วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 3, 2024
Home > Life > อดนอนแค่ 5 คืน ส่งผลถึงขั้นคิดลบ

อดนอนแค่ 5 คืน ส่งผลถึงขั้นคิดลบ

Column: Well – Being

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sleep Research ระบุว่า การอดนอนเพียงคืนละ 5 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ส่งผลกระทบให้เกิดความคิดเชิงลบในชีวิตประจำวัน

นิตยสาร Prevention รายงานการศึกษาชิ้นนี้ด้วยการเพิ่มเติมว่า การนอนพักผ่อนให้เพียงพอประมาณคืนละ 7- 9 ชั่วโมง ไม่เพียงเพิ่มโอกาสให้คุณเกิดความรู้สึกเชิงบวก แต่ยังอาจช่วยให้คุณมีความจำและเล่นกีฬาได้ดีขึ้นด้วย

Journal of Sleep Research ให้รายละเอียดว่า นักวิจัยรับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลอง 42 คน ในภารกิจนานสองสัปดาห์นี้ โดยให้พวกเขาแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อรูปภาพ 90 รูป ซึ่งประกอบด้วยรูปที่น่าพึงพอใจ รูปที่เป็นกลาง และรูปที่ไม่น่าพึงพอใจ หลังจากพวกเขาได้นอนพักผ่อนตามปกติ 5 คืน จากนั้นจึงทดสอบปฏิกิริยาของพวกเขาอีกครั้งหลังจากถูกจำกัดการนอนเพียงคืนละ 5 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 คืนติดต่อกัน

ก่อนเริ่มการศึกษา พวกเขาต่างยืนยันว่า ปกติแล้วพวกเขานอนคืนละ 7-9 ชั่วโมง ทั้งยังถูกทดสอบเกี่ยวกับอารมณ์ หรือความวิตกกังวล การนอนหลับผิดปกติ และโรคนอนไม่หลับด้วย

การศึกษาพบว่า หลังผู้ร่วมการทดลองถูกจำกัดเวลานอน ส่งผลให้พวกเขามีอารมณ์เชิงลบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความตื่นตัวลดลง เห็นได้ชัดคือ ผู้ร่วมการทดลองมีแนวโน้มจัดให้รูปที่น่าพึงพอใจและรูปที่เป็นกลางอยู่ในประเภทรูปเชิงลบ ซึ่งนักวิจัยสรุปว่า ผลที่ได้นี้ถือว่าสำคัญ เพราะสภาวะอดนอนเรื้อรังติดต่อกันค่อนข้างเชื่อมโยงกับเงื่อนไขทางการแพทย์ การนอนหลับผิดปกติ ข้อเรียกร้องด้านการทำงาน และวิถีชีวิต

รู้ได้อย่างไรว่าคุณอดนอนจริงหรือไม่
การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งจำเป็นระดับสากล ดร. ดานีลา เทมเพสตา แห่งแผนกวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกประยุกต์ มหาวิทยาลัยลากีลา กล่าวและเพิ่มเติมว่า การวิจัยนี้ยังส่งผลเชิงอารมณ์ด้วย

“ดูเหมือนการนอนจะมีบทบาทสำคัญในองค์ประกอบของกระบวนการทางอารมณ์ที่แตกต่างกันทั้งในด้านความทรงจำเชิงอารมณ์และปฏิกิริยาตอบโต้เชิงอารมณ์” ดร. เทมเพสตาอธิบาย และกล่าวต่อไปว่า

การอดนอนสามารถส่งผลถึงองค์ประกอบทั้งสองนี้ คือไม่เพียงทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเชิงลบมากขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการมีดุลยพินิจเชิงอารมณ์ในด้านลบด้วย

ทำไมเวลานอนจึงสำคัญนัก
ดร. เทมเพสตาไขข้อสงสัยว่า เพราะระยะเวลาการนอนที่สั้นลงมักนำไปสู่ภาวะ REM sleep ที่น้อยลง (REM sleep เป็นวงจรการนอนหลับที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีการคลายตัวและหยุดทำงานยกเว้นหัวใจ กระบังลม และกล้ามเนื้อตา นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่ร่างกายเกิดการฝันและมีการกลอกตาเร็ว) ซึ่งเป็นช่วงการนอนที่คุณมักฝันและเกิดขึ้นในช่วงที่สองของเวลากลางคืนมากที่สุด โดยสมองส่วนอะมิกดาลาและฮิปโปแคมปัส (ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำและอารมณ์) ทำการประมวลผลเกี่ยวกับความทรงจำเชิงอารมณ์ที่จำเป็นในช่วงก่อนหน้านี้ ต้องส่งความทรงจำกลับไปกลับมาเข้าสู่การจัดเก็บในระยะยาว

เมื่อกระบวนการนี้ถูกตัดทอนให้สั้นลง ย่อมสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้เชิงอารมณ์มากขึ้นในขณะที่คุณตื่นนอน นั่นหมายความว่า การนอนหลับอย่างเพียงพอประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน ไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสให้มีความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้น แต่ยังอาจช่วยเพิ่มความทรงจำด้วย นอกจากนี้ การวิจัยก่อนหน้านี้ยังระบุว่า หากนอนหลับเพียงพอ สามารถช่วยให้คุณเล่นกีฬาได้ดีขึ้นเช่นกัน

แม้การศึกษาดังกล่าวจะมีขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญการนอนต่างแสดงความวิตกเกี่ยวกับผลจากการนอนไม่พออยู่แล้ว เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก ตั้งข้อสังเกตว่า การนอนสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อารมณ์ การทำงานของสมอง และพลังงาน ตอนนี้โรคโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวการสำคัญของปัญหาการนอนที่เกี่ยวข้องกับโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้นด้วย

แก้ปัญหาอย่างไรดี
ให้พยายามใช้เทคนิคช่วยการนอนอย่างได้ผล เช่น กำหนดเวลาเข้านอนที่แน่นอน ลดหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์และกาเฟอีน และหันมาออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตร

ใส่ความเห็น