แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยจะจบและสิ้นสุดไปราวเดือนเศษ ทว่าความชัดเจนที่หลายฝ่ายตั้งตารอคอย ว่าใครจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ดูเหมือนคำตอบยังถูกหมอกควันปกคลุม และยังเป็นปริศนาอยู่ในขณะนี้
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่พอสมควร เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดความต่อเนื่อง และแนวนโยบายของภาครัฐที่มีต่อเศรษฐกิจ การลงทุน
แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งจะมีปัจจัยมาจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกประเทศที่มีผลโดยตรงต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน นั่นคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
เมื่อไทยยังต้องพึ่งพิงทิศทางของเศรษฐกิจโลก ที่มีจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นเสมือนผู้กำหนดทิศทางกระแสลมทางเศรษฐกิจ ทั้งจากมาตรการทางภาษีการค้าที่ทั้งสองประเทศยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการภาษีในบางช่วงหลังจากมีการประชุมเจรจาข้อตกลงกัน
ทว่า การค้าโลกก็ดำเนินไปในทิศทางที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของประเทศคู่ค้าลดลงและถึงขั้นติดลบ
โดยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ 21,440.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.6
ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ได้คาดไว้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยลดลง มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เมื่อตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (28 ประเทศ) และจีน ล้วนหดตัว ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นที่ยังมีการขยายตัวได้ดีร้อยละ 7.4 ในเดือนมีนาคม 2562 จากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและไก่แปรรูปเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ยอดขายคอมพิวเตอร์โลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 1/2562 มีส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยในเดือนมีนาคม 2562 ติดลบมากถึงร้อยละ (-) 20.0 นับเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 69 เดือน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอ่อนแรงของอุปสงค์คอมพิวเตอร์โลกตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกสินค้าของไทยในช่วงไตรมาส 2/2562 มีแนวโน้มที่จะทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังคงมีหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลจากราคาน้ำมันดิบที่ทะยานขึ้นมาอยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2/2561 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมขยายตัวสูง
กระนั้นยังได้ปรับประมาณการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมที่ร้อยละ 4.5 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเข้ามากระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยตลอดทั้งปี 2562 ขณะที่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังปรากฏความไม่แน่นอน แต่มีสัญญาณบวกถึงท่าทีประนีประนอมระหว่างสองชาติมากขึ้น น่าจะส่งเสริมให้บรรยากาศการค้าโลกครึ่งปีหลังดีขึ้น
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมที่จะปรับการคาดการณ์การส่งออกใหม่อีกครั้ง ซึ่งจากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัว 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ห้วงยามที่ผ่านมาการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมูลค่าส่งออกเฉลี่ยที่วางไว้คือ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
หอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดย สนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ประเมินสถานการณ์การส่งออกและปรับตัวเลขประมาณการลงมาอยู่ที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สถานการณ์การส่งออกที่กำลังดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าสินค้า ทำให้กรมการค้าระหว่างประเทศมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศ
และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ดูเหมือนจะเป็นความหวังของทั้งคณะทำงานจากภาครัฐและภาคเอกชน ว่านโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะนำพาให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น
เหตุจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงและติดลบในบางรายการ ส่งผลให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 3.8 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเติบโตได้ถึง 4.0 เปอร์เซ็นต์ เพราะปีนี้ไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น
เมื่อภาพรวมมูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ ติดลบ 1.6 เปอร์เซ็นต์ ด้าน ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพี และส่งออกของไทยในปี 62 ลงจากคาดการณ์เดิมนั้น เพราะผลจากปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศเป็นหลัก เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะขยายตัวเพิ่มเป็น 4.5-4.6 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งปีหลัง
หลังจากที่หลายฝ่ายเฝ้ารอการแก้ไขปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่าภาครัฐจะมีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือ ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นมาตรการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 13,200 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ 1. การเพิ่มเบี้ยผู้พิการ 200 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ย. 62 2. การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆ 3. การช่วยเหลือผู้ปกครองเรื่องค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษา และ 4. การช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 14.6 ล้านคน
กลุ่มที่สองเป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 1. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษา กีฬา 2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน 3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย 4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศ 5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง 6. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน e-Tax
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวที่ ครม. อนุมัติ มีเป้าประสงค์ว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้ 3.8 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็น 3.9 เปอร์เซ็นต์
นอกจากเรื่องการส่งออกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่ากังวล ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยต้องพบกับอุปสรรคและความท้าทายอีกครั้ง เมื่อผู้ประกอบการอาคารชุดปรับโหมดเข้าสู่ภาวะระมัดระวัง ด้วยการชะลอการเปิดโครงการใหม่
เมื่อมองเห็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความต้องการซื้อที่ถูกดูดซับไปมากแล้ว รวมไปถึงโครงการค้างขายที่มีเหลือในหลายระดับราคา ความไม่สมดุลระหว่างความสามารถในการซื้อและราคาขาย อีกทั้งกฎระเบียบ กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับแผนธุรกิจมากขึ้น
สัญญาณฟองสบู่อสังหาฯ โดยเฉพาะกับอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม เริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่ปลายปี 2561 เพราะกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ที่โหมกระพือในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการเร่งผุดคอนโดตามแนวรถไฟฟ้าจำนวนมากจนล้นความต้องการ
ทำให้ปีนี้ 2562 ผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับแผนชะลอตัวการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยแนวตั้ง และเตรียมรุกตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น อีกทั้งยังเบนเข็มออกนอกเมืองมากขึ้น เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้ามุ่งสู่ชานเมือง
สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จำนวนอาคารชุดเปิดขายทั้งปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 61,000-64,000 ยูนิต หรือหดตัวลงประมาณ 12-16 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2561 โดยเป็นการกลับมาชะลอตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560
เวลานี้ดูเหมือนว่า ภาคเอกชนคงต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่ พร้อมแผนรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เมื่อยังต้องคอยกันต่อไปว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือรัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายใดออกมาที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้