ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (ซีอาร์จี) ออกมาเปิดกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ตั้งเป้า Transform from Operator to Innovator ขยายโหมดจากผู้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์ หรือ “แฟรนไชซี” สู่การเป็นเจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ร้านอาหารยักษ์ใหญ่ เพื่อเร่งปูพรมขยายสาขาทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นช่วงจังหวะแต่งตัวขยายพอร์ตธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมส่งออกทุกๆ แบรนด์ในเครือ เจาะตลาดอาเซียน หลังจากซุ่มศึกษาข้อมูลมานานหลายปี
ในเวลาเดียวกัน ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยังมีความต้องการสูงมาก หลายคนต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เปรียบเทียบจากปี 2560 ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีเครือข่ายมากกว่า 90,000-100,000 ราย เกิดใหม่วันละ 20 แห่ง มีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 850-900 บริษัท และมีมูลค่าเม็ดเงินสูงถึง 2 แสนล้านบาท
ปี 2561 มูลค่าเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2.2-2.3 แสนล้านบาท มีผู้สนใจขอข้อมูลแฟรนไชส์ 15,000-20,000 รายต่อปี และเป็นธุรกิจอาหารสัดส่วนมากสุดเกือบ 23% โดยตลาดมีอัตราเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10%
ที่สำคัญ กลุ่มฟู้ดเชนรายใหญ่ต่างกระโดดเข้ามาเจาะตลาดธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะหวังผลเรื่องการผุดสาขา การสร้างแบรนด์ และสาขาทั้งหมดสามารถเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อรองรับบริการเดลิเวอรี เพื่อปักหมุดครอบคลุมกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะรูปแบบร้านอาหารขนาดกลาง-เล็ก หรือโมบายยูนิต ซึ่งใช้งบลงทุนไม่สูงมาก หาทำเลได้ไม่ยาก สามารถดึงดูดพันธมิตรหรือผู้ร่วมลงทุนรุ่นใหม่ได้ตลอดเวลา
นายณัฐกล่าวว่า ซีอาร์จีถือเป็นแฟรนไชซีที่มีความชำนาญและสั่งสมประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี บริหารและจัดการธุรกิจร้านอาหารจนได้รับการยอมรับจากเจ้าของแฟรนไชส์ โดยมีแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่หลากหลายครอบคลุมเกือบทุกประเภทอาหาร รวม 11 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท เคเอฟซี อานตี้แอนส์ เปปเปอร์ลันช์ ชาบูตง โคลสโตนครีมเมอรี่ เดอะเทอเรส โยชิโนยะโอโตยะ เทนยะ คัตสึยะ และล่าสุดเปิดตัวอีก 2 แบรนด์ใหม่ คือ ร้านอาหารไทยตามสั่ง “อร่อยดี” และร้านสุกี้สไตล์คนรุ่นใหม่ “สุกี้เฮาส์” เจาะกลุ่มสตรีทฟู้ดและตลาดแมสมากขึ้น
ทั้งนี้ ซีอาร์จีวางแผนขายแฟรนไชส์ร้านอร่อยดีและสุกี้เฮาส์ เพื่อสร้างการรับรู้ในย่านชุมชน ศูนย์การค้าและเครือข่ายร้านค้าปลีกในกลุ่มเซ็นทรัล รวมถึงสถานีบริการน้ำมัน
ส่วนบิ๊กเชนรายอื่นๆ อย่าง “เซ็น คอร์ปอเรชั่น” ล่าสุดตั้งเป้าหมายในปี 2562 จะเปิดร้านอาหารในเครือเพิ่มอีก 123 สาขา จากปัจจุบันมีแล้วเกือบ 260 สาขา แบ่งเป็นร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง 36 สาขา และสาขาร้านแฟรนไชส์ 87 สาขา เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตที่ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทใน 5 ปี หรือปี 2566 โดยวางน้ำหนักให้ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นกลุ่มรายได้ที่เติบโตสูง พร้อมๆ กับธุรกิจร้านอาหารของกลุ่มทั้ง 12 แบรนด์
ที่สำคัญ เซ็นยังพลิกกลยุทธ์จากร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมรุกเข้าสู่ตลาดระดับกลาง โดยกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มี เซ็น มูชะ ซูชิชู อากะ เท็คซึ และ On the Table Tokyo Cafe ประเดิมหยิบร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน “มูชะ” เข้ามาเจาะกลุ่มสตรีทฟู้ดและเปิดขายสิทธิ์แฟรนไชส์ รวมถึงกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย ซึ่งมีอีก 6 แบรนด์ ได้แก่ ตำมั่ว ลาวญวน แจ่วฮ้อน ร้านเฝอ เดอ ตำมั่ว (de Tummour) และร้านอาหารตามสั่งแบรนด์น้องใหม่ “เขียง”
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN กล่าวว่า แบรนด์เขียงและมูชะมีรูปแบบสาขา Micro Format ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก เมนูอาหารไม่ซับซ้อน และใช้เงินลงทุนไม่สูง เฉลี่ย 2-2.5 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งง่ายต่อการขยายสาขาและขายสิทธิ์แฟรนไชส์ โดยล่าสุดร้านเขียงเปิดแล้ว 2 สาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาเจษฎาบดินทร์ จ.นนทบุรี และปั๊ม ปตท. เลียบด่วนรามอินทรา
ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเข้ามาบุกเบิกและยึดตลาดแฟรนไชส์กลุ่มร้านอาหารมาอย่างยาวนาน มีทั้งแบรนด์เชสเตอร์ กลุ่มห้าดาว และแบรนด์ใหม่ๆ เช่น ร้านเป็ดย่างเจ้าสัว ร้าน ก.ไก่อร่อย ร้านเครื่องดื่มชานมไข่มุกสูตรไต้หวัน “Crown Bubble” รวมทั้งเปิดตัว บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด เป็นผู้บริหารธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มในเครืออีกทาง เพื่อลุยขยายแบรนด์ใหม่ๆ เช่น ร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่ ร้านเบอร์เกอร์ OSCARS BURGER
ไม่นับรวมร้านอาหารที่เปิดตัวภายใต้โมเดล “ซีพีฟู้ดเวิลด์” และโครงการ Young Talent อีก 20-30 แบรนด์
แน่นอนว่า การบุกสมรภูมิแฟรนไชส์ของเหล่าบิ๊กฟู้ดเชนกำลังพลิกโฉมตลาดแฟรนไชส์ครั้งใหญ่ ทั้งในแง่เม็ดเงิน ความหลากหลาย ภาพลักษณ์และคุณภาพ รายไหนไม่เจ๋งจริง มีสิทธิ์ถอยกรูดแน่