วันจันทร์, พฤศจิกายน 4, 2024
Home > Cover Story > หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงรอบ 18 ปี  ทำเศรษฐกิจไทยบอบช้ำรุนแรง

หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงรอบ 18 ปี  ทำเศรษฐกิจไทยบอบช้ำรุนแรง

คงไม่มีปาฏิหาริย์ใดที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นได้ในช่วงเวลานี้ เมื่อดัชนีสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ ยังคงถูกล้อมกรอบไปด้วยปัจจัยลบหลายด้าน

ทั้งกำลังซื้อของภาคประชาชนที่อ่อนกำลังลงเป็นทุนเดิม การขยายตัวของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบางประเภทจนทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลาย ผนวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางยิ่งขึ้น

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ติดลบทั้งสองไตรมาสที่ผ่านมา น่าจะอธิบายความได้ดีเกี่ยวกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิดจะเป็นเสมือนจุดเปลี่ยนที่สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างดูเลวร้ายลง แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลงมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขจีดีพีค่อยๆ ไต่ระดับลงอย่างต่อเนื่อง

และเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดคือสัญญาณบ่งบอกความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น นั่นคือ ระดับ “หนี้ครัวเรือน” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานออกมาอยู่ที่ 84 เปอร์เซ็นต์ ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับหนี้ครัวเรือนของไตรมาสก่อนหน้า จะเห็นได้ว่าสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเพียง 3.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นหมายความว่ามูลหนี้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากมายอะไร ทว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ การปรับลดลงของจีดีพีที่ติดลบเพิ่มขึ้น หรือเข้าใจง่ายๆ นั่นคือรายได้ของประชาชนลดลง ทั้งจากปัญหาการว่างงานและการถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงตัวเลขของตลาดแรงงานในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวแตะระดับ 7.5 แสนคน และจำนวนผู้เสมือนว่างงาน คือกลุ่มคนที่ยังมีงานทำแต่ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นใกล้เคียง 5.4 ล้านคน แม้ว่าจำนวนผู้เสมือนว่างงานจะลดลงเหลือ 2.6 ล้านคน แต่จำนวนผู้ว่างงานยังอยู่ที่ 7.2 แสนคน ซึ่งลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการที่ระดับหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นในไตรมาส 2 นี้สวนทางกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงในหลายภาคส่วนในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19

และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563 นำโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ เร่งขึ้นจากที่เพิ่มเพียง 1.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส1/2563 โดยระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สวนทางเศรษฐกิจไทยที่หดตัวเป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ซึ่งมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 สะท้อนสถานการณ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) มีการต่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 1.42 แสนล้านบาท ในไตรมาส 2/2563 (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า

ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้และลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33 เปอร์เซ็นต์ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28 เปอร์เซ็นต์ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน) นอกจากหนี้ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย (ทั้งมาตรการเฟสสอง และมาตรการรวมหนี้) รวมถึงมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้อาจช่วยบรรเทาภาระให้แก่ครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ในช่วงที่ยังต้องรอเวลาให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง (ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดีหรือ MRR ตลอดจนการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ) ยังช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลงด้วยเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้วประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้

ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ปัจจัยที่จะเกื้อหนุนให้มูลหนี้นั้นลดลง เช่น รายได้ของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ว่างงานลดลง จะได้รับการดูแลและแก้ไขจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างไร ขณะที่อีกประเด็นที่ยังติดตามเพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดคือ เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกดีขึ้น

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 7.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 4.0 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิถุนายนว่าจะหดตัวลง 7.7 เปอร์เซ็นต์ และยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเศรษฐกิจโลก IMF ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในปีหน้าสู่ระดับ 5.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิถุนายน ว่าจะขยายตัว 5.4 เปอร์เซ็นต์ โดย IMF ระบุว่า การทบทวนปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่ดีกว่าคาดของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงไตรมาส 2 ขณะที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้นในไตรมาส 3

นอกจากนี้ IMF ยังเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ขณะที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ไทยยังต้องเผชิญปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดความบอบช้ำต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในทุกระนาบ ทั้งภาวะความชะงักงันของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของค่าเงินบาท การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังต้องรอคอยวัคซีนอย่างไม่มีกำหนด อัตราการว่างงานและการจ้างงานใหม่ที่ยังไม่สมดุลกัน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

นอกจากพายุที่พัดกระหน่ำซ้ำเติมประเทศไทยอยู่ในเวลานี้ สายลมแห่งความหวังคงยากที่จะพบเจอ

 

ใส่ความเห็น