“ดา บ็อก ฮยาง” (Da Bok Hyang) หมาล่าจากเกาหลี เริ่มเปิดเกมรุกบุกเมืองไทย ประเดิมสาขาต้นแบบใจกลางย่านสยามสแควร์และเปิดขายแฟรนไชส์ นำร่องไปแล้ว 3 สาขา โดยตั้งเป้าปีนี้จะผุดเพิ่มอย่างน้อยอีก 15 สาขา ช่วงชิงตลาดรวมที่มียอดขายกว่า 12,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน หากดูข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า ตลาดธุรกิจหมาล่าในประเทศไทยแบ่งตามช่องทางการจำหน่าย ได้แก่ กลุ่มร้านอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนมากสุด 80% ร้านค้าปลีก 15% และฟูดดีลิเวอรีอีก 5% โดยกลุ่มร้านอาหารหมาล่าหม้อไฟเปิดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จาก 15,000 ร้านในปี 2565 เพิ่มเป็น 16,000 ร้านในปี 2566 คิดเป็นอัตราการเติบโต 7.3% และคาดว่า ปี 2567 จะมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 ร้าน
ทั้งนี้ กระแสเมนูเผ็ดลิ้นชาในประเทศไทยน่าจะเกิดขึ้นช่วงปี 2561 เมื่อร้าน Hai Di Lao จากประเทศจีนเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย และจุดประกายตลาดกลายเป็นเมนูแปลกใหม่และรสชาติเผ็ดจัดจ้านเข้ากับความชอบของคนไทยอยู่แล้ว
ส่วนร้านที่เป็นต้นกำเนิดหมาล่าสายพานจนผุดไปทั่วเมือง คือ สุกี้จินดา ที่เกิดไอเดียเพิ่มสายพานเข้ามาเป็นกิมมิก และการกินหม้อไฟที่เป็นแบบหม้อเดี่ยว ราคาเข้าถึงได้ง่าย โดยคิดราคาเป็นไม้ ไม้ละ 5-50 บาท กลายเป็นต้นแบบใหม่ของร้านหมาล่าหม้อไฟ ขณะที่มีผู้ประกอบการพลิกแพลงบริการรูปแบบต่างๆ เช่น ร้านสุกี้หมาล่า หมาล่าเสียบไม้ปิ้งย่างในฟูดทรัก หมาล่าแบบคีบ และหมาล่าแบบ Delivery
สำหรับ “ดา บ็อก ฮยาง” แม้เป็นแบรนด์เกาหลีเจ้าแรกที่เข้ามาชิมลางในสมรภูมิประเทศไทย แต่ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ เพราะประกอบกิจการร้านหมาล่าที่จังหวัดคย็องกี ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2562 หลังหมาล่าจีนเข้าไปบุกเกาหลี โดยคิดค้นสูตรเครื่องปรุงขึ้นมาใหม่และได้รับความนิยมอย่างมากจนพัฒนาแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีสาขาทั่วเกาหลีใต้กว่า 100 แห่ง รวมทั้งเป็นเจ้าแรกในเกาหลีใต้ที่มีโรงงานผลิตเครื่องปรุงหม่าล่าทังของตนเอง
จุลพงษ์ ถวัลย์เถลิงฤทธิ์ Business Development แฟรนไชส์ ดา บ็อก ฮยาง กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ดา บ็อก ฮยาง ถือเป็นแฟรนไชส์หมาล่าจากเกาหลีเจ้าแรกที่มาบุกเมืองไทย โดยพาร์ตเนอร์ของผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นคนเกาหลี แต่งงานกับภรรยาคนไทย มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย 9 ปี เขาเห็นตลาดอาหารหมาล่าได้รับความนิยมมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปรุงจากประเทศจีน เขาจึงเกิดไอเดียอยากสร้างความแตกต่าง เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยากได้รสชาตินัวๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาหารเกาหลี มีฟิวชันในตัวหมาล่า
“หมาล่าเป็นอาหารจีน แต่ ดา บ็อก ฮยาง พัฒนาสูตรเอง โดยเอาซอสที่เป็นส่วนผสมเฉพาะทางเกาหลีใส่เข้าไปด้วย ฉะนั้นตัวทัง หรือน้ำซุปไม่ได้เผ็ดลิ้นชา แต่มีความนัวๆ ครีมมี่ ครีมมี่ นิดหนึ่ง ยกเว้นเมนูผัดแห้งที่เป็นตัวออริจินัล มีเครื่องเทศของจีนที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะฉะนั้นลูกค้าสามารถลิ้มรสชาติได้ทั้งสองรูปแบบ ทั้งคนที่ชอบแบบออริจินัลกับคนที่ชอบแบบฟิวชันเกาหลี”
เมนูไฮไลต์ มีหมาล่าทังและหม่าล่าผัดแห้ง ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกส่วนประกอบต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และเส้นสไตล์ต่างๆ ทั้งเส้นรามยอง ต๊อกชีส ต๊อกมันม่วง เส้นมันเทศ คิดราคาเริ่มต้นขีดละ 49 บาท และเลือกระดับความเผ็ดได้ นอกจากนั้น มีเมนูหมูทอดซอสเปรี้ยวหวาน ข้าวผัดสไตล์เกาหลี ซึ่งเฉลี่ยต่อมื้อประมาณ 250-300 บาท
ปัจจุบันบริษัทมีร้านสาขา 3 แห่ง โดยเปิดสาขาต้นแบบแห่งแรกใจกลางสยามสแควร์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ขนาดพื้นที่เกือบ 200 ตารางเมตร หลังจากนั้นทยอยเผยสาขาแฟรนไชส์ ได้แก่ สาขาสะพานควาย สาขาระยองซิตี้ และเร็วๆ นี้จะเปิดที่นนทบุรี โดยหลังจากนี้จะเน้นสาขาแฟรนไชส์เป็นหลัก เจาะทำเลศูนย์การค้าใจกลางเมือง แหล่งชุมชน คอมมูนิตี้มอลล์ใกล้หมู่บ้าน กลุ่มเรสซิเดนเชียลที่มีกำลังซื้อ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น โคราช ภูเก็ต เชียงใหม่
จุลพงษ์กล่าวว่า ดา บ็อก ฮยาง ในภาษาเกาหลี หมายถึงการที่ทุกคนในครอบครัวมีความสุขกับมื้ออาหาร เราจึงมีอาหารเหมาะกับทุกคน ไม่ใช่แค่เผ็ดลิ้นชา และลูกค้าเลือกวัตถุดิบต่างๆ ได้ เหมาะทั้งกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา คนทำงานและครอบครัว ซึ่งเท่าที่เปิดให้บริการมีลูกค้าตอบรับดีมาก โดยเฉพาะสาขาแรกย่านสยามสแควร์ ทำยอดขายเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน
ในส่วนการขายสิทธิ์แฟรนไชส์นั้น บริษัทกำหนดไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ Plan A ขนาดพื้นที่ 50 ตารางเมตร งบลงทุนรวม 1,558,400 บาท Plan B ขนาดพื้นที่ 90 ตารางเมตร งบลงทุนรวม 2,198,500 บาท และ Plan C ขนาดพื้นที่ 120 ตารางเมตร งบลงทุนรวม 2,781,500 บาท
ทุกแผนรวมค่าแฟรนไชส์ ค่าอุปกรณ์และการตกแต่งห้องครัว ระยะเวลาสัญญา 3 ปี โดยผู้ซื้อสิทธิ์จะมีที่ปรึกษาด้านต่างๆ เช่น การประเมินงบประมาณลงทุน การวิเคราะห์ทำเล การออกแบบภายในร้านและการวางระบบบริหารจัดการ การสรรหาบุคลากร การฝึกอบรมให้พร้อมเปิดร้านได้ และการส่งเสริมด้านการตลาด
ถามว่า ร้านหมาล่าเปิดใหม่จำนวนมากแล้วจะสามารถทำกำไรดีหรือไม่ จุลพงษ์ตอบ “ผู้จัดการ360องศา” ว่า ประเด็นนี้ถือเป็นคำถามของนักลงทุนหลายคน หรือจะเป็นเพียงแค่กระแส แต่บริษัทเน้นทำ R&D ด้วย พัฒนาเมนูใหม่ๆ ให้เกิดความว้าวออกมาเรื่อยๆ แบรนด์ดังๆ ยังมี Seasonal Menus ดา บ็อก ฮยาง จะมีเช่นกัน รวมถึงการพัฒนาแบรนดิ้งต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย.
ตำนานพริกฮวาเจียว หม้อไฟกรรมกรลากเรือ
“หมาล่า” มาจากอักษรจีนสองตัว ได้แก่ หมา (麻) แปลว่า “ชา” กับ ล่า (辣) แปลว่า “เผ็ด” หรือรสชาติเผ็ดจนลิ้นชา โดยมีพริกชนิดหนึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก ชื่อ “ฮวาเจียว” หรือเรียกกัน “พริกไทยเสฉวน” เคี่ยวกับพริกและเครื่องเทศอื่นๆ ในน้ำมัน ถือเป็นรสชาติของอาหารประจำภูมิภาคในเมืองฉงชิ่งและเสฉวน
ปัจจุบันหมาล่ากลายเป็นเครื่องปรุงยอดนิยมชนิดหนึ่งในอาหารจีนหลากหลายเมนู ทั้งอาหารผัด อาหารตุ๋น ซุป จนถึงหม้อไฟหรือหม้อจุ่ม
ในมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนานมีการใช้หมาล่าชนิดผง เพื่อปรุงรสอาหารเรียกน้ำย่อยและอาหารริมทาง เช่น เต้าหู้เหม็น เฟรนช์ฟรายส์ เนื้อสัตว์และผักเสียบไม้ย่าง
บรรดาชาวจีนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ฮวาเจียวที่มีคุณภาพดีสุดต้องมาจากเมืองฉงชิ่ง ซึ่งถือเป็นเมืองต้นกำเนิดการกินอาหารรสหมาล่า
เมืองแห่งนี้อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เคยเป็นเมืองในเขตการปกครองของมณฑลเสฉวน ผู้คนใช้ลำน้ำแยงซีเกียงเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือ ขนส่งสินค้าในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โดยอาศัยกรรมกรคนลากเรือ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนยากจน
เล่ากันว่า คนลากเรือพวกนี้มักนั่งจับกลุ่มกันกินอาหารรวม ๆ กัน ใช้ก้อนหินตามแม่น้ำมาตั้งเป็นฐานแล้วก่อไฟแล้วเอาหม้อ หรือกระทะใบใหญ่ ใส่น้ำจากแม่น้ำ ต้มเดือด เอาผักหรือเครื่องเทศต่าง ๆ ที่ขึ้นตามริมฝั่งของแม่น้ำใส่ลงไปในกระทะนั้นและต้มกินรวม ๆ กัน และด้วยความยากจน จึงไม่มีโอกาสได้กินเนื้อสัตว์ อย่างดีมีเครื่องในสัตว์ราคาถูกๆ หรือหัวหมู ซึ่งคนมีเงินไม่นิยมกิน เพราะเหม็นคาว
พวกคนลากเรือจึงนิยมใช้เครื่องเทศที่เก็บได้ตามริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง อย่างฮวาเจียว ใส่ในอาหาร เพื่อดับกลิ่นคาว และให้รสเผ็ดจัดๆ ปรุงรสหม้อต้มผักและเครื่องในสัตว์ ซึ่งการกินอาหารหม้อไฟ รสเผ็ดจัด กลายเป็นเมนูภูมิปัญญาปรับสมดุลเลือดลมของร่างกาย เสริมภูมิต้านทานความแข็งแรง ทำงานหนักได้ทนทาน ไม่ค่อยเจ็บป่วย ทั้งที่ต้องลากเรือ อยู่ในน้ำและอากาศหนาวเย็น
เหตุผลนั้นเอง ชาวบ้านหลายคนจึงหันมากินอาหารรสจัดและทำเครื่องเทศรสเผ็ดลิ้นชา หรือ “หมาล่า” ปรุงใส่อาหารกัน เล่าลือปากต่อปากจนกระจายทั่วมณฑลเสฉวนและทั่วทั้งประเทศจีน เกิดเมนูยอดนิยม เช่น หมาล่าทัง เนื้อเสียบไม้และผักในน้ำซุป สุกี้หมาล่า เนื้อย่างเสียบไม้โรยด้วยผงปรุงย่างบนเตา หมาล่าผัดแห้ง หมาล่าคอเป็ด เมนูเนื้อไก่เย็น เมนูเนื้อวัว ลิ้น เอ็นตุ๋นในซอสน้ำมันหมาล่า รวมถึงก๋วยเตี๋ยวไก่และมันฝรั่งน้ำใส.