วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > E-Commerce แข่งระอุ สนามประลองกำลังไทย-เทศ

E-Commerce แข่งระอุ สนามประลองกำลังไทย-เทศ

ข่าวคราวการเข้ามาบุกตลาด E-Commerce ไทย ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ น่าจะเป็นผลมาจากทิศทางการเติบโตของตลาดนี้ ที่เติบโตจากปี 2558 ถึง 12.42 เปอร์เซ็นต์ โดยมูลค่าตลาด E-Commerce ไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ยังเปิดเผยผลสำรวจอีกว่า ตลาด E-Commerce แบบ B2B (Business-to-Business) ยังกินส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดด้วยตัวเลข 1.3 ล้านล้านบาท และแบบ B2C (Business-to-Customer) มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท อันดับสุดท้ายคือ แบบ B2G (Business-to-Government) มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

การเติบโตของตลาด E-Commerce ดูจะสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของไทยโดยรวม เมื่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาปัจจุบันดูจะขับเคลื่อนไปได้เฉพาะเครื่องจักรที่เรียกว่า “การส่งออกและบริการ”

ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2560 ว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐปรับดีขึ้น ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดี ทั้งการผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว แม้จะชะลอลงบ้างตามการใช้จ่ายในหมวดบริการเป็นสำคัญ

การขยายตัวแบบก้าวกระโดดของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย น่าจะมีอีกสาเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นตัวผลักดันให้มูลค่าตลาดและเปอร์เซ็นต์การเติบโตพุ่งสูงขึ้นทุกปี นั่นคือความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสื่อสาร ที่ทำให้คนไทยมีรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต

โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ระบุว่า ในปี 2559 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ชั่วโมงต่อวัน แม้ว่ากิจกรรมยอดฮิตของคนไทยจะเป็นการเข้าสื่อสังคมออนไลน์ หากแต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการชอปปิ้งออนไลน์สูงถึง 59 เปอร์เซ็นต์

E-Commerce จึงกลายเป็นสนามประลองสรรพกำลังของนักลงทุนต่างชาติ ที่เล็งเห็นถึงผลประโยชน์อันมากมายมหาศาล นับเนื่องจากการประกาศตัวที่จะรุกตลาดของ Alibaba ที่นำทัพโดย แจ็ค หม่า ในการครอบครอง Lazada ที่นับได้ว่าเป็นผู้ครองตลาดอันดับ 1 ของ E-Commerce ไทย

ขณะที่อีกค่ายยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามองคือ Amazon ที่เปิดตัวภาพถ่ายหน้าเว็บไซต์ของ Amazon Thailand เป็นครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา กระนั้นยังมีอีกหลายบริษัทที่เข้าร่วมในศึกชิงเค้กครั้งนี้ ทั้ง Shopee, 11Street, shopback

แม้ว่าบนเวทีประลองนี้จะอุดมไปด้วยนักลงทุนต่างชาติที่มากไปด้วยประสบการณ์บนตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หากแต่ที่น่าจับตามองในห้วงยามนี้อาจจะเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงเกือบ 17,000 ล้านบาท ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กับ JD.com บริษัท E-Commerce รายใหญ่อันดับ 2 จากประเทศจีน

ซึ่งหากดีลระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กับ JD.com ตกลงเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของ E-Commerce อาจจะถูก 2 ยักษ์ใหญ่นี้แย่งชิงไปถึง 3.8 แสนล้านบาท เมื่อจังหวะก้าวในครั้งนี้ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งทศ จิราธิวัฒน์ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายออนไลน์ให้กลุ่มเซ็นทรัลเพิ่มขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำการค้าปลีกออนไลน์ของไทย เพราะการจับมือกับ JD.com ไม่ใช่แค่การสร้างเสถียรภาพในตลาดออนไลน์เท่านั้น หากแต่ภาษีของอันดับ 2 จากจีนยังมีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยให้กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาระบบ Omnichannel

ซึ่งผู้นำของ JD.com อย่าง Richard Liu วางแผนที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและบริการเพื่อให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ขณะที่การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติจะส่งผลดีต่อตลาดซึ่งจะมีความคึกคักมากขึ้น และผู้บริโภคได้โอกาสในการเลือกซื้อสินค้าและบริการได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น หากแต่แรงสั่นสะเทือนต่อวงการ E-Commerce ที่เกิดจากนักลงทุนต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามารุกตลาดในไทย น่าจะสร้างความสั่นคลอนให้กับผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่น้อย

เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวคงไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยนิ่งเฉยได้อีก และน่าจะเป็นส่วนผลักดันให้นักธุรกิจไทยต้องสร้างโอกาสให้ตัวเองสามารถเข้าไปแข่งขันกับต่างชาติได้ แม้ว่าเวทีประลองนี้จะอยู่ในประเทศไทยก็ตาม

ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนระอุ หากแต่สำหรับผู้ประกอบการไทยแล้วข้อได้เปรียบอาจจะอยู่ที่ความเข้าใจต่อธรรมชาติของผู้บริโภคคนไทย ทั้งความต้องการ ไลฟ์สไตล์ ที่น่าจะทำให้พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการหรือถูกจริตคนไทยได้ง่ายกว่า นั่นจะทำให้การแข่งขันในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่ต้องกังวลมากนัก

หากแต่ข้อเสียหรือข้อควรระวังในเกมสำคัญครั้งนี้ อาจจะเป็นเรื่องของเงินทุนที่ดูจะมีภาษีน้อยกว่านักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะไม่มีต้นทุนในเรื่องการเช่าพื้นที่ หรือการจ้างแรงงาน กระนั้นการจัดสรรงบประมาณสำหรับการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ดูจะเป็นสิ่งจำเป็น

กระนั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทั้งกลุ่ม Startup SMEs ที่มีเป้าหมายในการเป็นส่วนหนึ่งในตลาด E-Commerce ในไทย ที่แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หากแต่ต้องการที่จะอยู่รอดในศึกชิงเค้กครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ของตัวเอง เมื่อตลาด Mass อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกไปทั้งหมด การตั้งธงและมุ่งเป้าไปที่ niche market น่าจะเป็นอีกหนทางที่ดีกว่า

นอกจากข้อดีของการเข้ามาของแบรนด์ต่างชาติในตลาดนี้ ต่อกรณีที่จะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทย ในโอกาสที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง

เมื่อแบรนด์ต่างชาติมาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่ง Amazon ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จกับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการกระจายสินค้า หรือการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าตามช่วงเวลาด้วยระบบ Dynamic Pricing หรือรูปแบบการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ภายใต้การดูแลของ Alibaba ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกหยิบยกมาใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีของ Alibaba ที่สร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองนั้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์ตัดสินใจลงนามความร่วมมือกับประธานบริษัท Alibaba Group ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทย ตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึง SMEs ที่สามารถส่งออกได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทาง E-Commerce พร้อมพัฒนาบุคลากรของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญในการลงนามครั้งนี้นอกเหนือไปจากการร่วมพัฒนา SMEs ไทยแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายเชิญชวนให้ Alibaba มาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridoe Development: EEC)

กระนั้นการเติบโตของตลาด E-Commerce ในไทยนั้น ผู้ที่ได้รับอานิสงส์นอกเหนือไปจากธุรกิจลอจิสติกส์แล้ว ตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งจะกลายเป็นผู้ได้รับผลพลอยได้ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นทุกขณะ

เมื่อศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยการคาดการณ์ว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับ E-commerce ในส่วนของ B2C ในปี 2560 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ยังคาดการณ์อีกว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งจะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce ในรูปแบบ B2C ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท (ภายใต้สมมุติฐาน นโยบายการจัดเก็บภาษีธุรกิจ E-Commerce ที่จะนำมาใช้ในระยะข้างหน้า ส่งผลต่อภาระผู้ประกอบการไม่มาก) โดยคาดว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวสูง เนื่องจากสอดคล้องกับลักษณะของสินค้าที่นิยมซื้อขายออนไลน์ รวมถึงความเหมาะสมในการปกป้องสินค้าระหว่างการขนส่งและต้นทุนไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันการแข่งขันกันในตลาด E-Commerce จะดุเดือดแล้ว ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยการคาดการณ์ต่อตลาด E-Commerce ในอีก 6 ปีข้างหน้าว่า ตลาดนี้อาจจะโตอีก 3 เท่า การประมาณการนี้จะส่งผลให้เวทีประลองแห่งนี้ร้อนระอุขึ้นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องน่าติดตาม

ใส่ความเห็น