วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > “สหพัฒน์” ปูพรม “ซูรูฮะ” ลุยบิ๊กโปรเจกต์ “เจพาร์ค”

“สหพัฒน์” ปูพรม “ซูรูฮะ” ลุยบิ๊กโปรเจกต์ “เจพาร์ค”

ซูรูฮะเตรียมเปิดสาขาโมเดลต้นแบบญี่ปุ่นขนาด 900 ตร.ม. ที่สวนอุตสาหกรรมศรีราชา เพื่อนำร่องรองรับบิ๊กโปรเจกต์ “เจพาร์ค” ของเครือสหพัฒน์

“อิราไชมาเสะ..”
 
คำทักทายต้อนรับลูกค้าของพนักงานหน้าร้านน่าจะเป็นจุดขายอย่างแรกนับตั้งแต่ก้าวเข้ามาใช้บริการในร้านซูรูฮะ และลึกๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำจุดยืนและแผนการใหญ่ของเครือสหพัฒน์ในการพัฒนาช่องทางค้าปลีก โดยเลือกกลุ่มทุนญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นและผูกพันกันมาตั้งแต่ยุคการร่วมทุนกับไลอ้อน คอร์ปอเรชั่น เมื่อ 40 ปีก่อน
 
การจับมือกับ “ลอว์สัน” คอนวีเนียนสโตร์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ยกเครื่องธุรกิจร้านสะดวกซื้อจาก “108 ช็อป” เป็น ”ลอว์สัน 108” ดึง “ซูมิโตโม่ กรุ๊ป” ตั้งบริษัท ช้อปโกบอล (ประเทศไทย) เพื่อรุกธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง และการร่วมทุนกับบริษัท ซูรูฮะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดร้านดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ จึงถือเป็นแผนดำเนินงานต่อเนื่องที่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ดร.กิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น (Waseda University) ผู้เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจเกือบทุกรูปแบบของญี่ปุ่น วางไว้เพื่อแก้โจทย์การตลาดในไทย การขยายช่องทางการกระจายสินค้าและเปิดหน้าร้านที่มีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดดรักสโตร์ หรือร้านขายยาและสินค้าสุขภาพอยู่ในจังหวะเติบโตต่อเนื่อง เฉพาะตลาดยามีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท แม้ช่องทางโรงพยาบาลยังยึดกุมสัดส่วนถึง 70% แต่ช่องทางร้านขายยาขยายตัวอย่างรวดเร็วและเติบโตมากกว่าช่องทางโรงพยาบาล

ไม่รวมกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้ากลุ่มความงาม ทั้งเครื่องสำอาง สกินแคร์ เครื่องใช้ส่วนตัว แบรนด์ชั้นนำต่างเข้ามาเจาะช่องทางดรักสโตร์แนวใหม่รับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนออกมาชัดเจนจากจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดรักสโตร์ในกลุ่มโมเดิร์นเทรด จนทำให้สองค่ายหน้าเก่า ทั้ง “วัตสัน” และ “บู๊ทส์” ต้องเร่งปรับกลยุทธ์สกัดคู่แข่งแจ้งเกิดเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งยอดขาย
 
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เซ็นทรัล วัตสัน จำกัด เพิ่งปรับโฉมร้านภายใต้แนวคิด “วัตสัน ให้คุณสวย ดูดี ได้ไม่รู้จบ” (Look Good Feel  Great) และวางแผนปี 2556 ใช้งบลงทุน 350 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่ม 50 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขารวม 255 สาขา โดยถือเป็นการขยายสาขาต่อปีมากที่สุด นอกจากนี้ เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ของแบรนด์  “วัตสัน” อีก 100 รายการ เน้นกลุ่มสกินแคร์ เพอร์ซันนัลแคร์ และกลุ่มดูแลเส้นผม เพิ่มยอดสมาชิกบัตรวัตสันครบ 1.6 ล้านรายภายในสิ้นปี
 
ขณะที่ “บู๊ทส์” บริษัทแม่จากประเทศอังกฤษสั่งปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “Feel Good Together” เพื่อตอกย้ำการเป็นร้านค้าปลีกสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่ทันสมัย เร่งขยายสาขาปีละ 30 แห่ง ปรับโฉมสาขาเดิม โดยเฉพาะสาขาในเขตชุมชน แหล่งนักท่องเที่ยวเน้นพื้นที่ใหญ่ขึ้น เช่น สาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์ ดิเอ็มโพเรียม และชูจุดแข็งเรื่องคุณภาพสินค้ากลุ่มบิวตี้ สกินแคร์ ซึ่งมีโรงงานผลิตที่ประเทศอังกฤษ มีสถาบันวิจัย เดอะ รอยัล โบทานิคส์ การ์เด้นส์ คิว ร่วมค้นคว้านำส่วนผสมของพันธุ์ไม้ธรรมชาติจากประเทศต่างๆ เช่น ชิลี เบลเยียม บูร์กิโนฟาโซในแอฟริกาตะวันตก จีน สกัดเป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลผิวที่สกัดจากธรรมชาติ เพราะสินค้ากลุ่มนี้สร้างยอดขายเติบโตสูงมากไม่ต่ำกว่า 35%
 
ส่วนรายใหม่ๆ มีการวางกลยุทธ์ ทั้งการปูพรมสาขาและอัดกลยุทธ์การตลาด เช่น “เพรียว” ของค่ายบิ๊กซี เน้นขยายสาขาไปพร้อมๆ กับบิ๊กซี ล่าสุดมีสาขามากกว่า 90 สาขา และเตรียมขยายสาขาสแตนอะโลน, “เอ็กซ์ต้า” ในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งสามารถขยายหน้าร้านได้ทันทีไม่ต่ำกว่า 200-300 สาขา รวมถึงหน้าใหม่อย่าง “ซูรูฮะ” ที่ถือเป็นดรักสโตร์สายพันธุ์ญี่ปุ่นเจ้าแรกในไทย

นอกจากนี้  กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์หรือบีเจซีของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” กำลังซุ่มจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าสุขภาพและความงาม เพื่อเปิดร้านขายยาและสุขภาพแบรนด์ใหม่ ในรูปแบบของการซื้อโนว์ฮาวจากญี่ปุ่นและปั้นแบรนด์ของบริษัทเอง คือ “โอเกงกิ” ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “สบายดี” โดยตั้งเป้าหมายแข่งขันกับ “ซูรูฮะ” ทั้งสไตล์การจัดร้านและสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น
 
อย่างไรก็ตาม  ต้องถือว่า “ซูรูฮะ” เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าสุขภาพครบวงจรอายุเก่าแก่กว่า 80 ปี  สินค้าในเครือข่ายมีทั้งยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และของใช้ในครัวเรือน ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1929 ที่เมืองอาซาฮิคาวะบนเกาะฮอกไกโด จากร้านขายยาเล็กๆ แห่งเดียวในเมือง ขยายสาขาครบ 100 แห่ง ในปี ค.ศ. 1989 เปลี่ยนชื่อจาก “ซูรูฮะ ยะคุชิโด” เป็น “ซูรูฮะ” และย้ายสำนักงานใหญ่มาที่เมืองซัปโปโร

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1995 บริษัทตกลงร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทอิออน (Aeon) และนำหุ้นเข้าขายในตลาดหลักทรัพย์ โตเกียว

ปัจจุบัน ซูรูฮะโฮลดิงส์  เป็นบริษัทขนาดใหญ่ติดอันดับ 3 ในธุรกิจดรักสโตร์ของญี่ปุ่น มีจำนวนร้านค้า 1,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีร้านดรักสโตร์ในเชนทั้งสิ้น 5 แบรนด์ ได้แก่ Sakura Drugs, Kusuri No Fukutaro, Tsuruha Drugs, Wellness และ Tsuruha Catalogs  จำหน่ายสินค้ามากกว่า 30,000 รายการ  แบ่งเป็นหมวดยาและเวชภัณฑ์ (Pharmacy), เครื่องสำอาง (Cosmetics), ของใช้ภายในบ้าน (Household), ขนมและเครื่องดื่ม (Snacks & Beverage)  และสินค้าเฮาส์แบรนด์ “M’s one”  เช่น น้ำแร่ เฟสมาสก์  กระดาษทิชชู สำลี น้ำยาล้างจาน อีกกว่า 1,000 รายการ

แน่นอนว่า การจับมือของยักษ์ใหญ่ในวงการไม่ได้จำกัดเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อเติบโต

ซูรูฮะโฮลดิงส์ต้องการขยายตลาดต่างประเทศ เพื่อทดแทนตลาดญี่ปุ่นที่เริ่มอิ่มตัวในแง่ตลาดสินค้าญี่ปุ่นและมองการปักธงตลาดใหม่ที่อาเซียนในโอกาสเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อขยายสาขาทั่วภูมิภาคไม่ต่ำกว่า  1,500 สาขา ขณะที่สหพัฒน์ต้องการใช้เครือข่ายสาขาทั้ง 1,000 แห่งในญี่ปุ่นและสาขาใหม่ๆ ในอาเซียน เพื่อกระจายสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ

เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สหพัฒน์ใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปี ก่อนตัดสินใจร่วมทุนกับซูรูฮะ ซึ่งรูปแบบร้านซูรูฮะในญี่ปุ่นมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบสแตนอะโลน พื้นที่ประมาณ 900-1,000 ตารางเมตร เป็นอาคารแนวราบชั้นเดียว ซึ่งรูปแบบนี้จะมีสินค้าครบและหลากหลาย กึ่งๆซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ไม่มีของสด รวมทั้งมีบริการต่างๆ ที่สนองความต้องการของชุมชน เช่น บริการซ่อมท่อประปา บริการปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอยู่อาศัย

อีกรูปแบบเน้นพื้นที่กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ ทำเลใกล้สนามบินและรถไฟฟ้า ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร รูปแบบอาคาร 2 ชั้น ซึ่งโมเดลสาขาในไทยเบื้องต้นจะยึดตามรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากยังไม่สามารถหาพื้นที่สแตนด์อะโลนขนาดใหญ่ได้ ทำให้ร้านซูรูฮะ ณ เวลานี้มีรูปแบบเพียงแค่ร้านขายยาและสุขภาพไม่ต่างจากคู่แข่งเท่าใดนัก

“เรามองรูปแบบดรักสโตร์ในไทยจะพัฒนาจนกลายเป็นร้านกึ่งๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนในญี่ปุ่น เพราะไลฟ์สไตล์ของคนเริ่มเบื่อที่จะซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เสียเวลา โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์คนในเมือง ไม่ทำอาหารเอง เป้าหมายของซูรูฮะจึงต้องการขยายสาขาพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่ร้านยา แต่มีสินค้าครบตามแนวคิด One Stop Shopping เป็นดรักสโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ต มีทั้งยา สินค้าสุขภาพ บิวตี้ ของใช้ในบ้าน ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปกึ่งสำเร็จรูป ซอส เครื่องปรุงรสต่างๆ เพียงแต่ไม่จำหน่ายของสด เพื่อจับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคอนโดมิเนียม”

สำหรับสินค้าของร้านซูรูฮะในไทยแบ่งสัดส่วนเป็นสินค้านำเข้า 30% สินค้าเฮาส์แบรนด์ “M’s one”  10% และสินค้าในประเทศ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเครือสหพัฒน์ 60% ส่วนสินค้ากลุ่มยา ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครืออิออนยังต้องรอขั้นตอนการขออนุญาตจำหน่าย รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ล่าสุด  ซูรูฮะมีสาขารวม 5 แห่ง หลังจากเปิดสาขาแรกเมื่อกลางปี 2555 ที่ศูนย์การค้าเกตเวย์เอกมัย  ตามด้วยสาขาซีคอนสแควร์บางแค สุขุมวิท 39 ซีคอนสแควร์ศรีนครินทร์และศรีราชา ซึ่งถือเป็นสาขาแรกในต่างจังหวัด โดยเตรียมเปิดสาขาที่คอมมูนิตี้มอลล์ พรอเมนาดา เชียงใหม่  รวมทั้งสาขาโมเดลต้นแบบญี่ปุ่นขนาด 900 ตร.ม.ที่สวนอุตสาหกรรมศรีราชา จ.ชลบุรี ปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำร่องรองรับบิ๊กโปรเจกต์ “เจพาร์ค” ของเครือสหพัฒน์ ซึ่งบุณยสิทธิ์วางแผนสร้างคอมมูนิตี้มอลล์และคอมเพล็กซ์ ทั้งโครงการมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

ตามแนวคิดของเสี่ยบุณยสิทธิ์ โครงการเจพาร์คมีรูปแบบเป็นเจแปนนิสทาวน์ เนื้อที่รวม 600 ไร่ ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แหล่งรวมวัฒนธรรมญี่ปุ่น ร้านอาหาร สถาบันสอนภาษาญี่ปุ่น “วาเซดะ” สถานที่ท่องเที่ยว โดยดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเข้ามาร่วมบริหารโครงการ นำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ คาดว่าจะเปิดเฟสแรก 20 ไร่ก่อนและตั้งเป้าแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 10 ปี เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติเหมือนฮ่องกง  สิงคโปร์ หรือเมืองโกเบและโยโกฮามา

ดูเนื้อที่สวนอุตสาหกรรมศรีราชา จ.ชลบุรี  1,600 ไร่ อยู่ในเขตเทศบาลตำบลแหลงฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในโครงการเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครือสหพัฒน์ มีโรงงานประมาณ 80 โรงงาน

หาก “ซูรูฮะ” หมุดตัวแรกของบิ๊กโปรเจกต์ได้รับการตอบรับ  “เจพาร์ค” ของดร.วาเซดะย่อมมีสิทธิ์เกิดแน่