อนันต์ กาญจนพาสน์ หรือ “เสี่ยช้าง” ลูกชายคนโตของมงคล กาญจนพาสน์ กลับจากการทำธุรกิจในฮ่องกงมาลุยธุรกิจในประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีแลนด์” เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน โดยวางแผนตั้งแต่วันแรกจะก่อสร้างอภิมหาโครงการขนาดยักษ์ “เมืองทองธานี” บนถนนแจ้งวัฒนะ เนื้อที่กว่า 4,500 ไร่ วาดฝันให้เป็น “กรุงเทพฯ แห่งอนาคต” โครงการเมืองใหม่สมบูรณ์แบบรองรับประชาชนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน
แต่ใครจะเชื่อว่า บางกอกแลนด์ที่มาพร้อมเม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาทและพกพาความมั่นอกมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจไทยยุคนั้น ประกาศผุดโครงการคอนโดมิเนียมแบบติดจรวดกว่า 30,000 ยูนิต กลับกลายเป็น “เมืองร้าง” ไปทันทีหลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มส่อเค้าตั้งแต่ปี 2536 จนบาดเจ็บสาหัสจากพิษ “ต้มยำกุ้ง”
แต่ใครจะเชื่ออีกเช่นกันว่า อนันต์สามารถพลิกฟื้นธุรกิจ งัดทุกกลยุทธ์เปลี่ยนจาก “เมืองคอนโดมิเนียม” สู่ “ศูนย์กีฬายักษ์ใหญ่” เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นสนามแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ก่อนผันจุดขายหลักขึ้นชั้นศูนย์แสดงสินค้าและจัดประชุมขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ “อิมแพ็ค เมืองทองธานี”
ปี 2555 อนันต์ประกาศอิสรภาพล้างหนี้หลายหมื่นล้านทั้งหมดและเปิดฉากรุกขยาย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจศูนย์ประชุมศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี และธุรกิจค้าปลีก โดยตั้งเป้าหมายในอนาคตจะเป็นผู้นำ 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียที่สมบูรณ์แบบด้านการให้บริการเพื่อธุรกิจไมซ์ ทั้งการจัดประชุม สัมมนา แสดงสินค้า นิทรรศการ คอนเสิร์ต กิจกรรมพิเศษ รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยมีลูกชาย 2 คนเป็นกำลังหลัก คือ ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ดูแลด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพอลล์ กาญจนพาสน์ บริหารธุรกิจศูนย์ประชุม แสดงสินค้า และโรงแรม
ปัจจุบันอาณาจักรเมืองทองธานีซึ่งพัฒนาเนื้อที่ไปแล้วมากกว่า 2,300 ไร่ โดยมี “อิมแพ็ค” เป็นโซนพื้นที่หลักขนาดใหญ่ แยกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ อิมแพ็ค อารีน่า (IMPACT Arena) อาคารงานแสดงที่ต้องการเวที เช่น คอนเสิร์ตทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นสนามกีฬาในร่ม มีความจุ 12,000 ที่นั่ง
อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ อาคารแสดงสินค้า 1-8 พื้นที่รวม 47,000 ตารางเมตร รองรับงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ต
อิมแพ็ค ฟอรัม อาคารแสดงสินค้า 9 และห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ ความจุสูงสุด 2,000 ที่นั่ง
อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ อาคารขนาดใหญ่ที่สร้างแบบไม่มีเสากลางอาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 3 ฮอลล์ย่อย พื้นที่รวมทั้งหมด 60,000 ตร.ม. รองรับการจัดงานระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า คอนเสิร์ต และยังมีห้องรอยัล จูบิลี บอลรูม พื้นที่ 3,500 ตร.ม. รองรับการจัดเลี้ยงหรือกิจกรรมต่างๆ
แอกทีฟ สแควร์ (Aktiv Square) ลานอเนกประสงค์บริเวณด้านหน้าอารีนาและเดอะชาเลนเจอร์ ใช้เป็นลานจอดรถ รวมถึงสถานแสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมกลางแจ้ง
เลคไซด์ (Lake side) ลานอเนกประสงค์บริเวณริมทะเลสาบ ใช้เป็นลานจอดรถ พื้นที่แสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนี้ ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ บีไฮฟ์ไลฟ์สไตล์มอลล์ เดอะพอร์ทัลไลฟ์สไตล์มอลล์ ธันเดอร์โดม เอสซีจี สเตเดียม สนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ศูนย์พัฒนากีฬาเทนนิสแห่งชาติ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และโรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค
ขณะที่รอบๆ เมืองทองธานีจะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น ป๊อปปูล่าคอนโด สุโขทัยอะเวนิว 99 สุโขทัยอะเวนิวโฮมทาวน์ ดับเบิ้ลเลค วิลล่าอัลเบลโล่ ซึ่งส่วนใหญ่ขายหมดแล้วและบริษัทบางกอกแลนด์ได้หยุดการเปิดตัวโครงการไว้ก่อน เพื่อหันมารุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไมซ์
พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือบางกอกแลนด์ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ทิศทางแผนธุรกิจของอิมแพ็คในช่วง 3 ปีนับจากนี้ จะมุ่งขยายแหล่งท่องเที่ยวและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเดินทางที่มาร่วมงานจัดประชุม สัมมนา ท่องเที่ยวเชิงให้รางวัล และแสดงสินค้า (ไมซ์) โดยต้องการสร้างภาพลักษณ์ของเมืองทองธานีให้เป็นจุดหมายปลายทางแบบครบวงจรและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่
ทั้งนี้ ตามแผนตั้งแต่ปี 2559-2562 บริษัทอิมแพ็คฯ จะทยอยเปิดตัวโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบลงทุนเบื้องต้นมากกว่า 6,000 ล้านบาท ได้แก่ โรงแรมไอบิส กรุงเทพฯ อิมแพ็ค ระดับ 3 ดาว ขนาด 587 ห้องพัก เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท โครงการค้าปลีก “เดอะ พอร์ทอล” เงินลงทุน 600 ล้านบาท สนามโกคาร์ท “อิมแพ็ค สปีด พาร์ค” ริมทะเลสาบเมืองทองธานี เงินลงทุนราว 60 ล้านบาท โครงการคอสโม บาซาร์ และคอสโม ออฟฟิศ ซึ่งจะเปิดตัวภายในปี 2560
ปี 2561 บริษัทจะเผยโฉมโครงการสวนน้ำ มูลค่าลงทุน 3,000 ล้านบาท พื้นที่ประมาณ 70,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยตัดสินใจย้ายที่ตั้งของโครงการสวนน้ำจากพื้นที่ริมทะเลสาบไปก่อสร้างใกล้โรงแรมไอบิส และแหล่งชอปปิ้ง เพราะต้องการเก็บที่ดินรอบทะเลสาบไว้ลงทุนโครงการอื่น ซึ่งจะเหลือพื้นที่ราว 300 ไร่
ส่วนปี 2562 จะเปิดโรงแรมระดับ 5 ดาว แบรนด์พูลแมนของเครือแอคคอร์ หลังมีแบรนด์โนโวเทล และไอบิสแล้ว มูลค่าการร่วมลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยทุบโรงแรมอีสติน เลคไซด์ ขนาด 100 ห้องพัก เพื่อสร้างอาคารใหม่ ขยายเป็น 386 ห้องพัก คาดเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายนปีหน้า
เมื่อแผนทั้งหมดแล้วเสร็จ อิมแพ็คจะก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์ประชุมที่มีแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจร มีโรงแรมเปิดครบตั้งแต่ระดับ 3-5 ดาว 3 แห่ง จำนวนห้องพักรวมประมาณ 1,300 ห้อง รองรับกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับ มีพื้นที่ค้าปลีก สนามโกคาร์ท อิมแพ็ค เทนนิส อคาเดมี สปอร์ตคลับ สวนน้ำขนาดใหญ่ และฮับขนส่ง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้ร่วมประชุม รวมถึงครอบครัวและผู้ติดตามได้ทุกด้าน
ขณะเดียวกัน จิ๊กซอว์ทุกตัวถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีผู้เข้ามาใช้บริการในเมืองทองธานีประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาชมงานต่างๆ และกลุ่มประชากรภายในเมืองทองธานี ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% ในปี 2562
ที่สำคัญ แผนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลขอขยายเส้นทางเพิ่มเติมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี เข้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี บริเวณอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี หมายถึงโอกาสการดึงกลุ่มคนเข้ามาได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีชมพู และสีเหลือง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 1.5 ล้านคนต่อวัน
สำหรับการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้านั้น บางกอกแลนด์จะรับผิดชอบวงเงินก่อสร้าง ทั้งระบบรางและสถานีรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ประมาณ 1,250 ล้านบาท และวางค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอีก 10 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 30 ปี
อย่างไรก็ตาม ภายในอาณาจักรเมืองทองธานี 4,500 ไร่ ยังเหลือพื้นที่รอการพัฒนาอีก 700 ไร่ และถือเป็นที่ดินชั้นในผืนสุดท้าย อยู่ริมทะเลสาบท่ามกลางความเจริญของจิ๊กซอว์ส่วนต่างๆ ซึ่งบางกอกแลนด์กำลังซุ่มศึกษาแผนผุดโครงการมิกซ์ยูสอย่างรอบด้านในจังหวะเดียวกับรอส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าอีก 2.8 กิโลเมตร
เหนือสิ่งอื่นใด โครงการมิกซ์ยูสส่วนสุดท้าย คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้ฝันของเสี่ยช้างเป็นจริงอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด