร Kotte ที่รุ่งเรืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-16 เพื่อเปิดทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจในเมืองโคลัมโบเป็นไปได้อย่างเต็มที่
 
การเลือกย้ายส่วนราชการมายัง Sri Jayawardenepura Kotte หรือในชื่อที่ออกเสียงแบบไทยได้ว่า “ศรีชัยยะวัฒนะปูรา” ซึ่งเป็นเมืองหลวงหลังจากที่อาณาจักร Kotte มีชัยชนะเหนืออาณาจักร Jaffna ในอดีตนั้น ในด้านหนึ่งสะท้อนมรดกแห่งความรู้สึกทางประวัติศาสตร์ระหว่างชาวสิงหลและทมิฬไม่น้อยเลย 
 
เป็นความพยายามที่จะย้อนอดีตที่รุ่งเรือง ควบคู่กับการสร้างอนาคตใหม่ ในช่วงที่บรรยากาศแห่งสงครามกลางเมืองของศรีลังกา ยังคุกรุ่น และยังไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินไปสู่บทสรุปยุติอย่างไร
 
ขณะเดียวกันการย้ายหน่วยราชการก็ดำเนินไปเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์การพัฒนาของโคลัมโบที่ระบุจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองในเอเชีย ที่ให้ความสำคัญและใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง ด้วยการให้บริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาชีวิตที่มีทั้งความมั่งคั่ง มั่นคง ปลอดภัยและจำเริญด้วยสุขภาวะ
 
กระนั้นก็ดี แผนการย้ายเมืองหลวงที่ดำเนินมานานกว่า 3 ทศวรรษ และรัฐบาลศรีลังกาได้ย้ายหน่วยงานจำนวนมากออกไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ใน Sri Jayawardenepura Kotte โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แต่การย้ายเมืองหลวงของศรีลังกาดูจะเป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์
 
แม้ในประกาศอย่างเป็นทางการ เมืองหลวงของศรีลังกาจะเป็น Sri Jayawardenepura Kotte แต่ในความเป็นจริงหน่วยราชการสำคัญรวมถึงที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของนานาประเทศยังคงปักหลักอยู่ในโคลัมโบอย่างคับคั่ง และในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป โคลัมโบยังเป็นเมืองหลวงที่พรั่งพร้อมที่สุดของศรีลังกาอยู่เช่นเดิม
 
ความน่าสนใจในทิศทางที่กำลังดำเนินไปของโคลัมโบอยู่ที่ท่ามกลางรากฐานที่อุดมด้วยสีสันแห่งประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โคลัมโบไม่ได้ผูกพันอยู่แค่ในบริบทแห่งอดีต หากกำลังก้าวสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาที่พร้อมจะเป็นศูนย์กลางแห่งอนาคตครั้งใหม่ 
 
เป็นอนาคตที่มีรากฐานแห่งความรุ่งเรืองและเก่าแก่ ไม่ใช่บนภาพฝันของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกสร้าง และโหมประโคมให้ต้องจดจำ
 
โครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่กำลังเกิดขึ้นและเดินหน้าเติมเต็มพื้นที่ว่างและโอกาสที่ขาดหายไปในช่วงสงครามกลางเมือง ให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ควบคู่กับโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการออกแบบและจัดวางอย่างมีระเบียบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมรดกของผังเมืองที่อาณานิคมอังกฤษได้วางไว้
 
แต่การเฉลิมฉลอง 150 ของ Colombo Municipal Council ในช่วงปลายปี 2015 นี้ ย่อมไม่ใช่การรำลึกถึงคุณูปการของอังกฤษ ในฐานะอดีตเจ้าอาณานิคม ดังที่เกิดขึ้นในสังคมทาสที่ปล่อยไม่ไปบางแห่งของโลก หากเป็นการรำลึกถึงผู้คนที่รังสรรค์และมีส่วนช่วยกันร่วมสร้างบ้านแปงเมืองให้จำเริญวิไล 
 
ซึ่งย่อมเป็นภาพสะท้อนเรื่องราวของบ้านเมืองและผู้คน ที่ประกอบส่วนเป็นสังคมที่ทั้งร่มรื่นและหลากหลายด้วยสรรพชีวิต มากกว่าการยึดโยงชูร่ม แล้วท่องเดินอยู่กลางท้องทะเลทรายที่แห้งแล้ง จริงไหมคะ