Column: AYUBOWAN
สันทนาการหลักๆ ของชนชาวศรีลังกานอกจากจะออกมาหย่อนใจในสวนสาธารณะ หรือรวมกลุ่มเล่นกีฬากันอย่างสนุกสนานแล้ว ดูเหมือนว่าโรงภาพยนตร์ ก็เป็นแหล่งสันทนาการใหญ่ที่ดึงดูดผู้ชมได้อย่างหนาแน่น
ความเป็นไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ศรีลังกา ในด้านหนึ่งก็คงคล้ายและใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้อีกหลากประเทศที่ถูกบดบังไว้ด้วยภาพยนตร์จาก Bollywood ของอินเดียอยู่เป็นด้านหลัก
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของศรีลังกาซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1947 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นจากผลของผู้อำนวยการสร้างจากอินเดียใต้ ที่ทำให้ภาพยนตร์ศรีลังกาในยุคบุกเบิก ดำเนินไปท่ามกลางมิติของเทคนิควิธีการเล่าเรื่อง การถ่ายทำตามขนบแบบภาพยนตร์อินเดียไปโดยปริยาย
แม้ว่าภาพยนตร์ศรีลังกาที่ผลิตขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ผลิตภายใต้สื่อภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาหลักและเป็นภาษาของชนหมู่มากของศรีลังกา แต่ภาพยนตร์ภาษาฮินดีจากอินเดียก็ได้รับความสนใจและครองความนิยมในหมู่ผู้ชมได้เสมอ
ประเมินในมิติที่ว่านี้ก็คงไม่แตกต่างจากแฟนหนังชาวไทยที่พร้อมจะซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์จาก Hollywood มากกว่าที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ไทยดีๆ สักเรื่อง หรือในความเป็นจริงภาพยนตร์ไทยดีๆ ยังไม่ค่อยมีให้สนับสนุนก็เป็นได้
แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพยนตร์ภาษาทมิฬจากฐานของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกแห่งที่เมือง Kodambakkam ในเขต Chennai รัฐ Tamil Nadu ที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็น Kollywood ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่จำกัดเฉพาะในบริบทของเมือง Chennai หรือในและอาณาเขตแว่นแคว้นของรัฐ Tamil Nadu ทางตอนใต้ของอินเดียเท่านั้น หากยังแผ่ข้ามมาสู่ศรีลังกาอีกด้วย
ภาพยนตร์ภาษาทมิฬในนาม Kabali กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่สร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า Kabali สร้างสถิติใหม่เป็นภาพยนตร์อินเดียที่ทำรายได้สูงสุดจากการฉายทั้งในโรงภาพยนตร์ 3,200 แห่งในอินเดียและอีกจำนวนหนึ่งในต่างประเทศในช่วงสัปดาห์แรก ด้วยมูลค่ารวมมากถึง 33 ล้านเหรียญสหรัฐ
เนื้อหาของ Kabali ในฐานะที่เป็นหนังแอคชั่นของกลุ่มอันธพาลนอกกฎหมายอยู่ที่การทวงคืนความเป็นธรรมจากอาชญากรรมที่เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียอิสรภาพไปนานถึง 25 ปี ซึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้ นักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายสำนักคงให้คะแนนในระดับ.2.75-3.5 จากคะแนนเต็ม 5 เท่านั้นเป็นอย่างมาก
หากแต่ความสำเร็จของ Kabali ในด้านหนึ่งอาจไม่ได้เกิดจากบทภาพยนตร์ หรือเนื้อเรื่องที่แตกต่างออกไปจากหนังแอคชั่นที่คุ้นตา หากแต่เป็นผลจากบุคลิกของผู้แสดงนำและกิจกรรมทางการตลาดที่สอดรับกันอย่างลงตัว
ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ปล่อยออกมาสู่สายตาสาธารณะเมื่อเดือนเมษายน กระตุ้นความสนใจของผู้ชมอย่างรวดเร็วโดยมีผู้เข้าชมตัวอย่างมากถึง 5 ล้านครั้งภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่ผ่านหลักไมล์นี้ ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ตัวอย่างจากอินเดียที่สามารถมีผู้เข้าชมมากถึง 30 ล้านครั้งในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์ Kabali ทำให้สำนักข่าวหลักๆ ทั้ง BBC และ Al Jazeera ให้ความสนใจและรายงานข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ขณะที่สายการบิน AirAsia กลายเป็นผู้สนับสนุนและพันธมิตรหลักในการโปรโมตภาพยนตร์ Kabali ด้วยการเพนต์เครื่องบินด้วยธีมจากภาพยนตร์เรื่องนี้และอาจติดตามมาด้วยกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในอนาคต
เหตุผลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น ในด้านหนึ่งเป็นเพราะแม้ Kabali จะเริ่มต้นถ่ายทำใน Chennai แต่ฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้กลับอยู่ในมาเลเซีย และมีบางฉากที่ถ่ายทำในกรุงเทพฯ และฮ่องกง ซึ่งการทำการตลาดกับแฟนภาพยนตร์ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน
ประเด็นที่น่าสนใจ แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญอีกประการหนึ่งอยู่ที่ ช่วงจังหวะเวลาที่ Kabali เปิดฉายรอบแรกในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกรวมถึงในศรีลังกาด้วย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เพราะขณะที่สังคมศรีลังกาที่มีบาดแผลจากสงครามกลางเมืองระหว่างสิงหลและทมิฬ ถือว่าวันที่ 23 กรกฎาคม 1983 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดฉากการต่อสู้ด้วยกำลังที่ยืดเยื้อยาวนานมาอีกกว่า 3 ทศวรรษ
เหตุการณ์ลอบทำร้ายและล้อมสังหารหน่วยลาดตระเวนของรัฐในนาม Four Four Bravo โดยกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในค่ำคืนวันที่ 23 กรกฎาคม 1983 ที่เมือง Jaffna กลายเป็นชนวนให้ชาวสิงหลเกิดความไม่พอใจและปะทะนองเลือดเพื่อแสดงความต่อต้านชาวทมิฬไปทั่วประเทศโดยเฉพาะในกรุงโคลัมโบ
ความรุนแรงของสถานการณ์ที่ยาวนานนับสัปดาห์ถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า Black July ยังคงเป็นปมเขื่องในหัวใจของทั้งชาวสิงหลและชาวทมิฬที่ต้องสูญเสียญาติพี่น้องและบุคคลที่รักไปอย่างไม่ต้องสงสัย
แม้ Kabali จะไม่ใช่ภาพยนตร์แนวอิงการเมืองแบบที่นำเสนอผ่าน Madras Cafe (2013) ที่เป็นประหนึ่งการสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามขั้นรุนแรงก่อนสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของศรีลังกา แต่สำหรับชาวทมิฬในศรีลังกาภาพยนตร์เรื่องนี้อาจกระตุ้นความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวศรีลังกาทมิฬรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งอดีต หากเป็นเพียงเหยื่อจากความขัดแย้งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ เป็นจำเลยในอาชญากรรมที่พวกเขาไม่ได้สร้าง
พวกเขาควรได้รับความเป็นธรรมในบริบทของสังคมใหม่ในยุคหลังสงครามกลางเมืองอย่างไร หรือพวกเขายังต้องดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางอคติที่คับแคบว่าด้วยชาติพันธุ์ต่อไปอีก เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป