วันอังคาร, พฤศจิกายน 12, 2024
Home > New&Trend > นักวิจัยจับมือกรมศิลป์-สผ.ใช้เทคโนโลยีสำรวจโบราณสถาน วางแผนอนุรักษ์และสนับสนุนข้อมูลขอขึ้นบัญชีมรดกโลก

นักวิจัยจับมือกรมศิลป์-สผ.ใช้เทคโนโลยีสำรวจโบราณสถาน วางแผนอนุรักษ์และสนับสนุนข้อมูลขอขึ้นบัญชีมรดกโลก

นักวิจัยเผยผลสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยร่วมกับกรมศิลปากร และรวบรวมข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการด้านวิศวกรรมทั้งในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและพนมรุ้ง ร่วมกับ สผ. เพื่อเตรียมเอกสารการขอขึ้นบัญชีมรดกโลก พร้อมขยายเครือข่ายวิจัยสู่ภูมิภาคหวังกระตุ้นการอนุรักษ์โบราณสถานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า

รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม ระยะที่สอง ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานระยะแรกในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คณะวิจัยได้นำองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นผนวกกับการวิจัยเชิงลึกอันต่อเนื่องมาดำเนินการวิจัยต่อยอดในโครงการระยะที่สอง ทั้งในพื้นที่โบราณสถานอันเป็นมรดกโลก เพื่อได้ผลการศึกษาเชิงวิศวกรรมที่จำเป็นต่อการวางแผนการอนุรักษ์และบำรุงรักษาโบราณสถาน รวมถึงเพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับการขอขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกของประเทศไทย และเป็นแนวทางการศึกษาสำหรับแหล่งโบราณสถานอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อวางแผนอนุรักษ์ บำรุงรักษาโบราณสถานมรดกโลกที่มีผลกระทบสำคัญเร่งด่วน อาทิ เจดีย์เอียง ฐานรากทรุด ทดสอบวัสดุเดิม และวัสดุทดแทนใหม่สำหรับการบูรณะให้เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมถึงการวางแผนร่วมกับอธิบดีกรมศิลปากรและทีมงาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาที่มีประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะกับพื้นที่ศึกษามรดกโลก พร้อมทั้งวางแผนที่จะทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรวบรวมข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการด้านวิศวกรรมของแหล่งมรดกโลกที่ต้องจัดเตรียมเอกสารการขอขึ้นทะเบียน เพื่อยื่นต่อองค์การยูเนสโก ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ขณะที่คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนำโดย รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลด้านวิศวกรรมของโบราณสถานในรูปแบบดิจิทัล ประเมินและติดตามสภาพโบราณสถานโดยใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ และรวบรวมวัสดุตัวอย่างจากพื้นที่โบราณสถานต้นแบบภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ พร้อมทั้งวัสดุทดแทนสำหรับการบูรณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการ ด้าน ศ. ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ลงพื้นที่สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยพบว่าสภาพของโครงสร้างโดยรวมมีรูปทรงเกือบสมบูรณ์ แต่วัสดุประสานของศิลาแลงมีความเปราะไม่มีความเหนียว หากเกิดการสั่นสะเทือนจากแรงแผ่นดินไหวอาจเกิดความเสียหายจากแรงดึง ทำให้ชิ้นส่วนของโบราณสถานที่อยู่ด้านบนร่วงลงมาได้ ส่วนอุทยานศรีสัชนาลัยไม่ค่อยพบความเสียหายจากการทรุดตัวของโครงสร้างเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา ดินค่อนข้างแข็ง อย่างไรก็ตามจะต้องมีการสร้างแบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ วิเคราะห์พฤติกรรมต้านแผ่นดินไหว และหาแนวทางในการเสริมกำลังต่อไป

นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้สำรวจธรณีฟิสิกส์แบบบูรณาการ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างและสำรวจหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีใต้พื้นดิน นำทีมโดย ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งการสำรวจธรณีวิทยาใต้ผิวดินด้วยวิธีธรณีเรดาห์ การวิเคราะห์คลื่นผิวแบบหลายช่องสัญญาณ การสำรวจด้วยวิธีการวิเคราะห์คลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อน และการวัดสนามแม่เหล็ก ซี่งจะทำให้มีข้อมูลหลักฐานแหล่งโบราณคดีเพิ่มขึ้นในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผลจากโครงการวิจัยนี้ทำให้คณะวิจัยได้ข้อมูลพื้นฐานทางวิศวกรรมในการวางแผนอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานอย่างยั่งยืน มีแนวทางการสำรวจและประเมินความมั่นคงของโครงสร้างโบราณสถานที่เหมาะสม ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างคุณค่าทางวิชาการด้วยการวิจัยที่เข้มแข็ง และขยายขอบเขตการวิจัยในระดับภูมิภาคผ่านการลงพื้นที่ร่วมกับนักวิจัย โดยมีบุคลากรทางการศึกษา และนิสิตนักศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ตาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่เชียงราย และมหาวิทยาลัยพะเยา นอกจากนี้ฐานข้อมูลทางวิศวกรรมและเนื้อหาดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นยังสามารถนำไปต่อยอดสู่เนื้อหาดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางมรดกวัฒนธรรม ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงโบราณสถาน เพื่อพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนควบคู่กับการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์โบราณสถานต่าง ๆ

หัวหน้าชุดโครงการวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลพลอยได้จากงานวิจัยยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากการที่ประเทศมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีความมั่นคงแข็งแรง โดยการท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และการจ้างงานให้กับประเทศไทยและคนในพื้นที่ การอนุรักษ์โบราณสถานจึงเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความยั่งยืน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับชุมชนและระดับประเทศ จึงเป็นงานวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติไทยให้คงอยู่สืบไป

คณะวิจัย

ผลสำรวจธรณีวิทยาใต้ผิวดินด้วยการวัดสนาม

ภาพ 3 มิติ วัดมหาธาตุ สุโขทัย

สำรวจข้อมูลทางวิศวกรรมด้วยภาพถ่าย

สำรวจพื้นใต้ดินเขาคล้งนอก พนมรุ้ง

ใส่ความเห็น