วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
Home > Cover Story > สวนลุมไนท์บาซาร์ จุดเริ่มตลาดนัดยามค่ำคืน

สวนลุมไนท์บาซาร์ จุดเริ่มตลาดนัดยามค่ำคืน

สวนลุมไนท์บาซาร์ ถือเป็นตลาดนัดยามค่ำคืนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณหัวมุมสี่แยกวิทยุ-ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหารเดิม มีบริษัท พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ (ไทย) จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการและเปิดเมื่อปี 2544

ภายในมีร้านค้า ส่วนใหญ่ขายสินค้าพวกของขวัญ เสื้อผ้า อัญมณี ผลไม้ ผ้าทอและศิลปกรรม เช่น ภาพวาด และประติมากรรม รวมทั้งมีลานเบียร์ขนาดใหญ่ มีบางกอกฮอลล์ หรือ บีอีซี-เทโร ฮอลล์ ตามชื่อเจ้าของในขณะนั้น เป็นศูนย์ประชุมขนาด 6,000 ที่นั่ง และโรงละครโจหลุยส์ของคณะนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก คณะละครหุ่นกระบอกแบบไทยเดิม ซึ่งทำการแสดงละครเวทีเรื่องรามเกียรติ์ วรรณคดีแห่งชาติของประเทศไทย

ต้นปี 2544 สวนลุมไนท์บาซาร์ปิดตัว เนื่องจากหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยย้ายไปสร้างสวนลุมไนท์บาซาร์แห่งใหม่บริเวณสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ส่วนโรงละครโจหลุยส์ได้ย้ายมาอยู่ที่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ จนถึงปัจจุบัน

ปี 2547 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เปิดประมูลที่ดินบริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์เดิม โดยเปิดให้บริษัทเอกชนเสนอแผนการพัฒนาโครงการ ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 8 ราย มีรายใหญ่ ๆ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กลุ่มทีซีซีกรุ๊ป

รอบแรก เซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที เพราะติดปัญหาการย้ายออกจากพื้นที่ของ บริษัท พี.คอน. ดีเวลลอปเม้นท์ จนมีการฟ้องร้องและศาลมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ แต่ระยะเวลาผ่านล่วงเลยมา 8 ปี กลุ่มเซ็นทรัลยังไม่สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงยกเลิกสัญญา

ปี 2556 เปิดประมูลครั้งที่ 2 ให้บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด เป็นผู้จัดประมูล โดยกำหนดขอบเขตของโครงการเป็น 6 โซน รูปแบบผสม ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน ศูนย์การศึกษา และศูนย์วัฒนธรรม มีผู้ผ่านการพิจารณา 4 บริษัท ได้แก่ กลุ่มยูนิเวนเจอร์ เซ็นทรัลพัฒนา สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งในเครือสหพัฒนพิบูล และกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในรอบนี้ การประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลล่าช้ามาก เพราะติดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 45 เมตร ทำให้เอกชนที่เข้าประมูลไม่สามารถพัฒนาโครงการได้เต็มที่ ทั้งที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากเป็นที่ดินราคาแพงย่านใจกลางเมือง กระทั่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติปลดล็อกข้อบัญญัติไม่จำกัดความสูง

เวลานั้น ตัวเต็ง คือกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ในฐานะผู้ชนะรอบแรก แต่ในที่สุด บริษัทในเครือเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้แก่ บมจ. ยูนิเวนเจอร์ และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ชนะการประมูล ได้ระยะเวลาเช่า 30 ปี+30 ปี ส่วนเซ็นทรัลพัฒนาหันไปร่วมมือกับเครือดุสิตธานี เพื่อพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานีที่อยู่ใกล้เคียง

ปี 2560 เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ทีซีซี และบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) ประกาศเป้าหมายการทุ่มทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ผุดโครงการ One Bangkok (วัน แบงค็อก) บนที่ดินดังกล่าวกว่า 104 ไร่ เพื่อสร้าง “เมือง” เป็นประตูเชื่อมโลกกับเอเชีย ภายใต้บริษัท วัน แบงค็อก โฮลดิ้งส์ โดยเริ่มลงเสาเข็มเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 มีกำหนดเปิดให้บริการเฟสแรกภายในปี 2566 และกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี 2570

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีไนต์มาร์เกตหลายแห่ง เช่น JJ Green หรือ เจ เจ กรีน จตุจักร ไม่ห่างจากตลาดนัดสวนจตุจักร เปิดทุกเย็นวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ ตั้งแต่ 5 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน เน้นร้านค้าแนววินเทจ ของแฮนด์เมด งานดีไซน์ ของประดับตกแต่งบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่น มีร้านนั่งกินดื่มชิลล์ๆ

ตลาดนัดจตุจักรกลางคืน เปิดตั้งแต่ทุ่มหนึ่งของคืนวันศุกร์ยันเช้าตรู่ของวันเสาร์ ความพิเศษคือเฉพาะวันศุกร์เท่านั้นจะเป็นตลาดขายส่งสินค้า เสื้อผ้าแฟชั่น ของแต่งตัว ของประดับ กระเป๋า รองเท้า ราคาถูก

ตลาดนัดรถไฟ รัชดาภิเษก แหล่งรวมของคลาสสิกของเหล่าฮิปสเตอร์ ตั้งอยู่ด้านหลังห้างเอสพลานาด รัชดาภิเษก เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 17.00-01.00 น.

ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ หลังห้างซีคอน ศรีนครินทร์ เปิดวันพุธ และ ศุกร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-24.00 น.

ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ตลาดนัดใหญ่บนพื้นที่หลายสิบไร่ เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตีสอง มีทั้งโซนซื้อของชอปปิ้งสินค้า เสื้อผ้าแฟชั่น โซนร้านอร่อยนั่งกินดื่ม โซนเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน ข้าวของเครื่องใช้วินเทจ

รวมถึง JODD FAIRS จ๊อดแฟร์ ตลาดกลางคืนเปิดใหม่ หลังเซ็นทรัลพระรามเก้า ซึ่งย้ายมาจากตลาดนัดรถไฟรัชดาเดิม แม้ไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางเท่าที่เดิม แต่มีร้านค้าและสินค้ามากมาย โซนของกินที่จัดพื้นที่ส่วนกลางให้นั่งรับประทานได้ ร้านทำเล็บ ร้านเจาะ ร้านตัดผม และร้านอื่น ๆ อีกมากมาย เปิดทุกวัน 11.00-24.00 น.