“ถ้าผมนั่งอยู่เฉยๆ คนอื่นก็จะเข้ามา จึงถือเป็นหน้าที่ของตลาดไทที่จะผลักดันให้เป็นฮับของอาเซียน” คำกล่าวของประดิษฐ์ ภัทรประสิทธ์ ประธานกรรมการ บริษัทไทย แอ๊กโกร เอ๊กซเชนจ์ จำกัด เจ้าของตลาดไท ในงานแถลงข่าวประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ ด้วยมูลค่าการลงทุนถึง 2,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนสูงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการตลาดพืชผลของไทย
ตลาดไทเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2540 รองรับสินค้าประมาณ15,000 ตันต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตในประเทศ บนพื้นที่ 450 ไร่ หรือประมาณ 720,000 ตารางเมตร จำนวนร้านค้า 3,000ร้านและมีผู้ซื้อผู้ขายมากกว่า 100,000 คนเข้ามาทำการค้าขายในแต่ละวัน พร้อมเงินหมุนเวียนมากกว่า500ล้านบาทต่อวัน ตลาดไทจึงเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้สดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางในการค้าผักและผลไม้สดของประเทศไทย
ปัจจุบันตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 10กิโลเมตร ถือเป็นตลาดพี่ตลาดน้องที่รองรับการค้าส่งผักและผลไม้สด โดยมีสินค้าเกษตรผ่านเข้าออกมากกว่า 15,000 ตันต่อวัน บ่งบอกถึงศักยภาพและโอกาสที่ดีมากของตลาดไทที่จะเดินหน้าเชิงรุกเพื่อก้าวสู่การเป็นฮับสำหรับการค้าในภาคส่วนนี้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่กำลังจะเกิดขึ้น
“กลยุทธ์ของเราคือต้องขยับตัวให้เร็ว และลงทุนให้หนัก โอกาสมีไม่บ่อยนัก ถ้าเราสูญเสียโอกาสนี้เท่ากับเสียการเป็นผู้นำในตลาดอาเซียน ซึ่งทุกวันนี้เราเป็นอยู่แล้ว เรามองไม่เห็นใครในอาเซียนนอกจากเวียดนาม ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2ถ้าเราไม่ทำ เขาก็จะเข้ามาใกล้เรา ถ้าทำ เราก็จะก้าวกระโดดทิ้งห่างเขาไปเลย” ประดิษฐ์กล่าว
“ทุกวันนี้มูลค่าการซื้อขายเฉพาะเมืองไทยจากจำนวนประชากร 65 ล้านคน ประมาณหนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาทต่อปี ผมคิดว่าถ้าเราซื้อขายในอาเซียน ซึ่งมีประชากรเพิ่มอีก 10 เท่า คาดว่ามูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ประมาณ 500,000ล้านบาท” ประดิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
ในมุมมองด้านคู่แข่งในแถบอาเซียน การก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าผักและผลไม้ในอาเซียนของไทยนั้นเรียกได้ว่าแทบจะไร้คู่แข่ง ถ้าประเมินจากศักยภาพด้านโลจิสติกส์และความพร้อมของไทยที่มีภาคการเกษตรเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ โดยมีพื้นที่ภาคการเกษตรถึง 131ล้านไร่ จากพื้นที่รวมทั้งประเทศ 318 ล้านไร่ และมีการจ้างงานในภาคส่วนนี้ถึง 15 ล้านคน ประกอบกับไทยมีมูลค่าส่งออกผักและผลไม้สดประมาณ 99,000 ล้านบาท และเป็นประเทศผู้ส่งออกผักและผลไม้สดที่ใหญ่ติด 1ใน 10 ของโลก
ทั้งนี้ ตลาดไทคาดหวังว่าถ้าแผนดำเนินงานประสบความสำเร็จ จะช่วยภาคการเกษตรโดยรวมของประเทศไทยได้ เนื่องจากการเปิดตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคจะทำให้เกษตรกรไทยสามารถนำสินค้าการเกษตรไปสู่ผู้ซื้อรายใหม่ได้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเข้าถึงตลาดใหม่ได้สะดวกรวดเร็วเป็นการเปิดตลาด เพิ่มลูกค้าให้กับเกษตรกรไทย จะส่งผลให้ราคาสินค้าของเกษตรกรไทยดีขึ้นตามไปด้วย
สำหรับแผนลงทุนภายใต้เงินลงทุนมหาศาลนั้น มร. เกรแฮม แซนเดอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทย แอ๊กโกร เอ๊กซเชนจ์ จำกัด ผู้เป็นหัวหอกสำคัญของแผนลงทุนครั้งนี้ ได้กล่าวถึงแผนการลงทุน 4 แผนการหลัก ตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายนไม่ว่าจะเป็นการเปิดศูนย์คอนเทนเนอร์ใหม่ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นแหล่งค้าขายผักและผลไม้นำเข้า ด้วยงบลงทุน 130 ล้านบาท สามารถรองรับได้ 13,140 คอนเทนเนอร์ต่อปี
โดยบริษัทมีแผนลงทุน 600 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินใกล้ตลาดไทเพิ่มอีก 50 ไร่ จากพื้นที่เดิมที่มี 450 ไร่ สำหรับขยายขีดความสามารถของศูนย์คอนเทนเนอร์ขึ้นอีก เป็น 6 หมื่นคอนเทนเนอร์ต่อปี ภายในปี 2557
2. การเปิดสำนักงานใหม่บนเนื้อที่ 1,200 ไร่ ในตลาดไท เพื่อยกระดับการบริการให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเดินไปสู่เป้าหมาย
3. เปิดศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าใหม่ในตลาดไท เพื่อทำหน้าที่ป้อนสินค้าให้กับโมเดิร์นเทรด ซึ่งมีเทสโก้โลตัส หนึ่งในลูกค้าหลัก โดยศูนย์นี้สามารถรองรับสินค้าได้ 1 พันตันต่อวัน และในต้นปี 2557 บริษัทจะใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถของศูนย์แห่งนี้ให้รองรับสินค้าได้ถึง 3 พันตันต่อวัน พร้อมกับเพิ่มคลังสินค้าสำหรับการผลิต การบรรจุหีบห่อ และห้องเย็น ซึ่งจะทำให้ตลาดไทมีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าที่มีความทันสมัยมากที่สุด เพื่อรองรับลูกค้าตลาดค้าส่งและลูกค้าโมเดิร์นเทรดในปัจจุบัน
อีกแผนลงทุนที่จะยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานหลักของตลาดไท โดยใช้เงินลงทุน 900 ล้านบาท ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกแกนหลักยาว 2 กิโลเมตร เครื่องสูบน้ำที่มีความสามารถในการสูบน้ำได้ 500 คิวบิกเมตรต่อวัน จำนวน 4 เครื่อง และโรงบำบัดน้ำเสีย 2 โรงที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ขณะเดียวกันตลาดไทก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ในตลาด 55,000 ตันต่อปี ไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าอีกด้วย
แผนการลงทุนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นดำเนินการเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดไทให้ทันสมัยมากขึ้น ตามเป้าหมายผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นฮับการค้าส่งผักและผลไม้สดของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่มีมูลค่าตลาดผักและผลไม้สดรวมกันประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่จะหนุนนำธุรกิจภาการเกษตรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง