วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Life > ไขข้อสงสัย “เครดิตบูโร” สำคัญอย่างไร? เมื่อจะกู้ซื้อบ้าน

ไขข้อสงสัย “เครดิตบูโร” สำคัญอย่างไร? เมื่อจะกู้ซื้อบ้าน

“ที่อยู่อาศัย” คือหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำเนินชีวิต และเชื่อแน่ว่าการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของใครหลายๆ คน แม้ว่าจะต้องใช้เงินและเพิ่มภาระหนี้ก้อนใหญ่ก็ตาม แต่นั่นก็มาพร้อมกับความมั่นคงในชีวิต

การยื่นกู้ซื้อบ้านแม้จะมีภาระหนี้สินอยู่จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การยื่นกู้ซื้อบ้านย่อมมีอุปสรรคและปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอยู่ไม่น้อย

อุปสรรคใหญ่เมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ข้อมูลจากแบบสอบถามของ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อตลาดที่อยู่อาศัย ระบุว่า อุปสรรคใหญ่เมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจาก

1. รายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคง 59%

2. ประวัติทางการเงินที่ไม่ดี 46%

3. ไม่มีเอกสารประกอบที่เพียงพอ 38%

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเงินมีความสำคัญอันดับต้นๆ ในการยื่นกู้ ซึ่งกลายเป็นความกังวลและพัฒนาต่อเนื่องไปเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การมีประวัติหนี้สินแสดงอยู่บนเครดิตบูโรจะทำให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือยื่นกู้ไม่ผ่าน

แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นความเข้าใจผิดที่สร้างความกังวลใจและทำให้ผู้ที่ต้องการมีบ้านพลาดโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามไปด้วย

“เครดิตบูโร” ไม่ใช่แบล็กลิสต์!
“เครดิตบูโร” (Credit Bureau) หรือ “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” เป็นองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดเก็บข้อมูลประวัติธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ผ่อนรถยนต์ และอื่นๆ รวมไปถึงประวัติด้านการเงินเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ ทั้งการกู้ ผ่อน จ่ายทั้งหมดของเจ้าของข้อมูล ซึ่งจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตของบุคคลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติดีหรือประวัติไม่ดีก็ตามเพียงเท่านั้น โดยไม่มีหน้าที่หรืออำนาจในการอนุมัติสินเชื่อใดๆ

ส่วนหน้าที่ของการอนุมัติการกู้เงินจะเป็นของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อผู้กู้ยื่นขอสินเชื่อ ธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ จะนำข้อมูลจากเครดิตบูโรมาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ ทั้งพฤติกรรมการใช้เงิน วินัยในการผ่อนชำระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

แต่ “การติดแบล็กลิสต์” เป็นเพียงคำนิยามของผู้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงเท่านั้น หากผู้ยื่นกู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติก็สูงตามไปด้วย แต่ถ้ามีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี ผ่อนชำระไม่ตรงตามกำหนด มียอดค้างชำระหนี้เป็นจำนวนมาก ก็มีแนวโน้มที่จะถูกปฏิเสธสินเชื่อได้

เตรียมความพร้อมอย่างไรก่อนกู้ซื้อบ้าน
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้แนะนำแนวทางในการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินเพื่อซ่อมประวัติหนี้เสียบนเครดิตบูโร และสร้างวินัยทางการเงินก่อนยื่นกู้ซื้อบ้าน ไว้ดังนี้

1. เข้าใจสถานะเครดิตบูโร
ผู้ยื่นกู้ควรตรวจสถานะเครดิตบูโรของตนก่อนจะยื่นขอกู้ซื้อบ้าน/คอนโดฯ เพื่อให้ทราบประวัติทางการเงินที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หากพบว่ามีประวัติการเงินที่ไม่ค่อยดีนัก ผู้ยื่นกู้ก็จะสามารถวางแผนแก้ไขได้ทันท่วงที

ปกติแล้วรายงานข้อมูลเครดิตจะเก็บข้อมูลเครดิตที่ได้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินย้อนหลังเป็นเวลาไม่เกิน 36 เดือนหรือ 3 ปี โดยระบุสถานะบัญชีด้วยตัวเลขที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

“10” คือ สถานะปกติ เจ้าของบัญชีมีการชำระสินเชื่อตามจำนวนยอดเงินปกติ ตรงตามเงื่อนไข และไม่มียอดค้างชำระ

“11” คือ สถานะปิดบัญชี เจ้าของบัญชีได้ทำการชำระหนี้ตามยอดค้างหมดแล้ว

“12” คือ สถานะในการพักชำระหนี้ เจ้าของบัญชีได้ทำการขอพักชำระหนี้ที่เคยมียอดค้างชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ

“20” คือ สถานะในการค้างชำระหนี้ในระบบเกิน 90 วัน ซึ่งสถานะนี้ส่งผลเสียต่อเจ้าของบัญชี เนื่องจากมียอดค้างชำระหนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

2. สร้างวินัยในการจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
หากผู้ยื่นกู้มีสถานะบัญชีเครดิตบูโรปกติ ขั้นตอนต่อไปคือวางแผนจัดการการเงินปัจจุบันให้เป็นระบบ โดยสรุปภาระหนี้ทั้งหมดว่าเหลือเท่าไหร่ ใช้ระยะเวลาผ่อนชำระอีกนานเท่าใด ในระหว่างนี้มีเงินเหลือเพื่อเก็บออมไว้ในยามฉุกเฉินหรือไม่ และประเมินว่าหากมีภาระในการผ่อนหนี้บ้านเพิ่มขึ้น สภาพคล่องทางการเงินจะยังสามารถบริหารจัดการได้หรือไม่

แต่ถ้าหากมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ผู้ยื่นกู้ควรสรุปรายรับและรายจ่ายที่มีก่อนเพื่อวางแผนการเงินใหม่ และประเมินความสามารถในการชำระหนี้คงค้างตามกำลังที่ตนเองไหว จากนั้นจึงขอเจรจากับทางธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอพักชำระหนี้ หรือขอชำระหนี้ขั้นต่ำ เพื่อให้สามารถปิดบัญชีหนี้คงค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุด และหยุดสร้างหนี้ใหม่สักระยะหนึ่งควบคู่ไปกับเริ่มออมเงิน โดยคำนวณว่า หากต้องผ่อนหนี้บ้านต่อเดือนเป็นจำนวนเงินเท่านี้จะกระทบกับแผนการใช้จ่ายหรือไม่ นอกจากนี้ ควรทดลองเก็บเงินค่าผ่อนบ้านสำรองไว้ประมาณ 3-6 เดือน เพื่อเป็นการซ้อมและเช็กความพร้อมก่อนเป็นหนี้จริง

3. เช็กสุขภาพการเงิน สร้างประวัติดีก่อนยื่นกู้
ไม่ขาดชำระหนี้ที่มีเพื่อสร้างประวัติที่ดี หรือขอยื่นกู้ร่วมกับคนในครอบครัวที่มีประวัติเครดิตบูโรที่ดี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการขออนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ ศึกษาเกณฑ์จากสถาบันการเงินก่อนยื่นกู้ เช่น ฐานเงินเดือนที่มีสามารถขอเงินกู้สูงสุดได้เท่าไร วางกรอบในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ไม่เกินภาระ เปรียบเทียบแคมเปญสินเชื่อจากค่ายต่างๆ และเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นกู้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเครดิตบูโรเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น ไม่มีบทบาทในการอนุมัติโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด ยังคงมีอีกหลากปัจจัย หลายองค์ประกอบ ที่ธนาคารและสถาบันการเงินนำมาใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้าน และในกรณีที่กู้ไม่ผ่าน ผู้ยื่นกู้จะได้รับหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ยื่นกู้นำไปใช้ปรับปรุงข้อมูลเพื่อแสดงศักยภาพในการผ่อนชำระก่อนที่จะยื่นกู้ใหม่อีกครั้ง

ที่มา: DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study

ใส่ความเห็น