วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “ศุภาลัย” โดดชิงแลนด์มาร์ก ตัดหน้า “วัน แบงค็อก”

“ศุภาลัย” โดดชิงแลนด์มาร์ก ตัดหน้า “วัน แบงค็อก”

ในที่สุด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) สามารถเอาชนะศึกประมูลซื้อที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา บนถนนสาทร ติดถนนสวนพลู มูลค่าที่ดิน 4,600 กว่าล้านบาท หรือคิดเป็น ตร.ว. ละ 1.45 ล้านบาท ฝ่าด่านคู่แข่งที่มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถาบันการเงินนับสิบราย

เบื้องต้น นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) วางแผนพลิกโฉมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ และหมายมั่นปั้นเป็นแลนด์มาร์กใหม่ในย่านถนนสาทร-สีลม ซึ่งจะประกอบด้วยอาคารชุดพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมระดับเกรดเอ อาคารสำนักงานให้เช่า ซึ่งรวมถึงรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส มูลค่าโครงการรวม 17,000-20,000 ล้านบาท

หากวิเคราะห์เฉพาะจุดที่ตั้งของที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 70 เมตร และลึกประมาณ 160 เมตร ติดถนนสาทรใต้ ซึ่งถือเป็นถนนสายสำคัญ และทำเลทองในย่านธุรกิจที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาสูง ด้านหลังมีถนนที่สามารถออกซอยสวนพลูได้ รวมกับจุดเด่นด้านทำเลย่านถนนสาทรทั้งเส้นเป็นพื้นที่ของพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น มีสำนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นจุดศูนย์รวมของชาวต่างชาติ กลุ่มเป้าหมายระดับไฮเอนด์และกำลังซื้อสูง

ล่าสุด บริษัทเริ่มออกแบบโครงการภายใต้แนวคิด Green Design ที่อนุรักษ์พลังงาน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีสวนขนาดใหญ่อยู่ในโครงการ และเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ของเดิมส่วนหนึ่งไว้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ลูกค้าจองโครงการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561

สำหรับ “ศุภาลัย” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2532 โดยตระกูล “ตั้งมติธรรม” มีสินค้าที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ที่ผ่านมายังมุ่งเน้นตลาดระดับราคาปานกลาง และมีโครงการตั้งอยู่ในหลายเมืองหลักในประเทศไทย ล่าสุดมีจำนวนโครงการจนถึงเดือนมิถุนายน 2560 ประมาณ 100 โครงการ เป็นโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม สัดส่วน 50:50 ซึ่งโครงการบนถนนสาทรจะเป็นโปรเจกต์ระดับพรีเมียมที่บริษัทลงทุนด้วยเม็ดเงินสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า การกำหนดเปิดตัวโครงการแลนด์มาร์กแห่งใหม่บนถนนสาทรของศุภาลัยกลายเป็นเกมตัดหน้ายักษ์ใหญ่อย่างเครือทีซีซี กรุ๊ป ของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งประกาศทุ่มทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ผุดโครงการ “One Bangkok (วัน แบงค็อก)” บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ติดกับสวนลุมพินีตรงข้ามหัวมุมถนนสาทร ไม่ห่างไกลกันนัก โดยปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด วางแผนเริ่มก่อสร้างอภิมหาโครงการ เนื้อที่รวม 104 ไร่ ปลายปี 2560 และกำหนดเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2564 ก่อนจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2568

โครงการ วัน แบงค็อก จะประกอบด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร โรงแรมหรู 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี 3 อาคาร ร้านค้าปลีก พื้นที่กิจกรรมและศิลปวัฒนธรรม ขนาด 10,000 ตารางเมตร ทางเดินกว้างมากกว่า 40 เมตร ที่เขียวชอุ่มร่มรื่นเลาะรอบโครงการทางฝั่งถนนวิทยุและถนนพระราม 4 ซึ่งทีซีซีและเฟรเซอร์ฯ ทุ่มทุนและตั้งเป้าหมายสร้างแลนด์มาร์กระดับโลกแห่งใหม่ เนื่องจากเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโปรเจกต์แรกที่เครือทีซีซี กรุ๊ป ผนึกกำลังกับกลุ่มเฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด ในเครือเอฟแอนด์เอ็น หลังนายเจริญทุ่มเม็ดเงินกว่า 300,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ “เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ” หรือ เอฟแอนด์เอ็น บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2556

ที่สำคัญ ทีซีซี กรุ๊ป ใช้เวลามากกว่า 10 ปี เดินหน้าตามยุทธศาสตร์เชื่อมต่อแลนด์มาร์ก เพื่อปลุกย่านถนนพระราม 4 ต่อเนื่องมาถึงถนนสาทรและสีลมให้เป็นทำเลทองเกรด A ไม่ต่างจากเส้นสุขุมวิท

เริ่มตั้งแต่เปิดโครงการ เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI CENTER) บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4-รัชดาภิเษก เนื้อที่ 9 ไร่ พร้อมๆ กับการปรับปรุงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อขยายพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถ ไม่น้อยกว่า 180,000 ตร.ม. มูลค่าการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท

ตามด้วยโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” บนที่ดินผืนใหญ่ 13 ไร่ หัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 เพื่อสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม บันเทิง ที่สำคัญของโลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สมาร์ทมิกซ์ยูส” ประกอบด้วยอาคารสำนักงานอัจฉริยะ (Artificial Intelligence Building) อาคารพักอาศัย และศูนย์ทักษะพัฒน์เพิ่มโอกาสการเรียนรู้แห่งแรกในประเทศไทย คาดเปิดให้บริการปี 2562 เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่หมุดหมายสุดท้าย “วัน แบงค็อก” ซึ่งคาดว่าจะดึงผู้คนมากกว่า 60,000 คนเข้ามาทำงานและพักอาศัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ขณะเดียวกัน บริเวณถนนสาทรยังมีโครงการของบริษัทในเครือทีซีซีอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นอาคารสาทร สแควร์ โรงแรมดับบลิว โฮเต็ล แบงค็อก และ ดิ แอสคอท สาทร

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ทำเลสาทรจะเพิ่มความคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการแข่งขันในตลาดลักชัวรี นอกจากโครงการระดับพรีเมียมของศุภาลัยแล้วยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่เตรียมเปิดตัวอีกหลายโครงการ เช่น กลุ่มพฤกษาเรียลเอสเตท ซื้อที่ดินข้างๆ ที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย เนื้อที่ราว 1 ไร่เศษ เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ เน้นความเป็นส่วนตัว คาดราคาขายเฉลี่ย ตร.ม. ละ 300,000 บาท

ส่วนบริษัทแสนสิริเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สุรศักดิ์ รวมทั้งมีอีก 2 โปรเจกต์ใหญ่ คือ โครงการ วันแบงค็อก ของนายเจริญ และโครงการมิกซ์ยูสบนหัวมุมถนนสีลม ซึ่งโรงแรมดุสิตธานีร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล

ทั้งนี้ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ได้ประเมินราคาที่ดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2560 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ราว 4% เพราะได้รับปัจจัยหนุนหลักจากโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ทำเลที่ดินที่มีราคาสูงสุดในกรุงเทพฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ สยามสแควร์ เฉลี่ยอยู่ที่ ตร.ว. ละ 2.13 ล้านบาท สุขุมวิท (ไทม์สแควร์) เฉลี่ย 1.95-2 ล้านบาทต่อ ตร.ว. สีลม 1.7 ล้านบาทต่อ ตร.ว. ถนนวิทยุ เฉลี่ย 1.6 ล้านบาทต่อ ตร.ว. และสาทร เฉลี่ย 1.5 ล้านบาทต่อ ตร.ว. โดยทำเลย่านสาทรจะกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ทั้งราคาที่ดินและอัตราค่าเช่าอาคารสำนักงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่สำคัญ แนวโน้มจะเติบโตแบบก้าวกระโดดทันทีที่บิ๊กโปรเจกต์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เปิดตัวด้วย

ใส่ความเห็น