การสื่อสารสมัยนี้ก้าวหน้าไปไกลกว่าเมื่อก่อนมากมายเสียเหลือเกินนะคะ
จากสมัยที่เรายังเขียนจดหมายสื่อสารบอกความในใจไปถึงคนที่รักและห่วงใย จำได้ว่าเปลืองกระดาษไปหลายแผ่นเลยทีเดียว เพราะกลัวว่าสำนวนและถ้อยความจะไม่ต้องตากินใจเท่ากับที่เรารู้สึก มาสู่ยุคของการส่งเสียงที่ลำเลียงถ้อยคำผ่านไปตามสายโทรศัพท์ที่ติดตั้งตามบ้าน ก่อนที่โทรศัพท์จะเคลื่อนที่ติดตามตัวเราไปเสียทุกที่ในปัจจุบัน
แต่โทรศัพท์ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีไว้สำหรับส่งเสียงผ่านไปเท่านั้นนะคะ ยังสามารถส่งข้อความ ส่งภาพ รวมทั้งส่งลายเส้นและสติ๊กเกอร์ลวดลายน่ารักให้เป็นตัวแทนความรู้สึกได้อีกด้วย ทำให้ข้อจำกัดว่าด้วยการห้ามใช้เสียงในบางสถานที่ไม่ใช่อุปสรรคในการสื่อสารถึงกันอีกต่อไป
แต่อาจจะติดขัดกับข้อกฎหมายและความพยายามในการเข้มงวดกวดขันเรื่องวินัยจราจร และความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ที่กำลังกลายเป็นประเด็นอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งในหลายประเทศที่มีมารยาทในการใช้โทรศัพท์ในที่สาธารณะที่น่านิยมอย่างหนึ่ง เพราะเราจะไม่ค่อยเห็นคนญี่ปุ่นถือโทรศัพท์พูดคุยระหว่างเดินทางบนรถไฟ ให้เป็นการรบกวนเพื่อนร่วมเดินทางท่านอื่นๆ แต่ภาพที่เห็นจนชินตากลับเป็นภาพของการใช้โทรศัพท์พิมพ์ข้อความส่งถึงกันเสียมากกว่า
วิถีปฏิบัติเช่นว่านี้ ทำให้ภาพที่สื่อแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก หรือ Emotion icon ถูกเรียกใหม่ในสำเนียงแบบญี่ปุ่นในฐานะ emoticon หรือในแบบที่สั้นกว่านั้นว่า EMOJI ที่คุ้นเคยกัน ถูกพัฒนาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ทำให้บอกกล่าวความรู้สึกระหว่างกันได้เร็วยิ่งขึ้น
แต่รูปแบบของการสื่อสารที่มาแรงมากๆ ในช่วง3-5 เดือนที่ผ่านมา คงไม่มีใครเกิน LINE ที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการสื่อสารให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะ LINE ไม่ได้เป็นเพียง Application บนโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนเท่านั้น ยังสามารถใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC ได้อีกด้วย
หลายคนอาจเข้าใจไปว่า LINE เป็นนวัตกรรมจากญี่ปุ่นเพราะชื่อผู้พัฒนาระบบหรือ Apps นี้ขึ้นมา ปรากฏชื่อว่า NAVER.jp ที่จดทะเบียนอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งก็คงจะเป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง หากแต่ในความเป็นจริงควรจะกล่าวว่านี่เป็นการรุกของผู้ประกอบการจากเกาหลีใต้ ที่กำลังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการอยู่ในขณะนี้
ในความเป็นไปก่อนการมาถึงของ LINE นั้น NAVER เป็นผลผลิตจากอดีตพนักงานของ Samsung ที่เริ่มสร้าง NAVER ขึ้นมาในฐานะเว็บไซต์ค้นหา (search portal) ในปี 1999 ซึ่งถือเป็น web portal รายแรกๆ ของเกาหลีใต้ และทำให้ NAVER ซึ่งมีที่มาของชื่อจากการนำคำว่า navigate มาเติม -er เพื่อสื่อความว่าเป็น “นักท่องเว็บ” กลายเป็นเว็บค้นหายอดนิยมของเกาหลีใต้ไปโดยปริยาย และถือเป็นเว็บค้นหาที่มีผู้คนเข้าใช้บริการมากเป็นอันดับห้ารองจาก Google, Yahoo!, Baidu ของจีนและ Bing จากค่าย Microsoft เลยทีเดียว
การเติบโตของ NAVER เป็นกรณีที่น่าสนใจ เพราะในปี 2000 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายนี้ได้ผนวกรวมกิจการเข้ากับ Hangame ผู้ให้บริการเกมส์ออนไลน์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ ภายใต้ชื่อใหม่ NHN หรือ Next Human Network ที่มีความหมายว่า “เครือข่ายมนุษย์ยุคถัดไป” กลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตครบวงจรรายใหญ่ของเกาหลีใต้ไปโดยปริยาย
แต่ความสำเร็จของ NAVER ไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะในเกาหลีใต้ เพราะในปี 2009 ผู้ให้บริการจากเกาหลีใต้รายนี้รุกเข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ NAVER Japan และ NHN Japan รวมถึง Hangame Japan เพื่อแสวงหาโอกาสในธุรกิจที่กว้างขวางขึ้น จากข้อเท็จจริงที่ว่าเกาหลีใต้มีประชากรเพียง 50 ล้านคน แต่ญี่ปุ่นมีประชากรมากถึง 120 ล้านคน แถมยังมีกำลังซื้อล้นเหลืออีกด้วย
หากถามว่าแนวความคิดเรื่องการพัฒนาและสร้าง LINE เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็คงต้องตอบว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสจริงๆ อย่างที่เขาว่านะคะ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวร้ายแรงที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 (Tohoku Earthquake 2011) นอกจากจะทำให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูแล้ว ความโกลาหลในการติดต่อสื่อสารนี่ละ ที่ทำให้เกิดประกายความคิดในการพัฒนา LINE ขึ้นมา
NHN และ NAVER เริ่มพัฒนาวิธีการสื่อสารด้วยข้อความผ่านเครื่องมือสื่อสารทั้ง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะปล่อย LINE ออกสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2011 หรือหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเพียง 3 เดือน
สาเหตุและที่มาของชื่อ LINE ในฐานะ Apps ยอดนิยมในปัจจุบันก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะชื่อของ LINE มาจากข้อเท็จจริงจากภาพของผู้คนที่ยืนเรียงแถวเข้าคิวต่อกัน เพื่อรอรับบริการโทรศัพท์สาธารณะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เพียงเพราะโทรศัพท์สาธารณะของญี่ปุ่นเหล่านี้ ได้รับการออกแบบให้ใช้งานได้เหนือระบบอื่นๆ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ
แต่ดูเหมือนว่า ผู้ใช้บริการ LINE ในปัจจุบัน จะไม่ได้ตระหนักในเรื่อง “ความจำเป็น” เหล่านี้มากสักเท่าใด เพราะทุกคนที่ใช้ LINE คงคำนึงถึงเรื่องความเก๋ไก๋และสะดวกสบายในการใช้งานเสียมากกว่า
ปรากฏการณ์และบริบทของสังคมญี่ปุ่น ดูจะช่วยให้การเกิดขึ้นของ LINE เป็นประหนึ่งเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะงอกเงยในดินแดนอันอุดม และช่วยเติมเต็มให้ LINE เติบโตได้อย่างรวดเร็วไม่น้อยเช่นกันนะคะ เพราะจากรากฐานของวิถีปฏิบัติเรื่องการใช้โทรศัพท์ของสังคมญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับ EMOJI มาแล้ว แถมยังได้ชื่อว่าเป็นสังคมการ์ตูน
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ LINE ด้วยการออก Sticker ไว้สื่อแสดงความคิดความรู้สึกแทนการพิมพ์ข้อความจึงกลายเป็นของเล่นใหม่ ที่สอดรับกับพฤติกรรมการสื่อสารและทำให้ LINE ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ไม่นับรวมกรณีที่ผู้เล่น LINE แต่ละรายต่างมีห้วงอารมณ์ที่พร้อมจะประชันและลงทุนจ่ายเพื่อสะสมลาย sticker แบบใหม่มาไว้เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์
ความเป็นไปของ LINE ต้องถือว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะสถิติในเดือนมิถุนยน 2012 หรือเพียง 1 ปีที่ LINE เปิดตัวสู่ตลาด ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้ LINE มากกว่า 49 ล้านคนไปแล้ว โดยมีผู้ใช้งานทั้งบนระบบ Android, iOS, Windows Phone หรือแม้ระบบใหม่ๆ ที่กำลังจะพัฒนาขึ้นมาในอนาคตอีกด้วย
บางที “เครือข่ายของมนุษย์ยุคใหม่” ในปัจจุบันอาจใช้ “สติ๊กเกอร์” แทนการสื่อสารแบบดั้งเดิม แต่ในอนาคตอาจมี “ของเล่น” ใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้สื่อสารทดแทนอีกก็เป็นไปได้นะคะ