วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
Home > Cover Story > BOI กระตุ้นการลงทุนส่งท้ายปี เน้นยานยนต์ไฟฟ้าตามเทรนด์โลก

BOI กระตุ้นการลงทุนส่งท้ายปี เน้นยานยนต์ไฟฟ้าตามเทรนด์โลก

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในอีกหลายประเทศทั่วโลกต่างประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนที่ถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ก็ตาม

ทว่า การพยายามก้าวต่อไปข้างหน้า ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในห้วงยามนี้ ในหลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า หรืออย่างน้อยๆ ก็พอจะพยุงตัวและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้บ้าง

การชะลอตัวของการลงทุนเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิดจะอุบัติ แน่นอนว่าความเป็นไปบนโลกส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน เพราะเม็ดเงินที่ลงทุนไปในช่วงแรกย่อมต้องหมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงเดินหน้า จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากนักลงทุนชะลอเพื่อเฝ้ารอดูเหตุการณ์

ภาครัฐพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะให้นักลงทุนที่เคยส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาสร้างฐานการผลิตในไทยยังคงดำเนินไปแม้จะมีอุปสรรคมาขัดขวางก็ตาม เพราะสิ่งที่ตามมาสร้างผลดีให้เกิดแก่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศหลายระนาบด้วยกัน

จังหวะการก้าวของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในช่วงท้ายปีดูจะเป็นแรงกระตุ้นชีพจรทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ด้วยหวังว่าจะช่วยพลิกสถานการณ์ให้กระเตื้องขึ้น

โดยดวงใจ อัศวจิตนจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน โดยเปิดประเภทกิจการให้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กิจการดูแลผู้สูงอายุ และกิจการวิจัยทางคลินิก พร้อมทั้งเปิดให้การส่งเสริมรอบใหม่อีก 2 ประเภท คือ กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และกิจการเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก รวมทั้งการขยายเวลาและปรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการดูแลผู้ส่งอายุแบบครบวงจรรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564

นอกจากนี้ บีโอไอ ยังส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการแพทย์ของไทย โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งด้านการผลิต บริการ การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งเป็นโอกาสให้สถาบันการแพทย์ของไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย

และดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมที่เป็นพระเอกที่บีโอไอจะให้การสนับสนุนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมเผชิญกับภาวะวิกฤต สถานการณ์ในปัจจุบันแม้จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวในด้านต่างๆ ทว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนารวมไปถึงการต่อยอดทางด้านนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้ยอดจำหน่ายและส่งออกลดลงอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับรอยแผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ตาม

เดิมทีไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก โดยปี 2562 ไทยมียอดการผลิตรถยนต์มากกว่า 2,050,000 คัน สร้างรายได้กว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี และมูลค่าการส่งออกสินค้าหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ส่วนประกอบสร้างรายได้ปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท

สำหรับกิจการยานยนต์ไฟฟ้าที่บีโอไอจะได้ส่งเสริมรอบใหม่ หลังจากหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561 โดยในรอบนี้ เปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากเดิมที่มีการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า

ซึ่งบีโอไอมีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไข เช่น การลงทุนที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม หรือในกรณีที่ขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปีและมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ค่อยๆ ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 ได้ประสบวิกฤตพลังงาน และด้วยการทำงานของระบบไฟฟ้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เชื้อเพลิงน้ำมันจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง รถยนต์ไฟฟ้ามีข้อดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งช่วยลดสภาวะโลกร้อน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้มีสภาพแวดล้อมของโลกดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากต้นทุนของพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าเชื้อเพลิงจากน้ำมัน

กระนั้นก็ยังมีข้อเสียในเรื่องของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้ายังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากต้นทุนการผลิตราคาแพง สถานีชาร์จไฟฟ้าน้อยและใช้เวลาในการชาร์จนาน รวมไปถึงระยะทางที่สามารถขับได้ขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่รถยนต์

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านทางด้านนวัตกรรมยานยนต์จากรถยนต์ระบบสันดาปสู่รถยนต์ระบบไฟฟ้ามีราคาที่ต้องแลก นั่นคือ ผู้ประกอบการ SME ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีข้อมูลจากสถาบันยานยนต์ในปี 2560 พบว่า มีผู้ประกอบการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกว่า 2,500 ราย และมีแรงงานทางตรงกว่า 7.5 แสนคน แบ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์หลัก 21 ราย (เป็นบริษัทต่างชาติทั้งหมด) ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 จำนวน 720 ราย (3.3% เป็นบริษัทไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-2 และ Tier-3 อีกกว่า 1,000 ราย (ส่วนใหญ่เป็น SME ไทย)

แม้จะมีข้อดีมากมายต่อสิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากรถยนต์เครื่องยนต์ระบบสันดาปนั้นใช้ชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้น ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนประกอบประมาณ 1,500-3,000 ชิ้น

ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์อาจจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการพัฒนาและถูกพูดถึงในแวดวงนี้มาหลายปีแล้ว

ความท้าทายและโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการไทยคือการก้าวข้ามไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า คือการแก้โจทย์เรื่องการชาร์จไฟ ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาในการชาร์จไฟรถยนต์นานถึง 5 ชั่วโมง และยังไม่มีสถานีชาร์จแบบ Fast Charge

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยข้อมูล การเติบโตของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเริ่มขยายมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนเข้ามายังไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีความได้เปรียบสูงกว่าอินโดนีเซียจากการมีนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน และออกมาก่อนอินโดนีเซียหลายปี ส่งผลให้มีโอกาสที่จะต่อยอดสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่าอินโดนีเซียในอนาคต

นอกจากนี้ ไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนครบวงจร โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเกินกว่าร้อยละ 80 และจะมีจำนวนธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากกว่า 2,000 บริษัท ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซียพอสมควร ยังไม่รวมถึงความสามารถในการประกอบรถยนต์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกหลายประเภท ตรงข้ามกับอินโดนีเซียที่เน้นผลิตเฉพาะกลุ่มรถยนต์ MPV ขณะที่ความพร้อมและโอกาสในการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าของไทยสูงกว่าอินโดนีเซีย

ทว่าในระยะไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ความได้เปรียบดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อจุดแข็งใหม่ของอินโดนีเซียเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น ทั้งการสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ของรถยนต์ไฟฟ้า ได้เนื่องจากเป็นแหล่งแร่นิกเกิลวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และการมีประชากรที่มีกำลังซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้นจนมากกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ตามโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของอินโดนีเซียเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและขยับสูงกว่าไทยได้ในปี 2573

จากสถานการณ์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยควรเร่งปรับยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาจุดแข็งเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีถัดจากนี้ เพื่อกันการสูญเสียแรงดึงดูดการลงทุนไปให้อินโดนีเซีย โดย 2 ยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยควรพิจารณาเร่งสร้าง ได้แก่ การสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนใหม่ๆ ที่สำคัญของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมขึ้นมาจากห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเดิมที่ไทยมีอยู่แล้ว และการสร้างโอกาสส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อชดเชยกับขนาดตลาดในประเทศที่เล็กกว่าอินโดนีเซีย

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังบีโอไอประกาศมาตรการกระตุ้นการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไทยจะอยู่ในตำแหน่งไหนบนเวทีโลกในฐานะประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ใส่ความเห็น