วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Cover Story > AI กุญแจสำคัญของธุรกิจ? ยุคอุตสาหกรรม 4.0

AI กุญแจสำคัญของธุรกิจ? ยุคอุตสาหกรรม 4.0

การขอปรับค่าแรงงานให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศเป็น 360 บาทต่อวัน จากปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 303-330 บาทต่อวัน ยังไม่สามารถอนุมัติได้ทันวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณา ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน และบางจังหวัดไม่ขอปรับขึ้นค่าแรง ด้วยเหตุผลที่ว่า สถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร แม้จะมีบางจังหวัดที่ไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทว่ายังมีจังหวัดที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยอัตราเพิ่มขึ้น 2-10 บาทต่อวัน

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า อาจไม่สามารถปรับได้ทันวันแรงงาน เหตุผลไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ดำเนินไปตามความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ให้ความเห็นเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า จะมีการนัดประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งช่วงกลางเดือนนี้เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง หลังจากที่ได้ข้อมูลจากอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจากทุกจังหวัดแล้ว

เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในด้านหนึ่งย่อมส่งผลดีต่อแรงงานไทย ที่จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการได้ปรับราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว ทว่าด้านผู้ว่าจ้างหรือผู้ประกอบการ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องดูปัจจัยแวดล้อมจากสถานการณ์เศรษฐกิจในระดับมหภาคด้วย

เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหมายถึงต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับ ท่ามกลางการถดถอยทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเวทีการค้าโลกยังไม่มีความแน่นอน ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หรือประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหภาพยุโรป

ไม่น่าแปลกใจ หากผู้ประกอบการยังไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องขอปรับค่าแรงขั้นต่ำในเวลานี้

นอกจากนี้ การจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในห้วงยามนี้ต้องพึงระลึกว่า ไทยกำลังเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมบนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC หากมีการอนุมัติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

เชื่อว่าเวลานี้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน คงกำลังขบคิดประเด็นการปรับขึ้นค่าแรง ทว่าอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องนำมาพิจารณา เพราะอาจส่งผลต่ออนาคตตลาดแรงงานไทย คือการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI

AI น่าจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางสังคมในหลายระนาบ โดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรม แม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมมานานหลายศตวรรษแล้วก็ตาม

ทว่าเวลานี้ปัญญาประดิษฐ์เริ่มจะมีความสำคัญ ชนิดที่เรียกได้ว่า กำลังเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในบางสายงาน และอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

แม้ว่าในบางอุตสาหกรรมจะมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมจากแรงงานมนุษย์ หากแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นล่าสุด มีความเป็นไปได้สูงว่า แรงงานมนุษย์อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในการควบคุม AI

ไม่นานมานี้บริษัทวิจัยอย่าง IDC เปิดเผยการคาดการณ์ว่า ตลาด Artificial Intelligence (AI) Systems จะมีมูลค่าสูงถึง 35,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ภายในปีนี้ ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2018 สูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ และอาจเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าตลาดรวม 79,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2022

ขณะที่อุตสาหกรรมที่จะลงทุนใน AI มากที่สุดคือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจธนาคารและการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจโรงพยาบาลและสาธารณสุข อุตสาหกรรมการแปรรูป และมีความเป็นไปได้ว่า หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจบริการ การศึกษา จะมีการนำเอาเทคโนโลยี AI ไปใช้งานมากขึ้น

มุมมองของศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย ต่อการมาถึงของ AI ว่า ปัญญาประดิษฐ์จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจทั่วโลก และ 72 เปอร์เซ็นต์ของซีอีโออาเซียนคาดการณ์ว่า การปฏิวัติของ AI จะสร้างแรงกระเพื่อมในโลกธุรกิจมากกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ต

ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจในอาเซียนเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มีการนำ AI เข้ามาใช้งานในปัจจุบัน 32 เปอร์เซ็นต์ มีการวางแผนที่จะนำ AI เข้ามาใช้งานภายใน 3 ปี ขณะที่ 28 เปอร์เซ็นต์ เริ่มมีการใช้งาน AI แต่ยังอยู่ในวงจำกัด และ 4 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้ AI อย่างกว้างขวางซึ่งเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

ช่วงที่ AI เริ่มมีบทบาทในโลกธุรกิจมากขึ้น หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ตลาดแรงงานกำลังพบเจอกับวิกฤต เพราะมีความเป็นไปได้ว่าหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ แต่ศิระ อินทรกำธรชัย เคยแสดงทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวว่า “การเข้ามาของ AI น่าจะเป็นไปในลักษณะเพื่อนร่วมงานที่มาสนับสนุนการทำงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานคนได้ใช้ทักษะในด้านอื่นมากขึ้น หมายความว่าเราต้องรู้จักวิธีที่จะสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันการศึกษาควรส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบุคลากรให้พร้อมก่อนถูกส่งออกไปสู่ตลาดแรงงาน”

ปลายปี 2018 สำนักข่าวซินหัว เปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI คนแรกของโลกที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและจีน และสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่ง AI ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

ทำให้เห็นว่า AI ไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานแต่ในเฉพาะอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเท่านั้น แต่การพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์อาจจะยังไม่มากพอที่จะเข้ามาแทรกแซงแรงงานมนุษย์ได้แบบปัจจุบันทันด่วน มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 10-20 ปี ที่ AI จะถูกพัฒนาและใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้จะมีความกังวลมากมายกับการมาถึงของ AI ในโลกปัจจุบัน และปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จก็ตามที ถึงอย่างนั้น “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์” ก็เกิดจากมนุษย์

ใส่ความเห็น