วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Home > On Globalization > ปีใหม่แบบญี่ปุ่น (2)

ปีใหม่แบบญี่ปุ่น (2)

 

ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวญี่ปุ่นก็คือเรื่องของการส่งความสุขให้กับผู้คนที่เคารพรัก และผูกพันถึงกันและกัน
 
การส่งความสุขแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Nengajo นี้ มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นลำดับนับตั้งแต่สมัย Heian ก่อนจะคลี่คลายมาสู่รูปแบบการส่งความสุขด้วยไปรษณียบัตร ซึ่งเเกิดขึ้นในยุคสมัย Meiji (1868-1912)
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งกิจการไปรษณีย์สมัยใหม่ในปี 1871 ควบคู่กับการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตามแบบตะวันตกในปี 1873
 
บทบาทของ Nengajo ในรูปแบบของไปรษณียบัตรในห้วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นประหนึ่งการหยิบยื่นความเป็นสมัยใหม่ให้กระจายสู่ประชาชนทุกระดับอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ควบคู่กับการสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน
 
นอกเหนือจากถ้อยความและคำอวยพรปีใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของไปรษณียบัตรเหล่านี้แล้ว ความเป็นไปของ Nengajo ในเวลาต่อมายังเป็นภาพสะท้อนเรื่องราวในสังคมญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
 
เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สิ้นสุดลงพร้อมกับความบอบช้ำของญี่ปุ่น กิจการไปรษณีย์ได้ก้าวไปสู่การทำให้ Nengajo เป็นมากกว่าบัตรอวยพรความสุข หากผนวกเอาการหยิบยื่นโอกาส ด้วยการพิมพ์หมายเลขประจำไปรษณียบัตรแต่ละใบสำหรับการจับรางวัลแบบ lottery เข้าไปด้วย
 
ท่านผู้อ่านอาจกำลังนึกถึงเงินรางวัล แบบที่ทำให้ผู้รับผันชีวิตให้กลายเป็นผู้มั่งคั่งในชั่วข้ามคืน ดุจเดียวกับที่ได้พบเห็นผู้โชคดีจากกิจกรรมส่งไปรษณียบัตรทายผลกีฬาหรือแม้กระทั่งฝาขวดเครื่องดื่มนานาชนิดในบ้านเรา
 
หากแต่ในความเป็นจริงของรางวัลจาก Nengajo ในแต่ละช่วงบ่งบอกลำดับขั้นของการพัฒนาทั้งในมิติของเศรษฐกิจอุสาหกรรมและสังคมวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างน่าสนใจ
 
ไม่ว่าจะเป็นจักรเย็บผ้าในช่วงทศวรรษ 1950 มาสู่โทรทัศน์และวิทยุทรานซิสเตอร์ ในช่วงทศวรรษ 1960 มาสู่เตาไมโครเวฟ ในช่วง 1980 รางวัลท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วง 1990 ไปสู่ทีวีจอแบน notebook รวมถึงชุด home theater และหรือโทรศัพท์ สมาร์ทโฟนในห้วงเวลาปัจจุบัน
 
แม้ว่า Nengajo จะส่งถึงตู้จดหมายของผู้รับแต่ละรายตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ และการอ่าน Nengajo แต่ละใบเป็นกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวจะได้ทำร่วมกันในช่วงวันหยุดปีใหม่ แต่การลุ้นรางวัลต้องรอไปจนกว่าจะถึงกลางเดือนมกราคม ซึ่งถึงที่สุดแล้วรางวัลที่ได้รับก็เป็นประหนึ่งโบนัส ที่คงไม่มีความสำคัญมากเท่ากับความสุขที่ได้รับผ่าน Nengajo แต่ละใบหรอกนะคะ
 
เพราะการได้รับรู้ความเป็นอยู่และเป็นไป ในฐานะที่เป็นการ อัพเดท ข้อมูลจากญาติสนิทมิตรสหายในแต่ละปี นอกจากจะทำให้ได้รู้สึกดีใจกับความก้าวหน้าเติบโตของผู้คนแล้ว การได้หวนระลึกถึงมิตรไมตรีและความผูกพันย่อมสร้างความอิ่มเอิบจิตใจ มากเสียยิ่งกว่าการได้โชตได้ลาภใดๆ เสียอีก
 
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะยกขึ้นมา บันทึกไว้ในที่นี้ ก็เห็นจะเป็นวัตรปฏิบัติของคุณพ่อบุญธรรมชาวญี่ปุ่น ที่ครอบครัวเราให้ความรักเคารพ โดยเฉพาะเรื่องที่ท่านให้ความสำคัญ ในการส่งความสุขในช่วงปีใหม่หรือที่เรียกว่า Nengajo อย่างน่าสนใจไม่น้อยเลย โดยในแต่ละปีคุณพ่อบุญธรรมท่านนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งไปรษณียบัตรที่มีคำอวยพรที่เป็นมงคลเท่านั้น  
 
หากแต่ไปรษณียบัตรแต่ละใบยังมีภาพพิมพ์ลายเส้นบุคคลในครอบครัวที่เป็นฝีมือวาดอันเรียบง่ายสวยงามของท่านเอง บอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปในปีที่ผ่านมาเพื่อแจกจ่ายให้กับเพื่อนฝูงญาติมิตร และยังคงปฏิบัติต่อเนื่องมาตราบถึงปัจจุบัน
 
เมื่อแรกได้พบเห็นเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าเกิดความประทับใจอย่างมาก เพราะนี่คือการบันทึกประวัติศาสตร์ครอบครัวที่ทรงพลัง ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนความเป็นสังคมแห่งการบันทึกของญี่ปุ่นและความละเมียดละไมเชิงวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกลงไปสู่ระดับชาวบ้านสามัญชน
 
แม้ว่าในวันนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้ภาพดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเป็นที่นิยมในสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง จนทำให้เราสามารถพิมพ์ข้อความหรือส่งสารแสดงความยินดี อวยพร พร้อมกัยภาพถ่ายครอบครัวถึงกันได้ไม่ยาก
 
แต่สำหรับคุณพ่อบุญธรรมท่านนี้แล้ว ท่านยังสมัครใจที่จะส่ง Nengajo โดยใช้เทคนิคภาพพิมพ์ลายเส้นที่ท่านวาดเองซึ่งใช้มาต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี เพื่อเก็บเป็นบันทึกที่มีคุณค่าสำหรับคนรุ่นหลังสืบต่อไป
 
บางครั้งการมาถึงของสิ่งอำนวยความความสะดวก ซี่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนสบายและง่ายขึ้นอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมีทัศนคติ ต่อสิ่งรอบตัวในแบบที่กระด้างและหยาบขึ้นอย่างไม่ทันได้รู้สึกตัว
 
ท่านผู้อ่านละครับ ปีใหม่ที่ผ่านมาได้ทานอาหารมงคลชุดพิเศษ หรือส่งผ่านความสุขและโอกาสให้ใครบ้างหรือเปล่า และด้วยวิธีการเช่นใดคะ

 

Column: JAPANORAMA