ฟาสต์แฟชั่น ถือครองสัดส่วนในอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ไม่น้อย นั่นเพราะเป็นสินค้าที่ขายได้ในเวลารวดเร็ว ต้นทุนการผลิตต่ำ เสื้อผ้าเหล่านี้มีราคาที่ไม่แพงมาก ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง และจะถูกผลัดเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่การมาไว ไปไว กลับสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาลในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ฝ้าย คือวัสดุหลักที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตฝ้ายต้องใช้พื้นที่และน้ำในปริมาณมาก การปลูกฝ้ายนั้นต้องใช้น้ำมากถึง 93 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 10,000-20,000 ลิตรต่อการผลิตเสื้อผ้า 1 กิโลกรัม ขณะที่การปลูกฝ้ายยังทำให้ดินรวมถึงแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงปนเปื้อนปุ๋ยและยาฆ่าแมลง กระทบต่อระบบนิเวศโดยตรง
อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าหากเปรียบเทียบกับตัวเลขคาร์บอนฟุตพรินต์ของการท่องเที่ยวกันระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน และไม่ใช่เพียงขั้นตอนการผลิตที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การซัก วิธีการทิ้งเสื้อผ้า เรียกได้ว่าทั้งกระบวนการของอุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุกๆ ปี หรือประมาณ 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าแฟชั่นจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประวรา เอครพานิช ผู้บริหาร บูติดนิวซิตี้ คือหนึ่งในนั้น ที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง นำทรัพยากรส่วนเกินมาเข้าสู่กระบวนการ Upcycle และ Recycle โดยมีเป้าหมายสร้างความยั่งยืน
“เราเป็นบริษัทที่ทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปบริษัทแรกในไทย ดำเนินธุรกิจมา 50 ปี นอกจากการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว เรายังรับจ้างผลิตยูนิฟอร์ม ชุดทำงาน โดยทำให้มากกว่า 100 บริษัท ไม่น้อยกว่า 200 ดีไซน์ ทุกการผลิตของเรา เราจะเห็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะเศษผ้า และผลกระทบของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงทำให้เราต้องเริ่มทำอะไรเพื่อสังคม เปลี่ยน Fashion is waste ให้เป็น Sustainable Fashion”
บูติคนิวซิตี้ ก่อตั้งโดย ศิรินา ปวโรฬารวิทยา บุตรคนที่ 5 ของ ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ บูติคนิวซิตี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2517 ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
“เราเข้าใจว่าในปัจจุบันธุรกิจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ปัญหาสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และบูติคนิวซิตี้มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ในรูปแบบ Sustainability Fashion เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต เราเล็งเห็นว่าทุกอุตสาหกรรมต่างก้าวไปในทิศทางเดียวกัน โดยทุกหน่วยงานในองค์กรมีเป้าหมายเดียวกัน มุ่งสู่แฟชั่นที่ยั่งยืนในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การใช้เครื่องจักร รูปแบบการตัดเย็บ การย้อม การพิมพ์ ที่จะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะจากขั้นตอนการผลิต พร้อมทั้งควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในรูปแบบ Timeless Design สวยงามและใช้ได้ยาวนาน สะท้อนจุดยืนว่าเราไม่ได้มีลักษณะเป็น fast fashion ที่ทำให้ fashion is waste กับโลกใบนี้”
การดำเนินธุรกิจนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้ ประวรา ตระหนักถึงปัญหานี้เธอจึงเริ่มมองหาพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน และชูแนวคิด “The Future of sustainable fashion” ทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น Green Industry ผ่านโครงการ A’MAZE Green Society
“การจะเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนตั้งแต่จุดเริ่มต้นต้องเริ่มจากกระบวนการผลิต ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำทรัพยากรส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้ง Upcycle และ Recycle ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เรามีเป้าหมายลดขยะเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เป็นศูนย์ ด้วยระบบ Zero Waste Process โดยบริษัทพร้อมเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงนำพาประเทศไทยสู่ Net Zero จากที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตร เช่น โรงพยาบาลพญาไท Q-CON และ SC Grand”
บูติคนิวซิตี้ นำภาพฉายแนวความคิดมาเปลี่ยนให้เป็นภาพจริง ผ่านคอลเลกชันที่พัฒนามาจากของเหลือจากในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของบริษัท โดยมีสัดส่วนอย่างน้อย 30% แบ่งเป็น 3 คอลเลกชัน ดังนี้
1. RE-LOOP Collection โดยการใช้ผ้า Recycle ที่ร่วมมือกับ SC grand นำผ้า 5% ที่เหลือจากการผลิตในรอบแรกมาสร้างเป็นผ้าผืนใหม่ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์
2. การขยายผลจากการ Upcycle เสื้อเหงาสีขาวของบริษัทด้วยการทำ Organic Indigo พร้อมที่จะสร้างเป็น โครงการ Your Own Organic Indigo โดยรับเสื้อผ้าสีขาวของลูกค้ามาเติมชีวิตใหม่โดยการมัดย้อมครามร่วมกับชุมชนย้อมครามจังหวัดสกลนคร
3. การเลือกผ้าพิมพ์สวยๆ ที่พิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษ ลดการใช้ปริมาณความร้อนในการพิมพ์ แต่ได้ผ้าที่สวยทน ทั้งหมดคาดว่าจะเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของคอลเลกชันที่จะเกิดขึ้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผ้าที่เหลือนำมาพัฒนาใหม่เป็นคอลเลกชันต่อไป
“วันนี้เรามีความภาคภูมิใจที่ขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบ ESG อย่างแท้จริงในทุกกระบวนการผลิต ยืนหยัดทำงานด้วยแนวคิดการออกแบบที่สวยงาม แต่ให้ความสุขอย่างยั่งยืน เน้นคุณภาพและความคงทน การบริการที่เน้นความใส่ใจ ทำให้ผู้สวมใส่ทุกคนมั่นใจและมีความสุข พร้อมให้บริการทุกช่องทาง อำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด เพื่อสร้างความสุขให้กับลูกค้า โดยความตั้งใจทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตอย่างมีสติและความสำเร็จอย่างมั่นคง รวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาบริษัทอย่างยั่งยืนในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสากลที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมมือกันแก้ไข แม้เพียงแค่เล็กน้อย แต่ก็จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้โลกได้อย่างมหาศาล ดังนั้น บูติคนิวซิตี้จึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับแฟชั่น ผ่านโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและสังคม” ประวรา กล่าวย้ำ.