วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > TV shopping เมื่อสินค้าคือคอนเทนต์ และคอนเทนต์เป็นสินค้า

TV shopping เมื่อสินค้าคือคอนเทนต์ และคอนเทนต์เป็นสินค้า

 
ในขณะที่วงการสื่อโทรทัศน์ไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัล ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในบรรดาหลายๆ ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการโทรทัศน์บ้านเรา
 
อาจจะกล่าวได้ว่า ทีวีโฮมช้อปปิ้ง  เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่มีแนวโน้มการเติบโตและมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งผู้ประกอบการหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ก้าวเข้ามาในตลาดที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น จากช่องรายการในฟรีทีวี ที่เพิ่มขึ้นอีก 24 ช่อง นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้ง ที่จะใช้สื่อทีวีเป็นช่องทางในการทำการตลาด และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น 
 
ด้วยมูลค่าตลาด 5,000-7,000 ล้านบาท ท่ามกลางผู้แข่งขันในปัจจุบันที่มีบรรดาผู้ประกอบการโฮมช้อปปิ้ง 4 ค่ายใหญ่ โดยผู้ครองตลาดรายใหญ่  คือทีวี ไดเร็ค ตามด้วยโอ ช้อปปิ้ง ทรูซีเล้คท์ และน้องใหม่ล่าสุด ช้อป โกลบอล ชาแนล  
 
จากการชะลอการซื้อของผู้บริโภค ด้วยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งด้านการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจ ล่าสุด บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) น้องใหม่ของวงการ ประกาศรุกทีวี ช้อปปิ้ง โดยจับมือกับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมไทย ทีวี โกลบอล เน็ตเวิร์ค (TGN) หรือ ททบ. 5 แพร่ภาพออกอากาศ ช่องช้อป ชาแนล (Shop Chanel) ผ่านความถี่  KU-Band โดยอนาคตตั้งเป้าจะขึ้นครองตำแหน่งเบอร์หนึ่งของทีวีช้อปปิ้งในไทย
 
มร. ชิเกรุ โอฮาชิ กรรมการผู้จัดการและประธานฝ่ายบริหารสูงสุด บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่เคยก่อตั้งสถานี Shop Chanel ในญี่ปุ่นและประสบผลสำเร็จ ได้ระบุว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจการตลาดแบบขายตรง ในรูปแบบ Real-time จำหน่ายสินค้าญี่ปุ่น โดยจะนำเสนอรายการผ่านรูปแบบบันเทิง  24 ชั่วโมง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ก่อตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยเกิดจากการร่วมทุนระหว่างซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป, บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล ในอัตราส่วน 40:30:30 ตามลำดับ
 
จากงบลงทุน 600 ล้านบาท ทั้งนี้ ช้อป ชาแนล มั่นใจว่าการผนึกกำลังกับไทยทีวี โกลบอล เน็คเวิร์ค หรือ TGN จะช่วยขยายฐานลูกค้าไปทั่วประเทศมากขึ้น ในขณะที่ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีจะต้องทำยอดขายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท และคาดว่าอาจจะทะลุ 10,000 ล้านบาทในเวลา 7-8 ปีเช่นกัน
 
ปัจจุบันสินค้าที่จำหน่าย จะประกอบด้วยเครื่องประดับ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า โดยเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นสินค้าไทย ในสัดส่วน 70:30 โดยต่อไป อาจจะปรับสัดส่วน เป็น 50:50 ในขณะที่สินค้า ที่แพงที่สุด อยู่ที่ราคา 80,000 บาท และต่ำสุด อยู่ที่  900  บาท 
 
“จุดขายของช้อป ชาแนล และเป็นความต่างจากทีวีชอปปิ้งรายอื่นๆ ก็คือ  1. Tone & Manner  การดำเนินรายการของพิธีกร และการนำเสนอรายการภายใต้ vision ของบริษัทที่จะผลิตรายการ TV ที่ดี ซึ่งเป็นการผสมผสาน news & drama โดยเน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่สนุกสนานแบบละคร ซึ่งถือว่าเป็นการทำการตลาดโดยตรง ที่เข้าถึงลูกค้า และเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้จดจ่ออยู่กับเนื้อหารายการที่ผู้ผลิตตั้งใจจะนำเสนอให้มากที่สุด 2. สินค้าที่ขายจะเป็น best seller ในญี่ปุ่น 3. สินค้าที่มีไอเดียดีๆ และประการสุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ คือการที่เรามีพันธมิตรที่ดี” มร. ชิเกรุ โอฮาชิ กล่าว 
 
นอกจากสินค้าอุปโภคแล้ว  ช้อป ชาแนล ยังได้เริ่มขายอาหารและผลไม้สดแบบพรีออร์เดอร์ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เช่นสตรอเบอร์รี่ รวมถึงอาหารแช่แข็ง ซึ่งช้อป ชาแนลเป็นเจ้าแรกที่นำเข้าสินค้าแช่แข็งมาขายในตลาดเมืองไทย
 
นอกจากของกินของใช้แล้วช้อปชาแนลยังได้เริ่มจับตลาดการท่องเที่ยว โดยเริ่มขายโปรแกรมการท่องเที่ยว ไปต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย  
 
ทั้งนี้ นอกจากการร่วมมือกับ TGN แล้ว บริษัทฯ ยังมีการเปิดตัวเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ รวมทั้งการออกแคมเปญการลดราคาสินค้าพร้อมโปรโมชั่นครั้งใหญ่เพื่อกระตุ้นยอดขาย
 
“เราจะยึดติดอยู่กับปรัชญาของบริษัท ที่ว่า ช่องช้อป แชนแนล (SHOP Channel) ลูกค้าแต่ละท่านจะได้รับความใส่ใจเป็นรายบุคคล ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และได้รับความเคารพจากทางบริษัท โดยทางบริษัทจะไม่มีการนำเสนอเกินความเป็นจริง หรือไม่บิดเบือนหรือหลอกลวงในการขายสินค้า บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อที่จะนำเสนอบริการที่ดีที่สุด เรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบความพึงพอใจเต็ม 100% ให้แก่ลูกค้า” มร.ชิเกรุ โอฮาชิ กล่าว 
 
ขณะที่พลโทนันทพล จำรัสโรมรัน รองผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก กล่าวโดยสรุปของความร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า “ถือเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำไลฟ์สไตล์คนเมืองอย่างเต็มขั้น โดยเฉพาะเรื่องความสะดวกสบาย ทั้งนี้ นอกจากความบันเทิงที่เรามอบให้แล้ว เรายังมุ่งมั่นการแสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพและมีคอนเทนต์น่าสนใจ เพื่อเป็นทางเลือกที่สำคัญในการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนดู โดยแนวคิดการบริหารงานกับพันธมิตรคือ การเป็นสื่อกลางในการนำข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทั้งสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการออกอากาศในย่านความถี่ KU-Band ตลอด 24 ชั่วโมงนั้นถือเป็นการขยายฐานลูกค้าอย่างชัดเจน ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ด้วยการนำส่งสัญญาณสู่กลุ่มพันธมิตรของทีจีเอ็น (TGN) ทั้งหมดทั่วประเทศ รวมถึงมีแนวคิดในการทำการตลาดไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน จึงเชื่อมั่นว่า ช้อป แชนแนล (SHOP Channel) จะสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง” 
 
ในขณะที่น้องใหม่ออกตัวบุกเต็มที่ บรรดาค่ายต่างๆ ก็มีการปรับกลยุทธ์ในการขายเต็มที่เช่นกัน ทีวีไดเร็ค เจ้าตลาดรายใหญ่ ได้วาง  5 กลยุทธ์หลักในการทำการตลาดในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม, การเปิดตัวสินค้าที่มีความหลากหลาย จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่น เพิ่มบริการเสริม และรวมถึงการสร้างพนักงานให้เป็นคนรุ่นใหม่และมีประสิทธิภาพ พร้อมตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ 2,500   ล้านบาท
 
ด้าน ทรู จีเอส ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้งช่อง “ทรูซีเล็คท์” มุ่งขยายฐานกลุ่มแมส โดยมุ่งลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 
            
ขณะที่โอ ชอปปิ้ง บริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ. แกรมมี่ กับซีเจโอ บริษัทโฮมช้อปปิ้งยักษ์ใหญ่จากประเทศเกาหลี ที่มีสโลแกนว่า “แค่โทรชีวิตก็โอแล้ว” ก็ปรับกลยุทธ์ โดยเปิดแคมเปญการจัดเซตสินค้าในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อกระตุ้นการขายและขยายฐานลูกค้า
 
ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและต่อเนื่องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผนวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทีวีโฮมช้อปปิ้งจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างรุนแรง