วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > วิบากกรรม เปรมชัย กรรณสูต วิบากกรรม อิตาเลียนไทย

วิบากกรรม เปรมชัย กรรณสูต วิบากกรรม อิตาเลียนไทย

อุบัติการณ์ของการเข้าจับกุมคณะพรานไพร โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งให้ชื่อของเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์

รวมถึงการโจษขานในโซเชียลมีเดีย ที่นำไปสู่การขุดคุ้ยค้นหาความเป็นมาและเป็นไปของชายร่างท้วมใหญ่ในวัย 63 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ครอบครองอาณาจักรธุรกิจมูลค่ากว่าแสนล้านรายนี้ไปโดยปริยาย

มิติมุมมองของการเสนอข่าวเปรมชัย กรรณสูต ในฐานะพรานไพรใจเหี้ยม ที่ปฏิบัติการพร่าผลาญทำร้ายชีวิตสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์ ในสังคมที่ตื่นกระแสแบบสังคมไทย ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อสังคมทุกรูปแบบ จนทำให้เรื่องราวความไม่ชอบมาพากลและเลวร้ายอื่นๆ ที่สังคมไทยได้บ่มเพาะไว้ก่อนหน้านี้ ถูกผลักให้จางหายจากความสนใจ และจะถูกลบเลือนประหนึ่งไม่เคยเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นว่าด้วย “นาฬิกา…เพื่อนให้ยืม” หรือแม้กระทั่ง “อาชีพไซด์ไลน์ ที่มีเครดิตดีในการยืมเงิน 300 ล้าน” ที่ล้วนแต่เป็นภาพสะท้อนความเหลวแหลกและอับจนทางศีลธรรม จริยธรรม ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ แต่ดูเหมือนว่าประเด็นการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายจะเข้ากันได้ดีกับห้วงอารมณ์ที่เปราะบางของสังคมไทย ที่พยายามสะท้อนภาพความเป็นผู้มีเมตตา และมาตรฐานความดีที่ไม่พร้อมให้ใครต้องตรวจสอบ

แม้ว่าความถูกผิดในทางคดีและความเป็นไปแห่งการกระทำของเปรมชัย กรรมสูต อาจต้องได้รับการพิสูจน์ต่อไปในอนาคต หากแต่หลายฝ่ายพยายามชี้ให้เห็นว่าเปรมชัย กรรณสูต คือ “มืออาชีพ” ที่ชื่นชอบและมีความสามารถในการล่า มิได้เป็นเพียงผู้นิยมไพรที่แสวงหาการพักผ่อนท่องเที่ยวในแบบ “สักครั้งในชีวิต” ที่ต้องมาเดินป่าก่อนชีวิตจะหาไม่ ในห้วงยามที่อายุอานามมากขึ้นเท่านั้น

ความเป็น “มืออาชีพ” ในฐานะพรานไพรผู้นิยมการล่าและสะสมซากสัตว์หายาก ได้รับการตอกย้ำด้วยภาพลับพิเศษ “เปรมชัย กรรณสูต กับหนังเสือโคร่ง” ภายในห้องทำงานสุดหรูที่บันทึกไว้โดยทีมภาพของนิตยสาร “ผู้จัดการ” เมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว

ภาพถ่าย “เปรมชัย กับหนังเสือโคร่ง” ในห้วงยามที่เปรมชัย กรรณสูต ยังมีสถานะเป็นผู้บริหารหนุ่มในวัย 36 ปี ที่กำลังเข้ามารับช่วงภารกิจหนักอึ้งจากผู้บุกเบิกรุ่นพ่อ ชัยยุทธ กรรณสูต อาจสะท้อนภาวะวิสัยที่เปรมชัยถูกผลักให้ต้องขึ้นขี่หลังเสือตามความประสงค์ของชัยยุทธ ผู้เป็นพ่อ และถือกุมบังเหียนอาณาจักรธุรกิจที่คนรุ่นพ่อได้สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะโดยเต็มใจ และด้วยความภาคภูมิใจหรือไม่ก็ตาม

หากแต่เมื่อวันเวลาผ่านไป และตัวเลขอายุของเปรมชัยดำเนินมาสู่วัย 63 ปี ภาพเก่าแห่งรอยอดีตที่ได้หวนย้อนกลับมาฉายซ้ำ และภาพใหม่ของการถูกควบคุมตัวภายในแคมป์ที่พักกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยซากสัตว์และอาวุธหลากหลาย ได้ส่งให้เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่รอบตัวเปรมชัย กรรณสูต ในวันนี้ ดำเนินไปท่ามกลางปฏิภาคของด้านตรงข้าม ระหว่างความภาคภูมิใจกับความเสื่อมทราม ความมีจริยธรรม กับการขาดสำนึก เป็นประหนึ่ง irony of life ที่ต้องเรียกว่าเป็นวิบากกรรมของเปรมชัย กรรณสูต โดยแท้

ในรายงานของนิตยสาร “ผู้จัดการ” ฉบับเดือนเมษายน 2536 เปรมชัย กรรณสูต เคยระบุว่าการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังการเรียนรู้และบ่มเพาะประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี เป็นประหนึ่งการขึ้นนั่งบนหลังเสือตัวใหญ่ที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่ในการดำรงชีพอยู่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น หากยังกำลังแผ่อาณาเขตออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งการขึ้นหลังเสือในครั้งนั้นทำให้เขาไม่สามารถโดดกระโจนลงมาได้ตราบจนวันนี้ เพราะหากลงจากหลังเสือเมื่อใดก็คงต้องหมายถึงการสิ้นสุดแห่งยุคสมัยของเขา ไปโดยปริยาย

แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่เปรมชัย กรรณสูต ขับเคลื่อนและนำพาอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD สู่ความจำเริญ รวมทั้งข้ามผ่านวิกฤตและช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537 ก่อนที่จะเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ทำให้ ITD ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้นานกว่า 5 ปี และพลิกฟื้นธุรกิจจนกลายมาเป็นบริษัทผู้ดำเนินงานโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรายใหญ่อันดับต้นๆ ในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในบริษัทผู้รับเหมางานด้านวิศวกรรมโยธาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หากแต่ภายใต้ข้อกำหนดตาม “บรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทย 2561” ที่ระบุให้เป็นประหนึ่งข้อพึงปฏิบัติ หรือ code of conduct ที่ใช้ครอบคลุมตั้งแต่กรรมการ ผู้บริหาร ฝ่ายจัดการ และพนักงานทุกระดับ เกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติที่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นคาดหวัง เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะในหมวดจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณ ในส่วนของข้อพึงปฏิบัติของผู้บริหาร ดูจะเป็นประเด็นและอาจเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เวลาของเปรมชัย กรรณสูต บนหลังเสือตัวใหญ่นี้ต้องหมดลงไป

เนื่องเพราะในหมวดจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณของผู้บริหาร ข้อที่ 1.6 ว่าด้วยบทบาทของผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม ระบุว่า (1) ไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม (2) คืนผลกำไรส่วนหนึ่งขององค์กรให้แก่กิจกรรมที่จะมีส่วนสร้างสรรค์สังคมอย่างสม่ำเสมอ (3) ปลูกฝังจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

(4) ปฏิบัติหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล (5) ไม่กระทำการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือยอมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ (6) ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืน หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ต่อหน่วยงานนั้น

จริงอยู่ที่ว่าประพฤติการณ์ของเปรมชัย กรรณสูต ที่ดำเนินไประหว่างที่เขาอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ผลบังคับทางกฎหมายหลากหลายข้อกล่าวหา ซึ่งคงเป็นเรื่องราวที่สังคมไทยจะได้ติดตามในมาตรฐานแห่งกฎหมาย และความสามารถในการค้นหาความจริงที่ย่อมไม่ใช่มายาคติหรืออุปทานหมู่ของการออกเสียงเชียร์แบบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมแห่งนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกกลบฝังและเลือนหายให้เป็นเพียงประหนึ่งสายลมที่พัดผ่าน

ประเด็นที่น่าสนใจระคนเสียดายจากการสังเกต “บรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทย 2561” ก็คือการละเว้นที่จะกำหนดบทลงโทษผู้บริหารในกรณีที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณที่อ้างถึงนี้ หากแต่กลับระบุชัดเจนถึงบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืนข้อกำหนดจริยธรรมและจรรยาบรรณในระดับพนักงาน โดยระบุว่าผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัย โดยเริ่มตั้งแต่ การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดเบี้ยเลี้ยง ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจให้ออกจากงาน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิดนั้น หรืออาจถูกลงโทษตามกฎหมาย แล้วแต่กรณี

สิ่งที่น่าเห็นใจสำหรับพนักงานอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ในห้วงยามนี้ จึงไม่ได้มีเพียงการส่งกำลังใจไปให้เปรมชัย กรรณสูต หัวเรือใหญ่ที่กำลังเผชิญวิบากกรรมอยู่ในขณะนี้เท่านั้น หากเพราะเสียงปืนปริศนาจากพรานไพรนิรนามที่ฆ่าผลาญและปลิดชีวิตสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กำลังสะเทือนมาถึงมาตรฐานทางจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ที่พนักงานอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ พึงมีในทางสาธารณะด้วย

มาตรฐานความเป็นมืออาชีพแห่งพรานไพรอาจชี้วัดด้วยจำนวนครั้งหรือความชำนาญการในการเดินป่า และความสามารถที่หลากหลายในการเลือกใช้อุปกรณ์สำหรับการฆ่าสังหาร หากแต่ความเป็นมืออาชีพของการเป็นผู้บริหาร และมาตรฐานสามัญของการเป็นมนุษย์ ย่อมมีดัชนีชี้วัดอยู่ที่ความรับผิดชอบที่พึงมีต่อทั้งองค์กรและสังคมส่วนรวม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ที่มีประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการชื่อ เปรมชัย กรรณสูต ตระหนักดีอยู่แล้ว

ใส่ความเห็น