วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > “สถานีถัดไป” ของสยามสแควร์

“สถานีถัดไป” ของสยามสแควร์

 

ถ้าเปรียบเป็นคนวัย 50 ปีคงเป็นวัยเริ่มต้น การทำใจสู่การเกษียณอายุและยอมรับต่อ “ความเสื่อม” ทั้งหลาย แต่สำหรับ “สยามสแควร์” ดูเหมือนความขลังในการเป็นศูนย์รวมวัยรุ่นและศูนย์รวมธุรกิจยังไม่เคยเสื่อมคลาย กลับยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างหลัง จนต้องลุ้นว่า “สถานีหน้า” ณ ครึ่งศตวรรษใหม่ของสยามสแควร์จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

ใครไม่รู้จัก “สยามสแควร์” ยกมือขึ้น…เงียบ!

เคยมีคนกล่าวว่า คนกรุงเทพฯ ร่วมสมัยที่เกิด ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา โดยเฉพาะคนในวัย 40 ปีลงมาจนถึงวัย 14 ปี แทบทุกคนน่าจะเคยมีฉากตัวเอง กับสยามสแควร์อย่างน้อยสักครั้ง

“เด็กสยามฯ” บางคนยอมรับว่า แม้จะเบื่อสยามสแควร์แต่ก็ยังนิยมนัดพบปะเพื่อนฝูงที่นี่บ่อยๆ เพราะยังไม่เห็นว่าจะมีที่ไหนที่เป็นแหล่งวัยรุ่นแท้จริง ได้เหมือนที่นี่

ว่ากันว่า “สยามสแควร์” เป็นแหล่งเปิดกว้างให้วัยรุ่นได้แสดงออกอย่างอิสระมากที่สุดในประเทศไทย เป็นเสมือนโลกไร้กรอบที่พวกเขาสบายใจที่จะแสดงออกและค้นหาตัวตนของตัวเอง ที่นี่จึงได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงของวัยรุ่น” และเป็นเสมือนแหล่งพักพิงสำหรับเหล่าวัยรุ่น ก่อนที่พวกเขาจะไปเติบโตตามสถานที่ต่างๆ

สยามสแควร์เป็นศูนย์การค้าแนวราบเนื้อที่ 63 ไร่ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพระราม 1 ช่วงระหว่าง ถนนพญาไทและอังรีดูนังต์ (ระหว่างสี่แยกปทุมวันกับสามแยกเฉลิมเผ่า) เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินย่านปทุมวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันเหลือพื้นที่ราว 1,153 ไร่

สำหรับ “พื้นที่เขตพาณิชย์” หรือที่ดินสำหรับจัดหาผลประโยชน์เพื่อนำรายได้มาบำรุงการศึกษา มีอยู่ราว 385 ไร่ อยู่ภายใต้ความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (อ่านเพิ่มเติมใน “กรุมหาสมบัติในมือจุฬาฯ”) โดยสยามสแควร์ถือเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในแง่มูลค่าทางธุรกิจ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ และภาพลักษณ์การตลาด

“สืบสานพระราชปณิธานของ ร.6 ซึ่งได้พระราชทานที่ดินให้จุฬาฯ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้เอาที่ดินไปหาผลประโยชน์เพื่อนำเงินรายได้มาบำรุงการศึกษา มีพระราชกระแสรับสั่งชัดเจนเลย ผู้บริหารยุคก่อนก็เลยตอบสนองด้วยการจัดสรรพื้นที่ให้เอกชนไปลงทุน” รองอธิการบดีจุฬาฯ เกริ่น

ปฐมบทของสยามสแควร์เริ่มต้นหลังกองเพลิงที่ไหม้ชุมชนแออัดในพื้นที่ดังกล่าวดับลงในปี 2505 จุฬาฯ ให้บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย คอนสตรั๊คชั่น จำกัด รับช่วงก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่งเพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าแนวราบ ถือว่าเป็น Community Mall ยุคแรกๆ ของเมืองไทย

เอกลักษณ์ที่เป็นเสน่ห์ของสยามสแควร์อีกประการคือ การเป็นศูนย์การค้าแนวราบแบบเปิดโล่ง ภายใต้แนวคิดแรกเริ่มที่ต้องการให้สยามสแควร์เป็นแหล่งชอปปิ้งที่มีเส้นทางสัญจรส่วนใหญ่อยู่นอกอาคารและเดินทะลุถึงกันได้

นอกจากนิสิตจุฬาฯ ที่เป็นลูกค้ากลุ่มแรกของสยามสแควร์ ยังมีนักศึกษาและนักเรียนจากสถาบันที่ใกล้ๆ กันอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, สาธิต มศว.ปทุมวัน, สาธิตจุฬาฯ, มาแตร์เดอี, วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อ และหลายคนก็มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี

“ลูกคนรวย ดารา มาเดินสยามสแควร์กันเยอะ ลูกเจ้าของ โค้ก เป๊ปซี่ เดลินิวส์ ลูกอธิบดีกรมตำรวจ นับเป็นความโชคดีของ ผมที่ได้มาอยู่ในแหล่งไฮโซ อยู่ในสังคมที่ดี แล้วโชคดีมากที่ร้านผมอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกวดวิชา อ.เสาวนิตย์ ยุคนั้นดังมาก ดาราดังๆ มาเรียนทุกคน” เปี๊ยก ดีเจสยามยืนยัน

ไม่เพียงวัยเรียน สยามสแควร์ยังเป็นแหล่งพักผ่อนของวัยทำงาน เพราะที่นี่รายรอบด้วยอาคารสำนักงาน และย่านการค้าและศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญ เช่น ย่านสีลม ย่านการค้าเจริญผล ศูนย์การค้าราชดำริ ศูนย์การค้าราชประสงค์ ต่อมาไม่นานก็มีสยามเซ็นเตอร์ มาบุญครองเซ็นเตอร์ และเวิลด์เทรด (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านสยามสแควร์

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและศิลปินแห่งชาติกล่าวว่า “สยามสแควร์” ถือเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นย่าน การค้าที่ครอบคลุมพื้นที่ดินกว้างขวางที่สุดและอลังการที่สุดของเมืองไทยในช่วงนั้น โดยครูบาอาจารย์เคยคาดการณ์ว่าสยามสแควร์ จะทำให้ภาพลักษณ์ของย่านปทุมวันเปลี่ยนไป และทำให้ย่านการค้าหลักของกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่บริเวณนี้ ซึ่งก็เป็นจริงดังว่า

กลไกที่ทำให้สยามสแควร์กลายเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์คนเมืองรุ่นใหม่ในเวลารวดเร็ว คือการเปิดโรงหนัง 3 โรงในเครือเอเพกซ์ของตระกูล “ตันสัจจา” ได้แก่ โรงหนังสยาม, ลิโด้ และสกาล่า และการเปิดตัวโรงโบว์ลิ่งของตระกูล “เจริญรัชต์ภาคย์” ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้มาทำกิจกรรมที่นี่

ยุคแรก สยามสแควร์ยังมีภาพลักษณ์สถานที่ที่เปิดกว้างสำหรับวัยรุ่นและคนทั่วไป จนมาหลังปี 2520 ที่โรงเรียนกวดวิชาเริ่มเปิดตัวในสยามสแควร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าเซ้งไม่แพง และอยู่บนพื้นที่ของจุฬาฯ จากนั้นภาพลักษณ์ความเป็น “แหล่งวัยรุ่น” ของสยามสแควร์ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนถูกถ่ายทอดผ่านฉากและเนื้อหาในหนัง “สยามสแควร์” ซึ่งออกฉายในปี 2527

ความเป็น “จุดนัดพบของวัยรุ่น” ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนอีกครั้งเมื่อมีการสร้างโครงการ “Center Point” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมของวัยรุ่น

รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้บริหารสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ความสำเร็จสู่การเป็น “มหานครของวัยรุ่น” และเป็นย่านการค้าที่ทรงพลังเช่นทุกวันนี้ เกิดจากหลายปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม แต่ทั้งหมดอาจเรียกโดยรวมว่า “ความโชคดี” โดยมีผู้ประกอบการยุคแรกเป็นผู้บุกเบิกกรุยทางไว้ให้ 

ด้วยการบริหารที่แทบจะไม่มีการควบคุมอันใดจากจุฬาฯ แล้วปล่อยให้ผู้ประกอบการได้มีอิสระในการประกอบการค้า กลายเป็นความแตกต่างที่เป็นกลไกสำคัญทำให้สยามสแควร์เกิดการพัฒนาด้านความสร้างสรรค์ ความหลากหลาย และความยืดหยุ่น ในการปรับตัวให้ทันกับกระแสนิยมของสังคมรุ่นใหม่

สยามสแควร์จึงขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งชี้วัดกระแสนิยมและเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นหนุ่มสาวในเมือง ทั้งแฟชั่นการแต่งตัว ไลฟ์สไตล์การกินดื่ม ความสนใจและกิจกรรมอื่นๆ เทียบได้กับ “ฮาราจูกุ” ของญี่ปุ่น ยกตัวอย่างกระแสนิยมชานมไข่มุก, ตู้ถ่าย สติ๊กเกอร์ และแฟชั่นเกาะอก-สายเดี่ยว ก็เริ่มต้นระบาดจากที่นี่เป็นแห่งแรกในเมืองไทย

ไม่เพียงเช็กเทรนด์ สยามสแควร์ยังเป็นแหล่งที่หลายสินค้า และบริการมักพากันมาเช็กเรตติ้งแบรนด์ของตัวเองและเป็นแหล่ง แรกๆ ที่หลายแบรนด์เลือกมาประชาสัมพันธ์และเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ โดยเฉพาะสินค้าหรือบริการที่กลุ่มเป้าหมายเป็นคนเมืองรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง

สยามสแควร์จึงได้ชื่อว่าเป็นสนามทดสอบสินค้าและบริการ รวมถึงกิจกรรมการตลาดที่เข้มข้นที่สุด โดยเฉพาะสินค้าและบริการ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนเมืองรุ่นใหม่ ว่ากันว่าเสียงตอบรับของกลุ่มตัวอย่างที่นี่สามารถพยากรณ์ได้ว่าสินค้าหรือแบรนด์นั้นจะเกิดหรือดับได้ค่อนข้างแม่นยำ

อีกความโชคดีที่ทำให้สยามสแควร์เฟื่องฟูมาถึงวันนี้ คือความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่สำคัญมาก 2 ประการ คือการกำเนิด ศูนย์การค้าใหญ่โดยรอบ และการก่อสร้างชุมทางสถานีรถไฟฟ้าที่ด้านหน้าสยามสแควร์

ผู้บริหารสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ คาดว่า ด้วยทำเลที่เป็นสถานีชุมทาง สยามสแควร์น่าจะมีการสัญจรเข้าออก (traffic) วันละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน (ครั้ง) เชื่อกันว่าย่านการค้า นี้น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดปีละหลายแสนล้านบาท

และด้วยขนาดประชากรและขนาดเศรษฐกิจเช่นนี้ที่ทำให้สยามสแควร์กลายเป็น “ชุมทาง” ของความหลากหลายที่มาบรรจบ กัน ทั้งในแง่ชนิดของสินค้าและบริการ, แบรนด์ (ตั้งแต่แบรนด์ เนม แบรนด์ไทย ไม่มีแบรนด์ และของปลอม), รสนิยม และราคา

พลังทางการตลาดและอำนาจทางเศรษฐกิจทำให้ชื่อของ “สยามสแควร์” ก้าวข้ามความเป็นศูนย์การค้าไปสู่ความเป็น “แบรนด์สถานที่” ที่หวังผลในเชิงธุรกิจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทั้งแบรนด์ ไทยและแบรนด์เทศอยากเข้ามาปักธงธุรกิจที่นี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้การเข้ามาขอใช้ประโยชน์ในสยามสแควร์ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก

“จากที่เคยเป็นยุคของคนที่มีเงินหลักหมื่นหลักแสนก็เปิดร้านในสยามสแควร์ได้ มาวันนี้มันไม่ใช่แล้ว ต้องมีเงินเป็นสิบล้าน เพราะทุกอย่างมันแพงหมด เป็นเรื่องของนายทุนไปหมดแล้ว คุณอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป เพราะยังมีคนอีกมากที่สนใจมาอยู่ที่นี่” เปี๊ยก ดีเจสยาม เปรย

“ดีเจสยาม” เป็นอีกร้านที่อยู่คู่สยามสแควร์มากว่า 20 ปี ซึ่งทุกวันนี้ ตึกแถวของเขาถูกเวนคืน เขาต้องอาศัยบูธเล็กๆ เปิดเป็นร้านชั่วคราว โดยที่เจ้าตัวก็ไม่แน่ใจว่าหลังจากตึกใหม่แล้วเสร็จ เขาจะมีโอกาสได้เปิดร้านที่นี่อีกครั้งหรือไม่

ไม่เพียงค่าเช่าพื้นที่ในตึกแถว สยามสแควร์ยังสามารถหารายได้จากค่าเช่าได้จากแทบทุกพื้นที่ตั้งแต่ทางเท้า พื้นถนน หลังคา ตึก ม้านั่งริมทาง เสาไฟฟ้า ถังขยะ เสาอาคาร จอโทรทัศน์ข้างตึก จอบนหลังคาตึก ฯลฯ ก็ยังสามารถเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ในการติดป้ายโฆษณาสินค้าได้

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าค่าเช่าและค่าเซ้งร้านที่สยามสแควร์จะแพง เท่าไร ทว่าก็ยังคงมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ปรารถนาจะเข้ามาประกอบการค้าที่นี่อยู่ตลอดเวลา

ว่ากันว่าเป็นเพราะสยามสแควร์มีมนต์ขลังในความเป็นพื้นที่ แห่งโอกาสสำหรับชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีไฟสร้างสรรค์ (Young Generation) ในการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างแบรนด์ใหม่ๆ และเป็นดินแดนแห่งโอกาสทางการค้าอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการเป็นบันไดก้าวไปสู่ตลาดที่กว้างกว่า

“สยามสแควร์ก็เหมือนเมืองไทยที่เจริญมาได้ก็เพราะผู้ประกอบการทำกันเอง โดยที่รัฐบาลไม่ค่อยได้ช่วยเท่าไร แต่ถ้าเอกชนดี และรัฐก็ดี มันก็จะยิ่งส่งเสริมกัน ฉะนั้นสำนักงานฯ ถึงได้พยายามให้ความสำคัญกับการเสริมการจัดการเข้าไปในสยาม สแควร์”รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศกล่าว

ก้าวย่างแห่งความพยายามในการบริหารจัดการสยาม สแควร์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่เป็นก้าวใหญ่และเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดน่าจะเริ่มต้นจากแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ (Master Plan) ปี 2547 ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้สยามสแควร์ทั้งหมด 63 ไร่ กลายเป็น Walking Street Mall แห่งแรกของเมืองไทย

ประกอบกับพระราชบัญญัติจุฬาฯ ปี 2551 ที่เปิดโอกาสในการประกอบธุรกิจของจุฬาฯ ได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อนำเงินรายได้มาใช้ในการสนับสนุนการศึกษาหลังจากออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยแล้ว ช่วงหลังจึงมีความเคลื่อนไหวในการแปรสภาพทางกายภาพของสยามสแควร์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการรื้อถอนตึกแถวบางส่วนเพื่อสร้างอาคารแบบอื่นๆ ทดแทน และกรรมสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นกลุ่มทุนเริ่มเข้ามาครอบครองพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเข้ามา ของบริษัทในกลุ่ม“เบียร์ช้าง” นับเป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจน (อ่านเพิ่มเติมใน “ดิจิตอล เกตเวย์” ประตูสู่สยามสแควร์ของ “เจริญ”)

นอกจากนี้ยังมีโครงการ “บล็อกแอล” เป็นพื้นที่ตรงข้ามโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ ซึ่งสำนักงานฯ ได้พัฒนาเองด้วยเงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท โดยเวนคืนที่ดินร้านแคนตั้นสุกี้ที่อยู่กับสยามสแควร์มากว่า 20 ปี เพื่อก่อสร้าง “อาคารสยามกิตติ์” สูง 30 ชั้น ประกอบด้วยพื้นที่ศูนย์การค้า โรงเรียนกวดวิชา, โรงแรม 3 ดาวครึ่ง และพื้นที่จอดรถ แล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 2553 โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เป็นผู้บริหารเอง

อีกโครงการที่กำลังก่อสร้าง ตามแผนจะแล้วเสร็จปลายปีหน้าคือ โครงการ “Siam Square One (SQ1)” บนพื้นที่โรงหนัง สยามเดิม ซึ่งถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของสยามสแควร์ โดยจะสร้างเป็นศูนย์การค้าแบบเปิดสูง 7 ชั้น ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งจุฬาฯ ลงทุนและจะบริหารเอง

มีการคาดกันว่าหลังโครงการ SQ1 เสร็จสิ้น หลายฝ่ายเริ่ม เป็นห่วงว่าการพัฒนาโครงการค้าปลีกเฟสต่อๆ ไปอาจจะเกิดขึ้นบริเวณโรงหนังลิโด้ ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าในปี 2556 และถัดจากนั้นจะเป็นบริเวณโรงหนังสกาล่าที่จะหมดสัญญาในปี 2559 โดยผู้บริหารจากจุฬาฯ ยืนยันว่า ณ ปัจจุบันยังไม่ได้ออกแบบมาว่าโครงการจะมีลักษณะอย่างไร

“ภาพของสยามสแควร์ตามแผนแม่บทฯ ที่วางไว้ โซนตรงกลางจะไม่เปลี่ยนมาก ส่วนโซนโรงหนังสยามเดิมและโรงหนังลิโด้ จะสูงขึ้นอีกนิด จาก 4 ชั้นเป็น 5-6 ชั้น โซนที่จะเป็นอาคารสูงคือ ถนนทั้ง 2 ด้าน คือฝั่งอังรีดูนังต์และพญาไท มาถึงวันนี้คิดว่าแผน แม่บทฯ เพิ่งสำเร็จไปแค่ 20% เท่านั้นเอง”

สำหรับสาเหตุในการปรับโฉมสยามสแควร์ ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ อธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้าง อาคารเดิมเริ่มทรุดโทรม แต่อีกส่วนที่สำคัญคือเพื่อเตรียมรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว และกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งจะกลายเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของย่านการค้าแห่งนี้

ขณะที่วัยรุ่นสยามสแควร์หลายคนเริ่มเกรงว่าภายหลังการดำเนินตามแผนแม่บทฯ ไปจนเกินครึ่ง หรือจนเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว สยามสแควร์อาจไม่หลงเหลือเสน่ห์แบบเดิม ไม่หลงเหลือสิ่งก่อสร้างที่เป็นตำนาน และอาจไม่เหลือแม้แต่ความเป็นศูนย์การค้า แนวราบที่มีทางเดินและลานเปิดโล่งอีกต่อไป

“ผู้ใหญ่” ที่เติบโตจากสยามสแควร์บางคนเริ่มห่วงความสมดุลและความสง่างามในการวางนโยบายบริหารและจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ โดยหนึ่งในนั้นคือ พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ผู้แต่ง หนังสือ การเมืองเรื่องสยามสแควร์

พรรษิษฐ์มองว่าเพราะสยามสแควร์เป็นโมเดลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐที่เป็นเจ้าของที่ดินกับภาคเอกชนซึ่งมีทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไปจนถึงผู้ค้า ขนาดย่อม ตลอดจนภาคสังคมซึ่งล้วนมีส่วนของความเป็นเจ้าของ ในสาธารณสถานแห่งนี้ ดังนั้นในการบริหารจัดการพื้นที่ของจุฬาฯ จึงควรมีความเป็นธรรม

ในฐานะที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสยามสแควร์มาตลอด เปี๊ยก ดีเจสยาม มองว่าช่วงนี้สยามสแควร์อาจอยู่ในช่วงฟักตัว  เพื่อรอกลับมาใหม่ในลุคที่เป็น “จินตนาการใหม่” ของวัยรุ่นยุคใหม่ อาจจะถูกใจใครหรือไม่ ก็คงต้องทำใจและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป เหมือนกับเขาที่มักปลอบตัวเองว่า “ธุรกิจก็คือธุรกิจ”

ภายใต้ความเข้มข้นในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ “โฉมหน้า” ของสยามสแควร์ในครึ่งศตวรรษหน้าจะเป็นอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่คนรักสยามสแควร์คงต้องรอลุ้นกันต่อไป

 

ที่มาของชื่อ “สยามสแควร์”

กระแสแรกนำโดยผู้บริหารโรงหนังเครือเอเพกซ์ เจ้าของโรงหนังสยาม, ลิโด้ และสกาล่า เชื่อว่าที่มาของชื่อ “สยามสแควร์” น่าจะมาจากคอลัมน์ซุบซิบของ “พอใจ ชัยเวฬุ” ในสูจิบัตรรายเดือนของบริษัทสยามมหรสพ ตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งทำแจกให้กับผู้ที่มาดูหนังในโรงหนังเฉลิมไทย, สยาม, ลิโด้ และสกาล่า รวมถึงคนทั่วไปด้วย โดยเจ้าของคอลัมน์มักใช้ชื่อ “สยามสแควร์” เรียกแทนโรงหนังทั้ง 3 ได้แก่ สยาม ลิโด้ และสกาล่า จนกระทั่งชื่อนี้ติดปากและกินความหมายครอบคลุมทั้งย่านศูนย์การค้ามาจนถึงวันนี้ อีกกระแสกล่าวโดย รศ.น.อ.นพ. เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่าชื่อนี้ได้มาจาก “กอบชัย ซอโสตถิกุล” ประธานบริษัท เซาท์อีสท์เอชีย คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างสยามสแควร์ เปลี่ยนมาจากชื่อ “ปทุมวันสแควร์” เพราะมองว่า “ปทุมวัน” เป็นเพียงชื่อเขต แต่ “สยาม” หมายถึงประเทศไทย ซึ่งกินความหมายกว้างกว่า

 

“Center point”

โครงการ Center Point สร้างขึ้นในปี 2541 แล้วเสร็จปี 2542 เพื่อใช้เป็นจุดขายใหม่ของสยามสแควร์ โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ให้บริษัท พรไพลิน จำกัด พัฒนาลานกว้างประมาณ 1ไร่เศษ บริเวณระหว่างซอย 3 และ 4 ซึ่งเคยใช้เป็นลานจอดรถและลานรวบรวมขยะ ให้กลายเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของวัยรุ่น พร้อมกับมีลานกลางแจ้งเพื่อกิจกรรมและการค้า และมี “อินดี้อินทาวน์” ที่เป็นการเปิดพื้นที่ฟรีให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้ขายไอเดียผ่านสินค้าของทำมือหารายได้

เนื่องจากบริษัท พรไพลิน หมดสัญญาในการเช่าพื้นที่ Center Point กลางปี 2550 และต้องปิดโครงการลงปลายปีเดียวกัน ต่อมาพื้นที่ Center Point จึงถูกบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ประมูลได้ไป จึงกลายมาเป็น “ดิจิตอล เกตเวย์ (Digital Gateway)” เช่นทุกวันนี้

 

Siam Square One (SQ1)

หลังจากบริเวณโรงหนังสยามถูกเผาเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี 2553 ซึ่งเผอิญเป็นช่วงเวลาที่โรงหนังสยามจวนจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่อยู่แล้ว ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จึงได้นำพื้นที่คืนมา เพราะเล็งเห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นทำเลที่ดีที่สุดของสยามสแควร์ เพื่อพัฒนาเป็นอาคารศูนย์การค้าขนาด 7 ชั้น เนื้อที่ 8 ไร่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ศูนย์การค้าช้อปปิ้งสตรีท” แบบเปิด (Urban Shopping Streets)พร้อมพื้นที่ลานเปิดโล่งสำหรับกิจกรรมอย่างงานเปิดตัว งานแสดงสินค้าแฟชั่นโชว์ และเวทีคอนเสิร์ต

โครงการ SQ1 จะเป็นโครงการที่รวมสินค้าและบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นและหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยมีทั้งแฟชั่นเสื้อผ้า ร้านอาหาร ศูนย์สุขภาพและความงาม รวมถึง เพลย์เฮาส์ (โรงละครที่มีขนาดเล็กกว่าโอเปร่าเฮาส์) ขนาด 850 ที่นั่ง ไว้ให้บริการ

ทั้งนี้ จุฬาฯ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 1,800 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2556 โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จะดำเนินการบริหารเอง