วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนส่งออกไทยโตเป็นประวัติการณ์

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนส่งออกไทยโตเป็นประวัติการณ์

ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องประชาชน อันเนื่องมาจากสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงขึ้น ขณะที่อัตราค่าแรงยังคงอยู่ในระดับเดิม หากจะกล่าวว่าไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อก็คงไม่ผิดนัก แต่นั่นยังคงอยู่ในการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่รุนแรงมากนัก

ปัจจุบันสินค้าบางรายการเริ่มส่งสัญญาณการปรับราคาลดลง โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ประสบปัญหาอย่างหนักก่อนหน้า ขณะที่ข้อมูลล่าสุดพบว่าราคาหมูสดหน้าฟาร์มเริ่มปรับราคาลง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม

แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ประชาชนต้องระวังในการจับจ่าย ทว่า เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศกลับเติบโตสวนทางอย่างเห็นได้ชัด

การส่งออกในเดือนธันวาคมยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.7% และเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกหักทองคำและปรับฤดูกาลขยายตัว 4.2% จากเดือนพฤศจิกายน โดยมีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญและในทุกตลาดสำคัญจากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงท้ายปีจากหลายประเทศ โดยเฉพาะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวถึง 36.5% และออสเตรเลียที่ 54.9% ที่มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการส่งออกรายสินค้า รถยนต์และส่วนประกอบ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนของราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ภาพรวมของปี 2021 การส่งออกของไทยเติบโตได้ถึง 17.1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี (ตัวเลขในระบบศุลกากร) โดยแม้ว่าในบางช่วงจะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเพื่อควบคุมการระบาดทั้งในประเทศไทยเองและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน

รวมถึงปัญหาคอขวดอุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทั้งจากอานิสงส์ของปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของ Covid-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะพบว่า การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ในอัตราที่ต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เร่งตัวขึ้นมาเกาะกลุ่มได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกของไทยในช่วงท้ายปี 2021 ไปยังตลาดยุโรป จะเริ่มเห็นถึงสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการระบาดของโอมิครอนในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่บางประเทศได้เริ่มนำเอามาตรการปิดเมืองกลับมาใช้อีกครั้ง โดยยังคงต้องจับตาถึงผลกระทบของโอมิครอนในระยะต่อไป

นอกจากสินค้าส่งออกสำคัญที่กล่าวไปในข้างต้น ไทยยังคงส่งออกผลิตผลทางการเกษตรได้สูงขึ้นโดยเฉพาะในตลาดจีน ตัวเลขจากกรมศุลกากรต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี 2564 พบว่า ไทยส่งออกผลไม้ทั้ง 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง จำนวน 1,992,751 ตัน ติดเป็นมูลค่า 165,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.75% นับเป็นตัวเลขส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะทุเรียนที่สามารถส่งออกได้เกือบหนึ่งแสนตัน

ทั้งนี้ตลาดที่สำคัญของผักผลไม้ของไทยคือประเทศจีน ซึ่งไทยได้ส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ในจีนเพิ่มขึ้น จากสถิติเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี 2564 มูลค่าการส่งออกผักผลไม้รวม 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ผักและผลไม้ไทยครองส่วนแบ่งตลาดในจีนนอกเหนือจากความนิยมในผักผลไม้ของไทยแล้ว ยังมีเรื่องของความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ ความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนหรือ ACFTA ช่วยสร้างความได้เปรียบและขยายโอกาสทางการค้าให้ไทย เพราะจีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผักและผลไม้จากไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 จากเดิมที่เคยเก็บภาษี 10-30%

ไทยได้รับอานิสงส์การส่งออกจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมา แม้ว่าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลัง แต่การส่งออกกลับสร้างแรงบวกให้แก่จีดีพีของไทย

เศรษฐกิจจีนปี 64 ขยายตัว 8.1% การส่งออกทั้งปีเกินดุลการค้าสูงสุดตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 2493 โดยแตะระดับ 676 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวราว 29.1% เป็นการส่งออกขยายตัว 29.9% การนำเข้าขยายตัว 30.1%

ทั้งนี้ ไตรมาส 4/2564 เศรษฐกิจจีนโตที่ 4.0% เป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำสุดในรอบปี ส่วนหนึ่งเพราะฐานที่สูงในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากปัญหาหนี้และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนเติบโตอย่างจำกัด

ขณะที่ภาคการผลิตยังคงถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าวิกฤติพลังงานจะเริ่มคลี่คลาย สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังเติบโตได้ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมไฮเทค แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตชะลอตัว อันเป็นผลจากนโยบาย “สามเส้นแดง” ที่ออกมาเพื่อลดการก่อหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และการกำหนดสัดส่วนสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้กู้ซื้อบ้าน

อย่างไรก็ตาม จีนได้เลือกใช้นโยบายทางการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการปรับลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.5% สำหรับสถาบันทางการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 15 ธ.ค.64 โดยเป็นการปรับลดครั้งที่สองในปี 64 รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีสำหรับการกู้ 1 ปี ลง 0.05% สู่ระดับ 3.8% ในวันที่ 20 ธ.ค.64 ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ย LPR ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ประจำไตรมาส 4/2564 ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัว 6.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 5.5%

ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภครวมทั้งการที่ภาคธุรกิจเพิ่มเติมสต็อกสินค้าคงคลัง ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 6.3% ในไตรมาส 1 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิตซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ยอดขายรถยนต์ และตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อแรงบวกของการส่งออกในปีที่ผ่านมาสูงขึ้น หลายฝ่ายจึงประเมินและคาดการณ์กันว่าปี 2565 น่าจะเป็นอีกปีที่ภาคการส่งออกของไทยทำได้ดี เพราะมีปัจจัยบวกหลายด้านที่น่าจะเอื้ออำนวย กระนั้นก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาใกล้ชิดเช่นกัน

EIC ประเมินการส่งออกในปี 2022 เติบโตต่อเนื่องที่ 3.4% โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท

นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา โดยจากการคาดการณ์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) การเข้าร่วม RCEP จะทำให้ไทยเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตได้มากขึ้น ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าและการลดมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในปี 2022 ยังต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยกดดันและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ปัญหาคอขวด อุปทานที่อาจยาวนานขึ้นจากการระบาดของโอมิครอน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้อัตราค่าระวางเรือและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อัตราเงินเฟ้อโลกที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หรือยืดเยื้อกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของนโยบายการจัดการด้านพลังงานรวมถึงปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์.

ใส่ความเห็น