“ปีนี้เป็นปีที่จะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในโอกาสครบรอบ 200 ปี และบริษัทไทย คือ ซีพี ได้ต่อยอดเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน 200 ปีนี้ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ชื่อของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ Boston Market ได้รับการตั้งตามเมืองบอสตัน ซึ่งเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพ การเกิดขึ้นของงานในครั้งนี้จะทำให้เห็นว่าไทยสามารถเป็นครัวโลกได้”
กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าวเปิดตัวอาหารแช่แข็ง “Boston Market” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมีธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมผู้บริหารในเครือร่วมงานอย่างคับคั่ง
ภาพในวันนั้นสะท้อนนัยมากมาย ทั้งความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการค้าและการทูต โดยเฉพาะก้าวย่างสำคัญของซีพีในการเจาะตลาดขนาดยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา หลังจากเริ่มต้นกลยุทธ์สำคัญตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ทุ่มเม็ดเงินกว่า 38,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น 100% ของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เบลลิซิโอเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบบ Single Serve ภายใต้ตราสินค้า มิชิลิน่าส์ (Michelina’s) แอทคินส์ (Atkins) บอสตันมาร์เก็ต (Boston Market) ชิลีส์ (Chili’s) อีทติ้งเวล (EatingWell) และอีท (Eat!) รวมทั้งเป็นผู้ผลิตร่วมสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (Private Label) และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต่างๆ ซึ่งการประเดิมนำเข้าสินค้าแบรนด์บอสตัน มาร์เก็ต เข้ามาเจาะตลาดไทย เป็นการเริ่มต้น Synergy ของ 2 ธุรกิจยักษ์ใหญ่
ด้านหนึ่ง เบลลิซิโอสามารถขยายตลาดในไทยและอีกหลายตลาดในเอเชีย ขณะที่ซีพีเอฟเร่งต่อยอดธุรกิจเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งหลายคนในวงการต่างมองว่า เจ้าสัวซีพีเข้าลงทุนถูกจังหวะและถูกสถานการณ์ เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายเปิดประเทศให้ต่างประเทศเข้าลงทุน โดยลดกำแพงภาษีต่างๆ
ขณะเดียวกัน ตลาดอเมริกามีศักยภาพมาก จำนวนประชากรมากถึง 325 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรโลก และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับยังมีมูลค่าธุรกิจอาหารมากกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารกินเล่นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีราว 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาธุรกิจ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การลงทุนในสหรัฐฯ จะสนับสนุนธุรกิจของซีพีเอฟในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสทำการค้าและการตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก เฉพาะตลาดอาหารของอเมริกาอย่างเดียว มีมูลค่าสูงถึง 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสอดรับเป้าหมายการขยายตลาดในทุกตลาดทั่วโลก เพื่อการเป็นครัวโลก
ที่สำคัญ การซื้อกิจการเบลลิซิโอ ฟู้ด ทำให้ซีพีเอฟมีจุดกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นทันทีมากกว่า 50,000 จุดในร้านค้าชั้นนำของอเมริกา ซีพีเอฟสามารถส่งสินค้าที่ผลิตจากฐานผลิตในประเทศไทยและฐานผลิตอื่นๆ ทั่วเอเชีย เข้าไปจำหน่ายในตลาดอเมริกาได้อย่างมีศักยภาพ
ในทางกลับกัน เบลลิซิโอฟู้ด สามารถเข้ามาเจาะตลาดในไทยผ่านช่องทางจำหน่ายในเครือซีพี ซึ่งมีทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ศูนย์อาหารซีพีฟู้ดเวิลด์ ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างแม็คโคร ร้านอาหารในเครืออีกมากมาย และส่งออกผ่านช่องทางเครือข่ายของซีพีทั่วเอเชียด้วย
ปัจจุบันซีพีเอฟมีฐานธุรกิจใน 16 ประเทศ เช่น รัสเซีย จีน ไต้หวัน อเมริกา และประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว โดยธุรกิจในต่างประเทศสามารถสร้างรายได้หลักให้ซีพีเอฟคิดเป็นสัดส่วน 65% จากรายได้รวม
หากดูเฉพาะรายได้จากตลาดต่างประเทศสามารถแยกเป็น 5 กลุ่มประเทศ ประกอบด้วย ตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ อังกฤษ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เยอรมนี 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาสามารถทำรายได้สูงสุดและมีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง
ขณะที่ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 10% จากปี 2560 ที่มีรายได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท มาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจภายในประเทศ ธุรกิจส่งออก และรายได้จากการลงทุนต่างๆ ซึ่งซีพีเอฟตั้งเป้าขยายรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจปลายน้ำ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายเท่า การซื้อกิจการของเบลลิซิโอฟู้ดจึงเป็นกลยุทธ์ผลักดันธุรกิจอาหาร (Food) ที่มีแบรนด์เติบโต จากปี 2559 อยู่ที่ 12% ปี 2560 ขึ้นไปเป็น 17% และตามแผนอีก 5 ปีวางเป้าหมายจะเติบโตถึง 25%
ล่าสุด บอร์ดบริหารซีพีเอฟวางแผนนำสินค้ากลุ่มเกี๊ยวกุ้งและบะหมี่ไปผลิตและจำหน่ายผ่านช่องทางขายของเบลลิซิโอ ฟู้ด ทั่วตลาดอเมริกา
ด้านตลาดในประเทศไทย การเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานแบรนด์ “บอสตัน มาร์เก็ต” เป็นแผนสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย ซึ่งอาหารสูตรต้นตำรับอเมริกันบอสตัน มาร์เก็ต มีความเป็นมายาวนานถึง 34 ปี เริ่มต้นจากการเป็นร้านอาหารสไตล์โฮมเมดเมื่อปี 2527 ในนิวตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเชฟมือฉมัง Steven Kolow และ Arthur Cores จนได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว
ต่อมาในปี 2542 เบลลิซิโอฟู้ดร่วมมือกับร้านอาหาร Boston Market พัฒนา Boston Market Brand ในรูปแบบอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภครูปแบบใหม่ วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำกว่า 20,000 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา
ตามแผนสเต็ปแรกนั้น ซีพีเอฟนำร่องเปิดตัว 4 เมนูยอดนิยมในอเมริกา ได้แก่ สเต๊กเนื้อวัวและหมูบดราดซอสเกรวี่และมะกะโรนีอบชีส (Salisbury Steak), สเต๊กเนื้อและพาสต้าราดซอสเกรวี่เห็ด (Beef Steak & Pasta), สเต๊กไก่ชุบแป้งทอดและสปาเกตตีโรยชีสมอซซาเรลล่า (Chicken Parmesan) และพาสต้าเฟตตูชินี่อกไก่และบรอกโคลีราดซอสอัลเฟรโด (Chicken Fettuccine Alfredo) โดยเริ่มทดลองจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านซีพี เฟรชมาร์ท จำนวน 200 สาขา และจะวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียมในเดือนมีนาคม เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสยามพารากอน เดอะมอลล์ แม็กซ์แวลู่ วิลล่ามาร์เก็ต รวมทั้งร้านอาหารในเครือ
นอกจากนี้ วางแผนนำเข้าไปจำหน่ายในร้านอาหารในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ออสเตรเลีย โดยตั้งเป้าหมายยอดขายปีแรกไม่ต่ำกว่า 60-70 ล้านบาท
แน่นอนว่า ซีพีกำลังเร่งเครื่องต่อยอดจากตลาดเอเชียสู่ตลาดยุโรปและอเมริกา เดินหน้าขยายยุทธศาสตร์ “ครัวโลก” เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด เจาะทุกตลาดทั่วโลก และเม็ดเงินรายได้อีกจำนวนมหาศาล!!