วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > สิมิลัน: เหยื่อการท่องเที่ยวที่ไร้การจัดการ?

สิมิลัน: เหยื่อการท่องเที่ยวที่ไร้การจัดการ?

ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกำลังดำเนินความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโหมประโคมส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้คำขวัญที่หวังสร้างกระแสทั้ง “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างลึกซึ้ง” และ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน”

หากแต่ข่าวความเป็นไปของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะสร้างมิติที่แตกต่างออกไปจากอย่างสิ้นเชิง

ปรากฏการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันอย่างหนาแน่น จนเกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกาะ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การดูแลและอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติของหมู่เกาะสิมิลัน จะมีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายให้เสียหายมากน้อยเพียงใด

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านหนึ่งอาจจะทำให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวระบุถึงผลความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ทำให้สิมิลันกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา กลายเป็นสถานที่ที่สามารถจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวได้มากถึง 201 ล้านบาท จากการเปิดฤดูท่องเที่ยวประจำปี 2560 (1 พฤศจิกายน 2559-30 เมษายน 2560)

รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการบันทึกว่าเป็นสถิติใหม่ในการจัดเก็บรายได้สูงสุดในรอบ 35 ปีนับตั้งแต่มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อปี 2525 และนับเป็นสถานที่ที่จัดเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยวได้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย

กระนั้นก็ดี ตัวเลขของรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมไม่สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการบริหารจัดการกิจกรรมท่องเที่ยว ที่มุ่งหมายทั้งในมิติของความลึกซึ้งและยั่งยืน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามนำเสนอได้ ในทางตรงข้ามกลับสะท้อนภาพความบกพร่องในการบริหารจัดการและการเตรียมการที่จะรองรับผลสืบเนื่องที่สามารถคาดการณ์ได้จากปรากฏการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเดือนมกราคม 2560 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันรายงานว่าสามารถจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวได้มากถึง 57 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์เก็บค่าธรรมเนียมได้มากขึ้นเป็น 60 ล้านบาท แม้จะมีจำนวนวันน้อยกว่าก็ตาม

หากประเมินจากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน ที่จัดเก็บในอัตราคนไทย 100 บาทสำหรับผู้ใหญ่และ 50 บาทสำหรับเด็ก ขณะที่ชาวต่างชาติถูกจัดเก็บในอัตรา 500 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 300 บาทสำหรับเด็ก และจากข้อเท็จจริงของรายได้ที่จัดเก็บได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมาแล้ว นั่นหมายความว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่หมู่เกาะสิมิลัน ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 คนในแต่ละวันตั้งแต่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

จำนวนนักท่องเที่ยวระดับ 4-5,000 คน ที่ปรากฏเป็นข่าวชวนให้สนใจในปัจจุบันจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น แบบ “น้ำขึ้นที่ไม่มีการแจ้งเตือน” แต่เป็นสถานการณ์ที่บ่งบอกทิศทางและแนวโน้มแห่งปัญหาให้ได้เห็น และแสวงหาหนทางในการบริหารจัดการมานานนับปี เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่กำกับดูแลจะตระหนักหรือไม่เท่านั้น

ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าด้วยการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าสู่หมู่เกาะสิมิลัน ในด้านหนึ่งไม่ควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ หากควรเป็นมาตรการเพื่อการบริหารจัดการที่มีระบบระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นมาตรการป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ และการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ถือเป็นภารกิจหลักในการกำกับดูแล

ความเป็นไปของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กลายเป็นกับดักที่ทำให้การบริหารจัดการว่าด้วย “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ดำเนินไปอย่างไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์โดยรวมแม้แต่น้อย

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จากจำนวน 34 ล้านคนในปีที่ผ่านมาสู่ 37 ล้านคนในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งจากการโหมประโคมส่งเสริม โดยไม่ประเมินศักยภาพของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 75 ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว จนบางแห่งต้องปิดฟื้นฟูสภาพ ซึ่งทำให้เกิดสภาพนักท่องเที่ยวทะลักล้นและแออัดไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งอื่นๆ ที่เหลือต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพยายามนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความแออัดและคับคั่งของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวหลัก ควบคู่กับยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเพื่อการกระจายรายได้ไปสู่เมืองท่องเที่ยวระดับรอง แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการดังกล่าวยังห่างไกลจากเป้าหมายหรือความสำเร็จที่มุ่งประสงค์

ข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานจึงกลายเป็นแนวทางที่ได้รับการเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีนโยบายและยุทธศาสตร์ว่าด้วยการกำหนดเพดานนักท่องเที่ยวต่างชาติไปอุทยานทางทะเลไว้แล้วก็ตาม

ประเด็นปัญหาว่าด้วยการอนุรักษ์สภาพอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งมีความหมายในภาษามลายู แปลว่า 9 จากสภาพข้อเท็จจริงที่สิมิลันประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยรวม 9 เกาะ เป็นกรณีที่มีความละเอียดอ่อนและเปราะบางมาโดยตลอด โดยพื้นที่บริเวณโดยรอบของเกาะหนึ่ง สอง และสาม หรือ เกาะหูยง เกาะปายัง และเกาะปาหยัน ได้ถูกสงวนให้เป็นพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล และห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ จากปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป ทำให้กองหินแฟนตาซ ซึ่งเคยเป็นกองหินที่เคยสวยงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมีสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก จนทำให้ต้องมีคำสั่งปิดไป ในปี 2543 ก่อนที่ในปี 2550 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหลายแห่งรวมทั้งหมู่เกาะสิมิลันด้วย

ภายใต้การประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ในครั้งนั้น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันอนุญาตให้มีนักท่องเที่ยวพำนักค้างคืนได้รวม 180 คน และเดินทางเยี่ยมชมแบบไปกลับได้ 1,410 คน ซึ่งถือว่าเป็นการจำกัดหรือลดจำนวนนักท่องเที่ยวลงกว่าร้อยละ 50 จากจำนวนปกติที่มีประมาณ 3.000 คนในขณะนั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ล้นเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้แล้ว

หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ดูจะไม่มีผลบังคับหรือยกเลิกไปเสียแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานฯ ดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 50 ยังหมายถึงจำนวนรายได้ของอุทยานฯ แต่ละแห่งจะลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

ข้อเท็จจริงที่หมู่เกาะสิมิลันกำลังเผชิญอยู่ท่ามกลางกระแสความนิยมที่ล้นเกินของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน จึงเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนและมิติมุมมองในการบริหารจัดการทรัพยากรและการท่องเที่ยวว่า “วิถีไทย” มีความลุ่มลึกและยั่งยืนหรือไม่อย่างไร

ใส่ความเห็น