วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ กับหมากตัวใหม่ของทรัมป์

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ กับหมากตัวใหม่ของทรัมป์

การฟาดฟันด้วยกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2561 ภายใต้การนำทัพของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 25% มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้จีนต้องตอบโต้กลับด้วยอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าที่เท่ากัน

การตอบโต้กันระหว่างสองประเทศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการพูดคุยเจรจาระหว่างสองผู้นำยามที่ต้องเข้าร่วมประชุมในระดับนานาชาติ แต่ดูเหมือนว่าการเจรจาในแต่ละครั้งจะให้ผลที่หาความแน่นอนไม่ได้

นโยบายการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หรือจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐฯ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายในช่วงหาเสียงของทรัมป์ ที่ต้องการสร้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศ ภายใต้แนวความคิดที่ว่า “America First” ด้วยหวังว่าผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในสหรัฐฯ

จากมาตรการดังกล่าวที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ ส่งผลให้มีผู้ประกอบการบางรายกำลังตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ ทว่าก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด นอกจากนี้ การขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ เป็นเพราะความต้องการที่จะสร้างสมดุลทางการค้า เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐฯ มีปัญหาการขาดดุลการค้า โดยทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์ยังคงดำเนินการสร้างกำแพงภาษีอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นเพราะความพยายามสร้างผลงานก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในศักราชหน้า

จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ รีดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าราว 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการโต้กลับของจีนด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่ารวม 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถึงจุดนี้ การรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ดูจะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความพยายามเจรจาเพื่อหาข้อยุติกรณีพิพาทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และสหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 325,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าสงครามการค้าจะเกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทว่าผลของมันกลับสร้างความเสียหายในวงกว้างที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสองประเทศนี้เท่านั้น และยิ่งสงครามยังยืดเยื้อต่อไปอย่างที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน ยากที่ใครจะตอบคำถามได้ว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

ท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้สงวนไว้ใช้กับภาครัฐของจีนเท่านั้น เมื่อล่าสุดสงครามการค้าที่ทรัมป์เปิดเกม ลุกลามขยายตัวไปสู่สงครามบนโลกเทคโนโลยีกับบริษัทเอกชนชื่อดังอย่างหัวเว่ย

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ” ที่ให้อำนาจเขาในการขึ้นบัญชีดำบริษัทต่างๆ “สร้างความเสี่ยงอย่างไม่อาจยอมรับได้แก่ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ” นี่คือการแผ้วถางทางให้แก่การสั่งห้ามบริษัทกิจการทั้งหลายของสหรัฐฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีของผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีนั่นเอง คำสั่งนี้ไม่ได้มีการระบุชื่อบริษัทหรือประเทศใดๆ แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังใช้ประกาศดังกล่าวเล่นงานบริษัทหัวเว่ย

นัยหนึ่งของการแบนหัวเว่ย คือการกดดันจีนให้ยินยอมในข้อตกลงเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ และหลังจากคำสั่งของทรัมป์มีผลบังคับใช้ กูเกิล บริษัทผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่งของโลก ตอบรับนโยบายดังกล่าวทันที ด้วยการระงับการอัปเดตระบบแอนดรอยด์บนโทรศัพท์มือถือหัวเว่ย

แม้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์จะออกมาแถลงว่าได้ระงับคำสั่งค้าขายระหว่างบริษัทสหรัฐฯ และหัวเว่ยชั่วคราว เป็นเวลา 90 วัน เพื่อป้องกันภาวะสะดุดฉับพลัน แต่ยังยืนยันตามคำสั่งเดิมของทรัมป์ว่า หัวเว่ยเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

ทั้งนี้ Ren Zhengfei ซีอีโอของหัวเว่ย ให้ความเห็นต่อการขยายเวลา 90 วันของสหรัฐฯ ว่า ไม่มีความหมายอะไร เมื่อหัวเว่ยเตรียมความพร้อมไว้แล้ว และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการแบนของสหรัฐฯ เมื่อหัวเว่ยได้พัฒนารุดหน้าไปไกลกว่านั้นอย่างน้อย 2-3 ปี ความเจริญก้าวหน้าของหัวเว่ยอาจเป็นเครื่องยืนยันว่า สหรัฐฯ กำลังวิตกกังวลว่า หัวเว่ยจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้จีนสามารถเข้าถึงข้อมูลหลังบ้านของประเทศคู่แข่งได้

แน่นอนว่าความแข็งกร้าวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนเท่านั้น เมื่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม จะส่งผลให้รถยนต์ที่ขายในสหรัฐฯ มีต้นทุนที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่าผู้ที่รับภาระหนักไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น ยังหมายรวมถึงผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ เพราะกว่า 90% ของเหล็กและอะลูมิเนียมที่โตโยต้าใช้สำหรับการผลิตรถยนต์นั้น มีการสั่งซื้อมาจากผู้ประกอบการในอเมริกา

กระนั้น บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เซลล์ ยูเอสเอ อิงค์ ในรัฐเทกซัส ออกแถลงการณ์ว่า การประกาศดังกล่าวเป็นการก้าวถอยหลังครั้งใหญ่สำหรับผู้บริโภคสหรัฐฯ แรงงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังชี้ให้เห็นว่า การจำกัดการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จะขัดขวางการสร้างงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค และผู้ที่ได้ผลกระทบมากที่สุดคือผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นในการซื้อรถยนต์”

ถึงเวลานี้ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะขยายผลของสงครามการค้าไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนล่าสุด ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรองเท้ากีฬาชั้นนำอย่าง ไนกี้ อาดิดาส และบริษัทเอกชนจำนวน 173 ราย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการทำสงครามการค้ากับจีน

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้ารองเท้าอยู่ที่ 11.3% แต่การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 25% จะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันอาจต้องจ่ายภาษีสำหรับรองเท้าเกือบ 100%

ซึ่งทรัมป์เคยทวิตข้อความถึงผู้ประกอบการว่า พวกเขาควรลดค่าใช้จ่ายโดยการโยกย้ายฐานการผลิตมาที่สหรัฐฯ ขณะที่ผู้ประกอบการเห็นต่างและบอกว่า การย้ายฐานการผลิตนั้นต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล และต้องใช้เวลาวางแผนนานสำหรับการตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิต

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า การประชุมผู้นำจี 20 ในเดือนหน้า จีนและสหรัฐฯ จะมีการหารือเพื่อยุติสงครามการค้านี้หรือไม่

แม้ว่าสงครามการค้าที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นของสองยักษ์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอยู่พอสมควร ทว่าประเด็นที่น่าสนใจต่อ หากสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อ และผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หมุดหมายอันดับหนึ่งของนักลงทุนน่าจะอยู่ที่เวียดนาม และอันดับสองคือไทย

การที่ไทยเป็นเบอร์สองรองจากเวียดนามน่าจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องจำนวนแรงงานที่สามารถรองรับการขยายตัวการลงทุนภาคอุตสาหกรรมได้ เมื่อดูจากตัวเลขการขยายตัวของการลงทุนในเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา มีการลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 81% และมีการลงทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 215% มากกว่า 2 เท่า และการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้น 28.8%

ท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนและนานาประเทศจะดำเนินไปอย่างไร และนโยบายต่างๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้จะถูกโต้กลับแบบไหนยังคงน่าติดตาม

ใส่ความเห็น