วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > On Globalization > เศรษฐกิจโลกในกำมือผู้หญิงชื่อ Angela Merkel

เศรษฐกิจโลกในกำมือผู้หญิงชื่อ Angela Merkel

เศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในอันตรายและจะรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้หญิงเพียงคนเดียว

“ทุกคน ไปที่เรือชูชีพเดี๋ยวนี้!!!!” คือสัญญาณอันตรายที่ตลาดกำลังส่งออกมาว่าเศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่าง ใหญ่หลวง นักลงทุนจึงพากันเร่งรีบกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่าง สหรัฐฯ เยอรมนี และประเทศที่ถูกมองว่า “ปลอดภัย” ซึ่งมีเพียงหยิบมือเดียว และยังลดจำนวนลงเรื่อยๆ ในขณะที่นักลงทุนยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 2 ปี และเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอเมริกัน ที่ต้องถือนานถึง 10 ปี ด้วยดอกเบี้ยหน้าตั๋วเพียงน้อยนิดไม่ถึง 1.5% นั้น นักลงทุนเหล่านั้นกำลังแสดงว่าพวกเขากลัวว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซา หรือจะเกิดภาวะเงินฝืดไปอีกนานหลายปี ไม่ว่าสิ่งที่นักลงทุนกลัวจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติมากๆ กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้

“อะไรบางอย่าง” นั้นคือเศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย และหายนะครั้งใหญ่ทางการเงินโลกกำลังจะเกิดขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจ กำลังอ่อนแอทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศ euro zone กำลังดิ่งลึก ตัวเลขคนมีงานทำที่เบาหวิวติดต่อกัน 3 เดือนของ สหรัฐฯ แสดงว่าการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ก็กำลังมีปัญหา หันไปทางประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก็ดูเหมือนหัวจะชนเพดานแล้วเช่นกัน GDP ของบราซิลขณะนี้โตช้ากว่าของญี่ปุ่นเสียอีก ส่วนอินเดียก็กำลังแย่เลยทีเดียว แม้กระทั่งจีน ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวมากเกินไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โลกที่อ่อนแรงเร็วเกินคาด ทั้งๆ ที่เพิ่งฟื้นตัวจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่ปีก่อนได้ไม่นาน ทำให้กลัวกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะมีสภาพเหมือนกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับสภาพที่ซบเซานานนับเป็นสิบปี

แต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่สุด เมื่อเทียบกับอันตรายที่กลุ่ม euro zone และเงินยูโรกำลังจะล่มสลาย สหภาพยุโรป (European Union) เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังจะตกเข้าสู่วังวน แห่งการล่มสลายของธนาคาร การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นี่คือหายนะทางการเงินครั้งใหญ่ที่จะทำให้การล้มละลายของ Lehman Brothers เมื่อปี 2008 กลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย ความเสี่ยงที่กรีซอาจจะต้องออกไปจากกลุ่ม euro zone หลังการเลือกตั้งวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาคการ ธนาคารสเปนที่กำลังเกิดปัญหาหนี้เสียขนาดหนัก และการไหลข้ามไปมาของเงินทุนภายในยุโรปที่กำลังเริ่มเกิดปัญหา ต่างเป็นตัวเร่งไปสู่การแตกสลายของ euro zone ทั้งสิ้น และครั้งนี้อาจไม่มีใครสามารถต้านทานเอาไว้ได้อีก เมื่อปี 2008 ธนาคารกลางและผู้นำประเทศยุโรปได้จับมือกันป้องกันเศรษฐกิจให้รอดพ้นจาก ตกต่ำเอาไว้ได้ แต่ในครั้งนี้ผู้นำยุโรป กลับเอาแต่ทะเลาะกันเอง ส่วนธนาคารกลางต่างๆ ของยุโรปแม้อยากจะช่วย แต่ก็หมดกระสุนที่จะใช้ได้

ความผิดเริ่มที่กรีซ
แต่ซ้ำเติมโดยเยอรมนี
ขณะนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำ ประเทศยุโรป ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่กับเงินยูโร อย่างไรก็ตาม หากผู้นำยุโรปสามารถจับมือกันคิดหาหนทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็ใช่จะสามารถรับประกันเศรษฐกิจโลกได้ แต่ประเด็นอยู่ที่หากผู้นำยุโรปแก้ปัญหาไม่ได้ต่างหาก เมื่อนั้นแหละรับประกันได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะต้องเละแน่ๆ และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ชะตากรรมของเศรษฐกิจ โลกจะอยู่หรือจะไป ขึ้นอยู่กับผู้หญิงเพียงคนเดียว เธอคือ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี

อาจไม่ยุติธรรมนักหากจะโทษ Merkel ให้รับผิดชอบความผิดปกติที่กำลังเกิดกับเศรษฐกิจโลกแต่เพียงผู้เดียว เพราะผู้นำหลายประเทศทั่วโลกก็ดูเหมือนจะล้มเหลวกันโดยถ้วนทั่ว จากการไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย ตั้งแต่อินเดีย ที่การปฏิรูปชะงักงันไปแล้ว ไปจนถึงสหรัฐฯ ที่การทะเลาะเบาะแว้งระหว่าง 2 พรรค หลัก ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นอัมพาต และกำลังจะทำให้การฟื้นตัวที่อ่อนแออยู่แล้วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเจอภัยสองเด้ง คือการขึ้นภาษี พร้อมๆ ไปกับการต้องลดการใช้จ่ายงบประมาณภายในสิ้นปีนี้ ส่วนในยุโรปเอง นักลงทุนไม่ได้ห่วงรัฐบาลที่แสนจะประหยัด มัธยัสถ์ของ Merkel แต่ปัญหาคือ นักลงทุนกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศยุโรปอื่นๆ ที่ไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้าง เศรษฐกิจอย่าง เข้มงวดเหมือนกับเยอรมนีเมื่อ 10 ปีก่อน และยังบริหารเศรษฐกิจได้ดีไม่เท่าเยอรมนี

แต่ถ้าหาก euro zone และเงินยูโรล่มสลาย เยอรมนีเองนั่นแหละที่จะได้รับผลกระทบหนัก การที่ธนาคารในเยอรมนีเองถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเพียง ตัวอย่างจิ๊บๆ ของผลกระทบที่เยอรมนีจะได้รับ ถ้าหากยูโรล่มสลาย และจะไม่โทษเยอรมนีก็ไม่ได้ เพราะแม้ว่ารัฐบาลกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และสเปน จะทำผิดพลาดก็จริง แต่บรรดาประเทศ ลูกหนี้ในยุโรปเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ของบรรดาประเทศเจ้าหนี้ในยุโรปเอง ซึ่งรวมถึงเยอรมนีด้วย ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการเน้น มาตรการประหยัดรัดเข็มขัดที่ตึงเกินไป แผนการช่วยเหลือแบบครึ่งๆ กลางๆ แผนแล้วแผนเล่าที่ไปไม่สุด สักแผนเดียว รวมไปถึงการไม่ยอมกำหนดแผนการที่ชัดเจนสำหรับการรวมตัวกันทางการคลังและการธนาคารของยุโรป ทั้งๆ ที่แผนการดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หาก ต้องการรักษาเงินยูโรสกุลเดียวให้อยู่ รอดต่อไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้ยูโรกำลัง เดินเข้าใกล้การล่มสลายเข้าไปทุกที และเยอรมนีซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทางเดินของยุโรปที่ผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่อาจหนีความรับผิดชอบนี้ได้พ้น

ขึ้นอยู่กับคุณแล้ว Merkel
ทั่วโลกกำลังมีความเห็นว่า Merkel ควรต้องทำอะไรบ้าง หากเธอต้องการปกปักรักษาเงินยูโรสกุลเดียวจริงอย่างที่พูด เริ่มแรกเธอต้องเปลี่ยนจากการเน้นนโยบายประหยัดรัดเข็มขัด ไปเป็น การเน้นกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเธอต้องเดินหน้าสานต่อระบบเงินสกุลเดียวให้เสร็จสมบูรณ์ ด้วยการเดินหน้ารวมการธนาคารของยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งได้แก่การมีระบบประกัน เงินฝากระบบเดียวทั่วยุโรป มาตรฐานการตรวจสอบธนาคาร และการมีมาตรการร่วมกันในการเพิ่มทุนหรือแก้ปัญหาธนาคารที่กำลังประสบปัญหา รวมถึงการออกตราสารหนี้ที่ยุโรปจะรับผิดชอบ ร่วมกัน (debt mutualisation) เพื่อเป็นการสร้างสินทรัพย์ที่ปลอดภัยร่วมกันของยุโรป และช่วยให้ประเทศยุโรปอื่นๆ มีช่องให้หายใจและค่อยๆ ลดปัญหาวิกฤติหนี้ของตัวเองลงได้

แล้วเหตุใดผู้นำที่สามารถที่สุดในยุโรปอย่าง Merkel จึงไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย บางคนบอกว่าเพราะเธอไม่กล้าที่จะอธิบายกับชาวเยอรมันตรงๆ ว่า ขณะนี้เยอรมนีกำลังเผชิญกับทาง ที่ต้องเลือก ระหว่างความคิดผิดๆ ที่ว่า เยอรมนีไม่ควรช่วยอุ้มชาติเพื่อนบ้านยุโรปที่ไม่สมควรจะได้รับการช่วยเหลือ กับความจริง อันน่ากลัวที่ว่า เงินยูโรกำลังจะล่มสลาย สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเยอรมันส่วนใหญ่คัดค้านการทำ debt mutualisation ก็เป็นเพราะคิดว่าเงินยูโรจะไม่ล่มสลาย ถึงแม้จะไม่มีการสร้างตราสาร หนี้ร่วมของยุโรปก็ตาม ส่วนตัว Merkel เองก็เชื่อมั่นว่าการเน้นนโยบายประหยัดของเธอ และการที่เธอยืนกรานไม่ยอมช่วยอุ้มชาติยุโรปที่กำลังเจอปัญหาวิกฤติหนี้นั้น จะเป็นการกดดันให้ชาติเหล่านั้นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Merkel ยังเชื่อว่าถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับเงินยูโรจริง เยอรมนีจะว่องไวพอที่จะลุกขึ้นสกัดปัญหาได้ทันท่วงที

ต้องยอมรับว่าการเน้นมาตรการรัดเข็มขัดของ Merkel ประสบความสำเร็จจริง เห็นได้ชัดจากการหมดอำนาจของ Silvio Berlusconi ในอิตาลี และการที่ชาติยุโรปใต้ต่างพากันผ่านกฎหมาย ปฏิรูปเศรษฐกิจกันยกใหญ่ อย่างที่ไม่มีใครคิดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ต้องจ่ายไปให้กับนโยบายนี้สูงมาก เศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจากการรัดเข็มขัดที่รัดติ้วเกินไป กลับย้อนมาซ้ำเติมปัญหาวิกฤติหนี้ของยุโรป โดยทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝ่ายการเมืองสุดโต่งเริ่มโผล่ตัวออกมาส่งเสียงโวยวาย ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างไม่รู้จริงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่น และผลักให้ euro zone เข้าใกล้ปากเหวของการล่มสลาย

ส่วนความคิดของเยอรมนีที่ว่าเยอรมนีจะปลอดภัยไร้อันตรายทั้งปวงในนาทีสุดท้าย ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับ euro zone จริง เพราะคิดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีความสามารถมากพอ ที่จะเข้าช่วยเสริมสภาพคล่องของประเทศใดประเทศหนึ่งที่เกิดปัญหาได้ แต่นั่นเป็นความคิดที่อันตราย เพียงแค่ภาคธนาคารของสเปนทำท่าว่าจะล่มเท่านั้น Merkel ก็ไม่สามารถจะยับยั้งได้แล้ว ถ้าหากกรีซต้องออกจาก euro zone ขึ้นมาจริงๆ คนเยอรมัน อาจคิดว่าก็สมควรแล้วที่คนทำผิดสมควรจะโดนลงโทษ แต่ถ้าหากเกิด “Grexit” ขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะก็ ไม่เพียงแต่กรีซเท่านั้นที่จะเกิดปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาจะลามแพร่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลาที่ยุโรปเกิดปัญหาวิกฤติหนี้มานานหลายปีนั้น Merkel ยังไม่เคยทำอะไรที่หนักแน่นมากพอที่จะทำให้ตลาดสงบลงได้ เหมือนกับที่สหรัฐฯ เคยทำได้มาก่อนกับแผนอุ้มภาคธนาคารและการเงินครั้งใหญ่ที่เรียกว่าแผน TARP

Merkel จำเป็นต้องมีแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของเงินยูโรสกุลเดียว ก่อนที่วิกฤติของกรีซจะลุกลามไปมากกว่านี้ และแผนนี้จะต้องมีความชัดเจนมากพอที่จะขจัดข้อสงสัยทั้งมวลที่ทุกคนมีต่อเยอรมนีได้ ว่าเยอรมนีจะปกป้องเงินยูโรจริงอย่างที่พูด รวมทั้งต้องมีการลงมือทำทันทีด้วย เพื่อรับประกันว่ายุโรปจะยังคงรวมตัวกันต่อไป อย่างเช่นการให้คำสัญญาว่าจะใช้กองทุนร่วม กันของยุโรปเข้าเพิ่มทุนธนาคารในสเปน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากลงมือทำในสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้ Merkel ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียคะแนนนิยมในเยอรมนี แต่ผลดีที่เกิดขึ้นก็อาจพอชดเชยคะแนนเสียงที่เสียไปได้ เพราะหากเยอรมนี ให้ความชัดเจนว่า จะยังคงร่วมหัวจมท้ายกับการรวมยุโรปต่อไป ก็จะเปิดช่องให้ ECB สามารถทำอะไรได้มากขึ้น อย่างเช่นการเข้าช้อนซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือการเข้าหนุนหลังธนาคารที่กำลัง มีปัญหา และเมื่อความกลัวยุโรปจะล่มสลายค่อยๆ หมดไป ความ เชื่อมั่นของนักลงทุนก็จะกลับคืนมา

ส่วนเศรษกิจโลกอาจยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอ และความไม่สามารถของนักการเมืองต่อไปอีก แต่หาก Merkel และเยอรมนียอมลงมือแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป เพียงแค่นี้ก็สามารถจะช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ถอยหลังออกจากหายนะได้ก้าวใหญ่แล้ว

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์