วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 3, 2024
Home > Cover Story > เจียไต๋เร่งปลุกภาพลักษณ์ ย้ำปฐมบทอาณาจักรซีพี

เจียไต๋เร่งปลุกภาพลักษณ์ ย้ำปฐมบทอาณาจักรซีพี

อีก 2 ปี หรือปี 2564 “เจียไต๋” เจ้าตลาดเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศไทยจะฉลองใหญ่ในโอกาสดำเนินกิจการครบ 100 ปี โดยเฉพาะแผนปลุกภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้ในฐานะปฐมบทของ “กลุ่มตระกูลเจียรวนนท์” จนก่อร่างสร้างอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” มีรายได้จากธุรกิจทั้งหมดมากกว่า 5,527,711 ล้านบาท กำไร 420,000 ล้านบาท

ล่าสุด บริษัท เจียไต๋ จำกัด ประเดิมฉลองสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนสุขุมวิท สร้างแลนด์มาร์ก รับเทศกาลปีใหม่ โดยปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ลานหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ขนาด 400 ตารางเมตร เป็นสวนผักและดอกไม้เมืองหนาวกว่า 10,000 ต้น ที่ส่งตรงจากภาคเหนือมา เช่น กุหลาบพันปี ไซคาแมน บีโกเนีย เทียนนิวกินี พืชผักนานาชนิดจากสายพันธุ์ที่พัฒนาจากนวัตกรรมการเกษตร ได้แก่ ผักกะหล่ำ ผักกาดขาวปลี กวางตุ้ง มะเขือเทศเชอรี่ และคะน้า

เป้าหมายสำคัญไม่ใช่แค่การเปิดเกมรุกตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพท่ามกลางกระแสต่อต้านการบริโภคสินค้าปนเปื้อนสารเคมี แต่ยังต้องการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคในฐานะกิจการที่ถือเป็น DNA ของเครือซีพี ครอบคลุมตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีสำนักวิจัยและพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ 3 แห่ง มีสถานีวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช 3 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี และมีบริษัทสาขาอีก 6 แห่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย

มนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจผลิตผลพืชผักและผลไม้ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งล่าสุดเปิดตัวแบรนด์และสำนักงานเจียไต๋ประจำประเทศอินเดียที่เมืองเบงกาลูรู คัดเลือกสายพันธุ์และพัฒนากลุ่มพันธุ์ผักลูกผสม พร้อมจัดกิจกรรมฟีลด์เดย์ ณ คันนำมังคลา เมืองเบงกาลูรู พาตัวแทนจำหน่ายและเกษตรกรจากทั่วประเทศ เข้าชมแปลงสาธิตสายพันธุ์ เช่น มะเขือเทศ พริก แตงโม เมล่อน แตงกวา รวมถึงข้าวโพดหวานที่เป็นโครงการปรับปรุงพันธุ์ล่าสุดจากเจียไต๋

นอกจากนี้ เปิดตัวแบรนด์ใหม่ และสำนักงานเจียไต๋ประจำประเทศฟิลิปปินส์ในเขตแฟร์เลน เมืองตาร์ลัก เพื่อบุกตลาดใหม่ โดยจัดแปลงสาธิตโชว์สายพันธุ์ (Field Days) ในพื้นที่กว่า 3,000 ตร.ม. ที่สถานีบาลิบาโก เมืองตาร์ลัก มีสายพันธุ์กลุ่มเด่นๆ เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว แตงโม มะเขือเทศ และมะระ ซึ่งทนทานต่อศัตรูพืช โรคพืช และสภาพอากาศ

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป ณ หมุดแรกของเจียไต๋และเครือซีพีในปี 2464 เมื่อนายเจี่ย เอ็กชอ และนายเจี่ย เซี่ยวฮุย จับมือกันเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักชื่อ ‘เจียไต้จึง’ หรือ ‘เจียไต๋’ บนถนนทรงสวัสดิ์ (ทรงวาด) และขยายเมล็ดพันธุ์ตราเครื่องบิน สินค้าการเกษตรชนิดแรกที่มีการรับประกันคุณภาพ ก่อนเริ่มกิจการโรงงานอาหารสัตว์เเห่งเเรกจาก เครื่องบดเเละผสมอาหารในโรงจอดรถที่บ้านย่านตรอกจันทน์ ในปี 2496

กระทั่งปี 2507 นายธนินท์ เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 5 วัย 25 ปีของเจี่ย เอ็กชอ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไป ซึ่งธนินท์เดินหน้าขยายกิจการ บุกเบิกการใช้ไก่พันธุ์สายพันธุ์ Arbor Acres เริ่มใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนครั้งเเรกในประเทศไทยในปี 2513

จากนั้นอีก 3 ปี สร้างโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถนนบางนา-ตราด กม. 21 มีการริเริ่มการเลี้ยงไก่แบบครบวงจร และค้ำประกันรายได้ขั้นต่ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี

ปี 2519 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เพื่อเป็นบริษัทหลักในการบริหารกิจการ ที่ขยายออกไปทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน เครือซีพีมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นบริษัทแม่ ดำเนินกิจกรรมในลักษณะ Holding Company ถือหุ้นบริษัทในเครือฯ ทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยสามารถแบ่งประเภทธุรกิจเป็น 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 13 กลุ่มธุรกิจย่อย และมีการลงทุนในต่างประเทศมากกว่า 21 ประเทศ

ธุรกิจหลักอันดับแรก คือธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร มีบริษัทแกนหลัก คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และบริษัท เจียไต๋ จำกัด

ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่ายในประเทศไทย ยึดครอง 3 ธุรกิจหลัก คือ ค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ศูนย์จำหน่ายสินค้าส่งแม็คโคร ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ อาหารพร้อมรับประทานและอาหารสำเร็จรูป บริการการเงิน การศึกษา โลจิสติกส์ สารสนเทศ และสื่อการตลาด โดยมี 3 บริษัทหลัก คือ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี.พี. โลตัส คอร์ปอเรชั่น ให้บริการห้างค้าปลีกในประเทศจีน และชอปปิ้งมอลล์ ภายใต้ชื่อ “Lotus”

ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ได้แก่ ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอีก 4 ธุรกิจในเครือ ประกอบด้วย ทรูออนไลน์ บริการด้านอินเทอร์เน็ต ทรูมูฟเอช บริการด้านโทรศัพท์มือถือ ทรูวิชั่นส์ บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และทรูคอฟฟี่

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และบริการดิจิทัลโซลูชั่น รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย และบริการเทคโนโลยีด้านไอที ที่ปรึกษาธุรกิจและผู้ให้บริการตลาดกลาง การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Procurement) การประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) คลังความรู้และคลาวด์ ได้แก่ บริษัท ASCEND GROUP และบริษัท พันธวณิช

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท ซีพีแลนด์ จำกัด ครอบคลุมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้านเช่าและขาย การโรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ การบริหารงานทรัพยากรอาคาร และนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนในประเทศจีน มีบริษัท Shanghai Kinghill Limited พัฒนาศูนย์การค้าครบวงจร ‘Super Brand Mall’ และบริษัท Chia Tai Land Co., Ltd. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการที่ปรึกษา และการบริหารจัดการโครงการ

ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม โดยเครือซีพีร่วมดำเนินธุรกิจกับผู้ผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ได้แก่ บริษัท MG SALES (THAILAND) และบริษัท CPPC PUBLIC

ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มบริษัท ไซโนไบโอฟาร์มา จำกัด เป็นองค์กรด้านเวชภัณฑ์ และนวัตกรรมของประเทศจีน ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาและวิจัย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาประเภทต่างๆ เคมีภัณฑ์ ยาจีนและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ เน้นความร่วมมือกับสถาบันเภสัชกรรมทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ

สุดท้าย ธุรกิจการเงินและการธนาคาร ถือเป็นธุรกิจที่เครือซีพีเร่งขยายร่วมมือกับกลุ่มบริษัทชั้นนำ ด้านการธนาคาร การเงิน และประกันภัยแบบครบวงจรระดับนานาชาติ โดยในประเทศจีนมีกลุ่ม Ping An Insurance (Group) ประกอบด้วยธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจประกันภัย การธนาคาร และการลงทุน CITIC Group Corporation และ Zheng Xin Bank Company Limited ผู้ให้บริการด้านการเงิน และ ITOCHU Corporation ผู้จัดการการเงิน รวมถึงการลงทุนทางธุรกิจในญี่ปุ่นและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีกิจการร่วมค้า (joint-venture) กับบริษัทจากต่างประเทศ เช่น บริษัท ซีพี-เมจิ ธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม ร่วมกับเครือเมจิ แดรี่ ประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนด้านเกษตรกรรมในประเทศต่างๆ ลงทุนซื้อหุ้นในต่างประเทศ

และที่ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ คือการร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ. ช. การช่าง จัดตั้ง “บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” ลงนามสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี

แน่นอนว่า ระยะเวลากว่า 100 ปี จากร้านเมล็ดพันธุ์ผัก “เจียไต๋” สู่อาณาจักรธุรกิจอันใหญ่โต ย่อมหมายถึงเรื่องราวทางธุรกิจมากมายและตัวตนเจ้าของกิจการเกษตรขนาดใหญ่ที่สุดด้วย

นับถอยหลัง 100 ปี จากหมุดแรกถนนทรงวาด

บริษัท เจียไต๋ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2464 เริ่มต้นจากร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชบนถนนทรงวาด

ปี 2493 ลุยทำตลาดและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ตรา “เครื่องบิน” ซึ่งถือเป็นยานพาหนะที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น

ปี 2507 เดินหน้าจัดจำหน่ายปุ๋ยเคมีตรา “กระต่าย” และอีกหลายตรา เช่น ตราควาย ตรานกยูง ตรากระโจมไฟ

ปี 2510 ขยายไลน์รุกผลิตภัณฑ์บำรุงพันธุ์พืช ตรา “กระโจมไฟ” สื่อสะท้อนว่า ธุรกิจขณะนั้นกำลังต้องการแสงไฟส่องนำทาง

ปี 2511 แนะนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมให้เกษตรกรไทยเป็นครั้งแรก ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ผักกาดขาวปลี

ปี 2529 ก่อตั้งสถานีวิจัยแห่งแรกที่ จ. เชียงใหม่ เน้นการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผักลูกผสม

ปี 2531 ก่อตั้งสถานีวิจัยแห่งที่ 2 ชนม์เจริญฟาร์ม

ปี 2533-2537 แนะนำเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เข้าสู่ตลาดเกษตรกรไทย เช่น แตงกวาลูกผสม ผักกาดขาวปลีลูกผสม เมล็ดพันธุ์เมล่อนลูกผสม

ปี 2543 เปิดงานแสดงความก้าวหน้าทางการเกษตรที่ชนม์เจริญฟาร์ม เป็นจุดกำเนิด “เจียไต๋แฟร์”

ปี 2548 เปิดสำนักงานและโรงงานเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ ต. อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร ใช้เทคโนโลยีการผลิตและการควบคุมคุณภาพที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย

ปี 2561 ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ย่านสุขุมวิท 60

ใส่ความเห็น