วันจันทร์, พฤศจิกายน 4, 2024
Home > Cover Story > พีทีจี ปูพรมชนยักษ์ ลุย “พันธุ์ไทย-คอฟฟี่เวิลด์”

พีทีจี ปูพรมชนยักษ์ ลุย “พันธุ์ไทย-คอฟฟี่เวิลด์”

พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ยังคงเดินหน้าลุยแผนโค่นแชมป์ หลังปรับภาพลักษณ์องค์กร เร่งผุดสถานีบริการน้ำมัน “พีที” รูปโฉมใหม่ ยกเครื่องร้านสะดวกซื้อ “แมกซ์มาร์ท” ขยายธุรกิจร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ซื้อหุ้นกิจการ “คอฟฟี่เวิลด์” และซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนใน บริษัท จิตรมาส แคเทอริ่ง (JTC) รุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเต็มสูบ

แน่นอนว่า ทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจร้านกาแฟ และธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงการสร้างเครือข่ายร้านค้าเติมเต็มสถานีบริการ ตั้งเป้าหมายชนยักษ์ใหญ่ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟ ซึ่ง “คาเฟ่ อเมซอน” ยึดครองเจ้าตลาดมาอย่างยาวนาน

ขณะเดียวกัน หากดูตัวเลขตลาดกาแฟที่มีมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟในบ้าน ประมาณ 38,000 ล้านบาท และกาแฟนอกบ้านอีกกว่า 27,000 ล้านบาท โดยในตลาดกาแฟนอกบ้านเป็นกลุ่มร้านคาเฟ่ 64-65% หรือมูลค่าราว 17,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมบริโภคกาแฟมากขึ้น และร้านกาแฟกลายเป็นจุดนัดพบใหม่ ทั้งในกลุ่มเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเจรจาธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพ จนมีผู้ประกอบการแห่เปิดกิจการและขายแฟรนไชส์ร้านกาแฟมากกว่า 110 แบรนด์

ทั้งนี้ ตามแผนธุรกิจในภาพรวมของพีทีจี บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ ปี 2563 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เติบโต 15-20% จากปี 2562 ที่มีรายได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นยังคงมาจากธุรกิจน้ำมันเป็นหลัก ทั้งการจำหน่ายน้ำมันให้กลุ่มผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันอิสระที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ กลุ่มผู้ค้าส่งน้ำมันรายอื่น (Jobber) และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ เร่งขยายจำนวนสถานีบริการ LPG ภาคขนส่งอีก 30-50 แห่งในปี 2563 จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 169 แห่ง

ในแง่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน พีทีจีมีส่วนแบ่งทางการตลาด 13.3% เป็นอันดับ 3 รองจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 38% และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 14%

ส่วนกลุ่มธุรกิจนอนออยล์ ภายใต้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท บริษัทวางแผนเปิดร้านแมกซ์มาร์ท อีก 50-60 สาขา จากปัจจุบันกระจายตามพื้นที่ต่างๆ 167 สาขา ศูนย์บำรุงรักษารถยนต์ออโต้แบคส์ 20 สาขา จากปัจจุบัน 17 สาขา ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 55 สาขา จากปัจจุบันมีสาขารวม 240 แห่ง และร้านกาแฟคอฟฟี่เวิลด์ 10-15 สาขา จากปัจจุบัน 75 สาขา

ล่าสุด บริษัทประกาศนโยบายรุกขยายสาขาแฟรนไชส์ เพื่อผุดสาขาเจาะพื้นที่ขยายฐานลูกค้าเป้าหมาย โดยกำหนดให้ร้านกาแฟพันธุ์ไทยจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ราคากาแฟต่อแก้ว เริ่มต้นที่ 45-50 บาท เน้นเปิดภายในสถานีบริการน้ำมัน PT รองรับกลุ่มนักเดินทางและผู้ขับรถ เน้นสถานีบริการในแหล่งชุมชน ย่านธุรกิจการค้า สถานที่ราชการขนาดใหญ่ รวมทั้งเปิดให้บริการภายนอกสถานีบริการ PT เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติ ดอนเมือง ในห้างสรรพสินค้าและและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต

ขณะที่แบรนด์ “คอฟฟี่ เวิลด์” ภายใต้การบริหารของบริษัท จี เอฟ เอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นบริษัทย่อย ของ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม ราคากาแฟต่อแก้วสูงกว่า 100 บาท โดยชูความเป็นกาแฟรสชาติกลมกล่อม สนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนในเมือง โดยจะเปิดให้บริการในพื้นที่ที่มีศักยภาพนอกสถานีบริการ PT เช่น ห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์ คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามบิน

สำหรับอัตราค่าแฟรนไชส์ของกาแฟพันธุ์ไทยและคอฟฟี่เวิลด์ อยู่ที่ประมาณ 2.5-3 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 600,000 บาท ค่าประกันแฟรนไชส์ 200,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 1,000,000 บาท/ร้าน ค่าก่อสร้าง ตารางเมตรละ 20,000-25,000 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมรอยัลตี้ 6% จากยอดขายสุทธิ (หลังหักภาษีแล้ว) ค่าธรรมเนียมการตลาด 2% จากยอดขายสุทธิ (หลังหักภาษีแล้ว)

เปรียบเทียบกับ “คาเฟ่อเมซอน” ของ ปตท. ซึ่งมี 2 โมเดล

โมเดลสแตนด์อะโลน พื้นที่ 100-200 ตารางเมตรขึ้นไป ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 2.64-4.2 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง-ตกแต่ง-งานระบบ 1.5-3 ล้านบาท ค่าออกแบบ 40,000-100,000 บาท ค่าอุปกรณ์ในร้าน 779,000 บาท ค่าประกันแบรนด์ 100,000 บาท ค่าดำเนินการก่อนเปิดร้าน เช่น อบรม สำรวจพื้นที่ ประมาณ 80,000 บาท ค่าแฟรนไชส์ 150,000 แสนบาท โดยมีค่ารอยัลตี้และค่าการตลาด 6% ของยอดขาย และค่าเช่าเครื่อง POS อีก 24,000 บาทต่อปี

โมเดลในอาคาร พื้นที่ 40 ตร.ม. ขึ้นไป ค่าใช้จ่ายบางส่วนต่ำกว่า เช่น ค่าก่อสร้าง-ตกแต่ง-งานระบบ อยู่ที่ 1.2 -2.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมเหลือประมาณ 2.34-3.7 ล้านบาท

ด้าน “อินทนิลคอฟฟี่” ของค่ายบางจาก ประมาณ 2 ล้านบาทต่อร้าน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise Fee) 200,000 บาท เงินค้ำประกันสัญญา 100,000 บาท ค่าออกแบบและจัดทำแบบก่อสร้าง 50,000 บาท ค่าบริการ Software ระบบ POS รายปี 27,000 บาท เงินลงทุนค่าอุปกรณ์การขายและวัตถุดิบครั้งแรก เช่น เครื่องชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟ เครื่องปั่นน้ำผลไม้ 450,000 บาท การก่อสร้างและตกแต่งร้าน ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ 1-2 ล้านบาท โดยมีค่าส่วนแบ่งรายได้ (Loyalty Fee) 6% จากยอดขาย

หากเปรียบเทียบกัน อัตราค่าแฟรนไชส์ของเจ้าตลาดอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งต้องยอมรับว่า คาเฟ่อเมซอนมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อแบรนด์ยักษ์ใหญ่ และ ปตท.ตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขา ขณะที่ “อินทนิลคอฟฟี่” ล่าสุดเปิดแล้ว 400 สาขาทั่วประเทศ ส่วนกาแฟพันธุ์ไทยและคอฟฟี่เวิลด์ คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 จะมีสาขารวมทั้งสองแบรนด์ ประมาณ 385 สาขา

ที่สำคัญ ทั้ง 3 ค่ายต่างพุ่งเป้าสร้างร้านแฟรนไชส์ เพื่อเร่งสปีดการปูพรม ซึ่งนั่นหมายถึงสมรภูมิจีสโตร์กำลังจะขยายแนวรบเปิดสงครามแฟรนไชส์อีกระลอกใหญ่!!

แฟรนไชส์โต 3 แสนล้าน รับตลาดคนตกงานพุ่ง

สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (Franchise & License Associate : FLA) คาดการณ์ปี 2563 ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะเติบโตต่อเนื่อง แม้เป็นการเติบโตแบบช้าๆ คิดมูลค่าเม็ดเงินสูงถึง 3 แสนล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง แต่ส่งผลดีต่อตลาดแฟรนไชส์ในประเทศ เพราะจากจำนวนคนตกงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 4 แสนคน และกลุ่มพนักงานประจำมีรายได้ต่อเดือนลดลง เกิดความต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างแตกไลน์ขายธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น เพื่อเร่งแผนขยายสาขา อาศัยจุดแข็งความเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จัก และมีเครือข่ายสนับสนุนกว้างขวาง ทำให้ตลาดมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์มาแรงและได้รับความนิยมยังเป็นกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา และธุรกิจแนวใหม่ที่ตอบโจทย์สังคมเมือง เช่น ธุรกิจสะดวกซัก “เวนดิ้ง แมชชีน”

หากดูสถิติจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยพบว่า ในปี 2562 จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 553 กิจการ โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนมากสุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มและไอศกรีม จำนวน 131 กิจการ

รองๆ ลงมา ได้แก่ กลุ่มอาหาร 127 กิจการ ธุรกิจการศึกษา 101 กิจการ ธุรกิจเบเกอรี่ 43 กิจการ ธุรกิจบริการ 39 กิจการ ธุรกิจค้าปลีก 36 กิจการ ธุรกิจแนะนำโอกาสทางธุรกิจ 30 กิจการ ธุรกิจด้านความงาม 23 กิจการ ธุรกิจงานพิมพ์ 14 กิจการ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ 7 กิจการ และธุรกิจหนังสือ วิดีโอ 2 กิจการ

ส่วนปี 2561 พบว่า จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์มีทั้งสิ้น 484 กิจการ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็น 19% โดยอันดับ 1 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหาร 114 กิจการ ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีมอยู่อันดับ 2 มีจำนวน 106 กิจการ ตามด้วยธุรกิจการศึกษา 89 กิจการ ธุรกิจบริการ 37 กิจการ ธุรกิจเบเกอรี่ 37 กิจการ

กลุ่มค้าปลีก 29 กิจการ กลุ่มโอกาสทางธุรกิจ 28 กิจการ ธุรกิจด้านความงาม 13 กิจการ ธุรกิจงานพิมพ์ 13 กิจการ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 6 กิจการ และหนังสือ วิดีโอ 2 กิจการ

จากตัวเลขสถิติยังพบว่า จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 19% นับตั้งแต่ปี 2548 จากธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีจำนวนเพียง 56 กิจการ ปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 65 กิจการ ปี 2550 จำนวน 73 กิจการ ปี 2551 จำนวน 92 กิจการ ปี 2552 จำนวน 115 กิจการ ปี 2553 จำนวน 147 กิจการ ปี 2554 จำนวน 170 กิจการ

ปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 206 กิจการ 2556 จำนวน 236 กิจการ ปี 2557 จำนวน 283 กิจการ, ปี 2558 จำนวน 323 กิจการ, ปี 2559 จำนวน 362 กิจการ, ปี 2560 จำนวน 427 กิจการ, ปี 2561 จำนวน 484 กิจการ และปี 2562 จำนวน 553 กิจการ

ทั้งหมดสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตหรือถดถอย ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแฟรนไชส์มากนัก และธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม-ไอศกรีม การศึกษา และเบเกอรี่ สามารถยึดครองตำแหน่งแฟรนไชส์ยอดนิยมสูงสุดมาตลอด

ใส่ความเห็น