หลังจากการออกอากาศตอนแรกของละคร “บุพเพสันนิวาส” ไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เพียงข้ามคืนละครเรื่องนี้ได้สร้าง “ปรากฏการณ์ทางสังคม” จนเกิดกระแสฟีเวอร์ที่ใครต่างพากันพูดถึง ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ใช่คอละคร
ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” กลายเป็น talk of the town จากหลักฐานที่บ่งบอกว่า มีการค้นหาความหมายของคำสรรพนามที่ใช้เรียกบุรุษที่สองในละครอย่างคำว่า “ออเจ้า” ภาษาโบราณที่เคยใช้จริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการบันทึกอยู่ในหนังสือ “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
การค้นหาไม่ได้มีเพียงแค่คำโบราณที่ใช้ในละครเท่านั้น เมื่อตัวละครที่ปรากฏเพียงไม่กี่วินาทีในบางฉาก แต่สร้างความสงสัยให้หลายคนว่าบุคคลนั้นแสดงเป็นใคร กระทั่งได้คำตอบว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีการค้นหาต้นฉบับหนังสือนวนิยายเรื่องนี้ และที่สำคัญคือ “รอมแพง” นามปากกาของผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้
แน่นอนว่าหลังจากละครออกอากาศไปเพียงไม่กี่ตอนคำว่า “ออเจ้า” คำโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา กลายเป็นคำฮิตในยุคดิจิทัล เมื่อโลกโซเชียลพากันใช้คำนี้จนฮิตติดปาก
ความนิยมที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่นาน ทำให้เรตติ้งละครเรื่องนี้ของช่อง 3 สูงขึ้นแซงหน้าละครช่องอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้ผู้จัด นักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบทโทรทัศน์ และเหล่าทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังที่มีส่วนสำคัญให้การสร้างสรรค์ละครจนเป็นที่กล่าวถึง กระนั้นต้องยอมรับว่า จันทร์ยวีย์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกา “รอมแพง” รังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม
ซึ่งผลงานชิ้นนี้ จันทร์ยวีย์ใช้เวลาในการรวบรวมและหาข้อมูลมานานประมาณ 3 ปี และใช้เวลาในการเขียนราว 1 เดือน ที่น่าสนใจคือ จันทร์ยวีย์ใช้หนังสือสำหรับการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อต่อยอดนวนิยายดังกล่าวมากถึง 27 เล่ม และค้นหาจากเว็บไซต์อีก 4 เว็บไซต์ เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์มากที่สุด
แม้ว่าแรกเริ่มหลายคนอาจจะคิดและจินตนาการไปว่า นวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” น่าจะเป็นเรื่องราวความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง แต่นั่นคงไม่ใช่คีย์สำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้พิมพ์ซ้ำไปแล้วเกือบ 30 ครั้ง เมื่อผู้แต่งผูกเรื่องที่มีทั้งเรื่องราวความรัก ความเศร้า ความตลก อีกทั้งยังสร้างตัวละครสมมุติให้โลดแล่นไปกับประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้อย่างไม่ขัดเขิน และไม่น่าเบื่อ
ถึงตรงนี้คงไม่มีข้อกังขาถึงความสามารถของ “รอมแพง” หรือ จันทร์ยวีย์ สมปรีดา เพราะนวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกที่ประจักษ์ต่อสายตานักอ่าน หากแต่จันทร์ยวีย์ยังมีผลงานเขียนที่น่าสนใจอีกหลายเล่ม อาทิ ดาวเกี้ยวเดือน มินตรา พรายพรหม
กระนั้นการมาถูกจังหวะเวลาของละครชื่อเรื่ยงเดียวกันกับหนังสือเล่มนี้ ได้สร้างชื่อเสียงของจันทร์ยวีย์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากที่มีฐานผู้อ่านที่เป็นแฟนหนังสืออยู่ในกลุ่มเดิม อีกทั้งละครเรื่องนี้ยังออกอากาศในช่วงเวลาที่มีงาน “อุ่นไอรัก คลายลมหนาว” ที่รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนแต่งชุดไทย หรือผ้าไทยไปในงาน
ห้วงยามที่เหมาะเจาะลงตัวยิ่งเหมือนเป็นการปลุกความโหยหาอดีตของคนไทย ทั้งการแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย การย้อนรอยทบทวนประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือแม้แต่การท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากละครเรื่องนี้เช่นกัน
และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เดินทางเที่ยวตามรอยละครบุพเพสันนิวาส โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากที่สุด และส่วนใหญ่นิยมแต่งกายด้วยชุดไทย หรือผ้าไทย
แง่งามที่เกิดจากละครเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดคือ แฟนละครบางส่วนหันกลับมาสนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ชาติไทยมากขึ้น ต้องยอมรับว่าคนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้และลึกซึ้งนั้นยังมีอยู่ไม่มากนัก
อีกแง่มุมหนึ่งคือ การขยายตัวของกลุ่มนักอ่านที่ส่งผลดีต่อสถานการณ์ของตลาดหนังสือเล่ม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือหนังสือ “บุพเพสันนิวาส” กลายเป็นที่ต้องการของผู้อ่านในช่วงละครออกอากาศ จนกระทั่งซัปพลายไม่เพียงพอต่อความต้องการ หนังสือขาดตลาดภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน
ในที่สุดบรรดาร้านหนังสือต่างพากันเปิดพรีออเดอร์ล่วงหน้า สำหรับผู้ที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหนังสือเล่มดังกล่าว ล่าสุดนวนิยายเรื่องดังพิมพ์ซ้ำไปแล้วถึง 28 ครั้ง
นับว่าผลงานนวนิยายเรื่องนี้อุดมไปด้วยคุณค่า ทั้งในด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ และความบันเทิง เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคือ มีคนชื่นชมและพร้อมจะสนับสนุนผลงานที่มีลิขสิทธิ์ทางปัญญา อีกด้านกลับมองเห็นประโยชน์จากความดัง และพร้อมที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการนำหนังสือต้นฉบับมาสแกนและเผยแพร่ไปสู่สาธารณะ โดยไม่ได้ตระหนักถึงความยากลำบาก หรือรับรู้ถึงความตั้งใจของผู้เขียนแม้แต่น้อย
ท่ามกลางความเป็นไปของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐกำลังผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ อีกทั้งแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลกำลังมองปัญหาในภาพกว้าง
แน่นอนว่ากับการเกิดขึ้นของกระแสละครที่กำลังปะทุอยู่ในขณะนี้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิสัยทัศน์เชิงนโยบายดังกล่าว เมื่อความบันเทิงที่เกิดขึ้นเพียงสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คนในสังคมในห้วงยามหนึ่งเท่านั้น หากแต่อีกมิติที่กำลังดำเนินอยู่ แม้ว่าอาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางตัวเลขที่ชัดเจนนัก แต่ต้องยอมรับว่ากระแสที่เกิดขึ้นเท่ากับการปลุกนักอ่านที่อาจจะหลับใหลไปบางช่วงเวลา หรือบ้างอาจจะอยู่ในโลกโซเชียลเป็นหลัก ให้หันกลับมาหาหนังสือเล่มอีกครั้ง
และแม้ว่าหนังสือ “บุพเพสันนิวาส” จะเป็นเพียงหนังสือนวนิยายเล่มหนึ่งท่ามกลางหนังสืออีกหลายร้อยหลายพันเล่มที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาดหนังสือในเวลานี้ แต่ก็น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดหนังสือกลับมาสดใสขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาค หากแต่แรงกระเพื่อมดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงเหวี่ยงในฟันเฟืองชิ้นใหญ่ได้ไม่ยากนัก
มีผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทยเมื่อปี 2559 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 37 นาทีต่อวัน ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนยังถือว่าน้อยมาก หลายฝ่ายมองว่าวินัยในการอ่านของคนไทยควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่อยู่ในกระแสนั้นเสมือนเป็นการปลุก กระตุ้นให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น โดยที่วินัยดังกล่าวไม่ต้องให้รัฐมากระตุ้นเตือน
ขณะที่ภาครัฐโดยเฉพาะเจ้าภาพหลักอย่างกระทรวงวัฒนธรรมที่เล็งเห็นว่า การอ่าน คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติ จึงออกแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมการเรียนรู้ของไทยปี 2560-2564 ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว หากแต่ในเวลานี้ยังไม่ปรากฏแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมนัก
อย่างไรก็ตาม หากอุตสาหกรรมหนังสือสิ่งพิมพ์ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมตลาดหนังสือมีโอกาสขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากเดิมที่ตลาดหนังสือมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 ตัวเลขลดลงไปเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้หากแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของกระทรวงวัฒนธรรมปรากฏชัดเป็นรูปร่างและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายที่ต้องการให้คนทุกวัยในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง และภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องผลักดันให้คนไทยใช้เวลากับการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อมนัก
หรือบางทีคนไทยควรเริ่มต้นด้วยตัวเอง อ่านให้มากขึ้น โดยไม่ต้องนั่งรอการสนับสนุนที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมาถึง
หวังว่ากระแสธารจากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” สู่การตื่นตัวของนักอ่านที่ส่งผลให้ยอดพิมพ์นวนิยายต้นฉบับทวีตัวสูงขึ้นไปนั้น คงไม่ใช่เรื่องสุดท้าย และสีสันบรรยากาศที่คึกคักแห่งโลกการอ่านจะยังคงคุกรุ่นอยู่เมื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 มาถึงในสิ้นเดือนนี้