วันศุกร์, มีนาคม 21, 2025
Home > Cover Story > ตี๋น้อยลุยต่อ “บุฟเฟต์ปิ้งย่าง” เกมกินรวบสุกี้-บาร์บีคิว

ตี๋น้อยลุยต่อ “บุฟเฟต์ปิ้งย่าง” เกมกินรวบสุกี้-บาร์บีคิว

“สุกี้ตี๋น้อย” เปิดเกมรุกรอบใหม่เปิด “Teenoi BBQ (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง)” ประเดิมร้านแรกสาขาเลียบทางด่วน และล่าสุดเปิดสาขาแจส กรีน วิลเลจ คู้บอนเลียบทางด่วน ย่านชุมชนใหม่ที่เต็มไปด้วยโครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ กลุ่มเป้าหมายกำลังซื้อสูง

สำหรับบุฟเฟต์ปิ้งย่าง Teenoi BBQ ราคาคนละ 299 บาท หากรวมค่าเครื่องดื่มรีฟิลล์ ของหวาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคารวมสุทธิ 362 บาท ระยะเวลา 2 ชั่วโมง โดยบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย ย้ำว่า ปิ้งย่างจัดเต็ม ฟินได้ทุกวัน เมนูมากกว่า 100 รายการ ทั้งทะเล หมู เนื้อ และพร้อมสลัดบาร์แบบไม่อั้น

มีเมนูแนะนำ เช่น เนื้อคารูบิราดซอสยากินิกุ เนื้อบริสเก็ตออสเตรเลีย เนื้อริบอาย เนื้อน่องลาย ลิ้นวัว อาร์เจนตินา เบคอนรมควัน สามชั้นน้ำปลา คอหมูย่าง

เมนูห้ามพลาด กุ้งก้ามกราม กุ้งแก้ว ปลาหมึกสาย ไข่ปลาหมึก กระเพาะแก้วเป็ด ยำแมงกะพรุน ซุปเห็ดทรัฟเฟิล พร้อมน้ำจิ้มหลากหลาย ได้แก่ น้ำจิ้มบาร์บีคิว น้ำจิ้มปิ้งย่าง น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มสุกี้ นอกจากนั้น เพิ่มของรับประทานเล่น เกี๊ยวซ่าหมู เฟรนช์ฟรายส์ นักเก็ตไก่ ข้าวเกรียบเห็ดหอม และไอศกรีมมะม่วง ไอศกรีมรสบ๊วย ไอศกรีมฮันนี่มิลค์ วุ้นลูกตาลนมสด

ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ประกาศเข้าร่วมลงทุนในบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย เมื่อปี 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยเฉพาะความแข็งแกร่ง ทั้งในแง่เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นทันทีกว่า 1,200 ล้านบาท และกลยุทธ์การเติบโต สามารถเร่งเครื่องรุกตลาดแบบจัดเต็ม

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART ประกาศว่า การเข้าลงทุนกับบี เอ็น เอ็นฯ ผู้บุกเบิกแบรนด์ร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” ถือเป็น Strategic Partner ที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับสูง เพราะบี เอ็น เอ็นฯ ใช้เวลาเพียง 4 ปี ผลักดันรายได้จากปี 2562 อยู่ที่ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท ทะยานสู่ปี 2564 รายได้ 1,564 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 55.80%

ส่วนปี 2565 ตัวเลขรายได้กระฉูด 3,976 ล้านบาท กำไรสุทธิ 591 ล้านบาท และเร่งแต่งตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยวางยุทธศาสตร์หลักเร่งติดอาวุธเทคโนโลยีจาก JMART Group และการ Synergy สร้างการเติบโตแบบ J-Curve ไปด้วยกันกับกลุ่มบริษัทเจมาร์ท

สำหรับปี 2567 เจมาร์ทรายงานว่า บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำนวน 350.7 ล้านบาท จากผลกำไรสุทธิรวมของ BNN อยู่ที่ 1,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบจากปี 2566 ที่มีกำไร 913 ล้านบาท และJMART รับส่วนแบ่งกำไร 274 ล้านบาท จากรายได้รวม 5,262 ล้านบาท

ล่าสุด นายอดิศักดิ์ระบุว่า ปี 2568 เจมาร์ทมีธุรกิจขับเคลื่อนสำคัญคือ “สุกี้ ตี๋น้อย” ซึ่งมีการเติบโตทั้งตัวเลขรายได้และกำไร ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 สุกี้ตี๋น้อยมีสาขาทั้งหมด 78 สาขา Teenoi BBQ (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง) 2 สาขา และ Teenoi Express (บุฟเฟต์พรีเมียม) 1 สาขา และเร่งขยายออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น โดยปีนี้จะขยายสาขาประมาณ 26 แห่ง และเตรียมเปิดตัวครัวกลาง เพื่อบริหารจัดการเครือข่ายสาขาให้มีประสิทธิภาพ

ด้านคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MK GROUP ซึ่งช่วงที่ผ่านมาลุยปรับกลยุทธ์ทุกรูปแบบ ทั้งกลยุทธ์มูเก็ตติ้ง เปลี่ยนชื่อเฉพาะกิจช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 39 ปี จาก MK Restaurants เป็น ‘MongKol’ Restaurants ใน 4 สาขา คือ เซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลพระราม 3 สามย่านมิตรทาวน์ และเซ็นทรัลเวสต์เกต สร้างกระแสไวรัลชั่วข้ามคืน จากข้อมูลบน Social Listening ที่มีการพูดถึงแบรนด์มากกว่า 500,000 Engagements พร้อมแจกฟรี “หมี่หยกยืนยาว”  99 เซนติเมตร

ขณะเดียวกันเดินหน้าแผนรุกตลาดบุฟเฟต์ โดยเปิดให้บริการแล้ว 2 สาขา คือ สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และสาขา เซ็นทรัล เวสต์เกต มีให้เลือก 3 ราคา ได้แก่ 499, 699 และ 899 บาท ย้ำจุดขายเมนูระดับพรีเมียม นอกจากนั้น เผยโฉมโมเดลใหม่รวม 5 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ เอ็มเคเอกซ์เพรส (MK Expess) ยาโยอิ เอกซ์เพรส (Yayoi Express) ฮากาตะ ราเมน (HAKATA RAMEN) บิซซี่ บ็อกซ์ (BIZZY BOX) และข้าวมันไก่ทองคำไว้ในร้านเดียวกัน ตั้งอยู่ที่ชั้น LG ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นรูปแบบฟู้ดคอร์ต เน้นการบริการตนเองตั้งแต่การสั่งอาหาร ชำระเงินผ่านตู้คีออส หรือสั่งกับพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ และรับอาหารเพื่อนำไปรับประทานที่โต๊ะด้วยตนเอง

หากสำรวจทุกโมเดลของเอ็มเค ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีร้านอาหารในเครือ 13 แบรนด์ ประกอบด้วย MK Restaurants มีสาขาทั้งหมด 432 สาขา  MK Live 4 สาขา  MK Gold 5 สาขา YAYOI 191 สาขา แหลมเจริญ ซีฟู้ด 40 สาขา HIKINIKU TO COME 1 สาขา HAKATA Ramen 1 สาขา MIYAZAKI 8 สาขา เลอ สยาม 3 สาขา ณ สยาม 1 สาขา BIZZY BOX (Grab&go) 2 สาขา LE PETIT 3 สาขา และโมเดลฟู้ดคอร์ต Multi Brand 1 สาขา

ขณะที่แฟรนไชส์ MK Restaurants ในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น 24 สาขา เวียดนาม 4 สาขา ลาว 3 สาขา แฟรนไชส์แหลมเจริญ ซีฟู้ด ที่มาเลเซีย 4 สาขา และ MIYAZAKI ที่ลาว 1 สาขา

ปี 2567 เอ็มเค กรุ๊ป มีรายได้จากการขายและบริการรวม 15,418 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะพิษกำลังซื้อหดตัว และการแข่งขันสูงในธุรกิจร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าหมายปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์มากขึ้นและดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภค เพื่อผลักดันการเติบโต โดยเฉพาะการรักษาส่วนแบ่งในตลาดสุกี้และธุรกิจร้านอาหาร

หมายเหตุ: ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก JAS green village-Kubon