วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > เจาะแบ็กอัปใหม่ KFC กลุ่มทุนอินเดีย-IVL เสริมทัพ

เจาะแบ็กอัปใหม่ KFC กลุ่มทุนอินเดีย-IVL เสริมทัพ

เป็นประเด็นฮือฮาเมื่อกลุ่มทุนอินเดีย Devyani International DMCC ในเครือ Devyani International Limited (DIL) เซ็นสัญญาลงทุนในบริษัทอาร์ดี บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ (RD) แฟรนไชซีบริหารร้านไก่ทอดเคเอฟซี (KFC) ในประเทศไทย รายที่ 3 โดยพ่วงพันธมิตรระดับบิ๊ก ทั้งกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ “เทมาเส็กโฮลดิ้ง” และบริษัท White Snow Company Limited (ไทย) ที่มีชื่อ อานุช โลเฮีย ทายาทบิ๊กปิโตรเคมีแสนล้านร่วมวงด้วย 

การลงทุนครั้งนี้ปิดดีลที่ 4,580 ล้านบาท คาดกระบวนการทางสัญญาเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2567

ที่ว่าระดับบิ๊ก เริ่มตั้งแต่กลุ่ม DIL ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านอาหารจานด่วน QSR แถบเอเชียใต้ มีจำนวนร้านกว่า 1,350 สาขา ใน 240 เมือง บริหารไลเซนส์แบรนด์หลักๆ ทั้ง KFC และ Pizza Hut ในอินเดีย เนปาลและไนจีเรีย นอกจากนั้น มีร้านกาแฟ Costa Coffee รวมถึงแบรนด์อาหารอินเดีย Vaango และธุรกิจฟู้ดคอร์ต The Food Street

ขณะที่บริษัท White Snow Company Limited (ไทย) ที่มีอานุช โลเฮีย เป็นกรรมการนั้น อานุช คือ ลูกชายคนเล็กของนายอาลก โลเฮีย ผู้สร้างอาณาจักร บริษัท อินโดรามา จำกัด (มหาชน) หรือ IVL นักธุรกิจที่ติดอันดับมหาเศรษฐีชาวไทยของนิตยสารฟอร์บส์ติดต่อกันหลายปี  โดยปี 2566 ขึ้นแท่นอันดับที่ 17 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

บรรดาทายาท 3 คนของอาลก ได้แก่ ยาช อาราธนา และอานุช ล้วนอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงและมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายธุรกิจของผู้เป็นพ่อและครอบครัว ซึ่งอานุชเคยนั่งกรรมการบริษัท อินโดรามาฯและเป็นหัวเรือใหญ่เข้าซื้อหุ้นบริษัท พลาสติกและหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC

อาลก โลเฮีย

แน่นอนว่า กลุ่มทุนอินเดีย ทั้ง DIL และ IVL หมายถึงความแข็งแกร่งด้านเงินทุน โดยเฉพาะ IVL ถือเป็นการขยายพอร์ตธุรกิจใหม่ของครอบครัวและต่อยอดจากธุรกิจหลัก

หากดูเส้นทางของอินโดรามา จริงๆ แล้ว อาลก โลเฮีย เป็นลูกชายของเศรษฐีอินเดีย Mohan Lal Lohia เล่ากันว่า ช่วงชีวิตวัยรุ่นอยู่สุขสบายอย่างมั่งคั่ง จนวันหนึ่ง พ่อให้เขาเข้ามาหาช่องทางทำธุรกิจในประเทศไทย โดยให้ทุนก้อนแรกราว 137 ล้านบาท

อาลกเริ่มต้นทำธุรกิจ Furfural และ Furfuryl Alcohol จากซังเข้าโพด นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กาว และสารยึดเกาะ แต่ลุยไปได้ 3 ปี เขามองเห็นว่า ธุรกิจนี้ไม่น่าเติบโตสวยงามและหันไปพุ่งเป้าธุรกิจพลาสติก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ปี 2537 ตั้งบริษัท อินโดรามา โฮลดิ้งส์ ผลิตเส้นด้ายจากขนสัตว์ (Worsted Wool Yarn) เป็นรายแรกในประเทศไทย และเปิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก PET แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่ง PET หรือ polyethylene terephthalate ethylene เป็นพลาสติกที่มีความใส ทนแรงกระแทกได้ดี แข็งแรงไม่แตกเปราะง่าย มีความยืดหยุ่นสูงและป้องกันการซึมผ่านของของเหลวได้ดี นิยมทำเป็นขวดพลาสติกใส สามารถบรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มต่างๆ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาซักผ้า และเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารบางชนิด ถือเป็นการรุกตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพเติบโตสูง เพราะในเวลานั้นยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดลงทุนจริงจัง

IVL ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและจับกลยุทธ์ควบรวมซื้อกิจการ เพราะสามารถโตทางลัดได้ หากเลือกบริษัทที่มีศักยภาพและราคาคุ้มทุน โดยปี 2540 ประเดิมดีลแรกซื้อบริษัท Indopoly ในประเทศไทย เพิ่มกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก และนับจากนั้น IVL รุกเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับบุกตลาดต่างประเทศ ลุยซื้อกิจการในอเมริกา ยุโรป และในหลายประเทศทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยเฉพาะพลาสติกในยุครีไซเคิลแบบ 100%

ปัจจุบัน IVL เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์แบบบูรณาการระดับโลกที่มีรายได้ 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินธุรกิจใน 35 ประเทศและ 6 ทวีปทั่วโลก มีพนักงาน 26,000 คนจาก 80 สัญชาติ

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัท อินโดรามาฯ หรือ IVL มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 639,103.02 ล้านบาท รายได้รวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 665,548.57 ล้านบาท และงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 417,140.25 ล้านบาท  มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) อยู่ที่ 150,189.26 ล้านบาท

นั่นย่อมไม่ธรรมดาสำหรับแบ็กอัปใหม่ของอาร์ดี และความแข็งแกร่งของแบรนด์ KFC ในสมรภูมิฟาสต์ฟู้ด ไก่ทอด ซึ่งเป็นเซกเมนต์มากกว่าครึ่งในตลาด QSR (Quick Service Restaurant) จากตลาดรวม 4-5 หมื่นล้านบาท หรือมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และ KFC ยังยึดครองส่วนแบ่งในตลาดไก่ทอดถึง 80%

สำหรับ KFC ในประเทศไทย มีบริษัท ยัม เรสเตอรองส์ (ประเทศไทย) ในเครือ Yum Brands, Inc. เป็นผู้บริหารแฟรนไชส์ โดยมีแฟรนไชซี 3 ราย รายแรก บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์มาอย่างยาวนาน ล่าสุดเปิดให้บริการรวม 335 สาขา และปี 2567 จะเปิดครบ 350 สาขา

ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine บริษัท ซีอาร์จี กล่าวว่า บริษัทวางแผนลุยธุรกิจ KFC ในปี 2567 เน้นพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ และขยายสาขาโมเดลใหม่ๆ เช่น โมเดลสาขาในศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เกต โมเดลสาขาในสถานีบริการน้ำมัน โมเดล Shop House พัฒนาจากอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวในย่านชุมชน โมเดล Park and Go รวมถึงการขยายสาขาร่วมกับบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาและโรบินสันไลฟ์สไตล์ เพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง

นอกจากนั้น ปรับโฉมร้าน KFC ตาม flagship store ที่เซ็นทรัลเวิลด์ คอนเซ็ปต์ KFC Digital Lifestyle Hub เน้นประสบการณ์การรับประทานที่สนุกขึ้น ทั้งบริการ Bucket Kiosk จุดสั่งอาหารผ่านเครื่องสั่งอาหารและชำระเงินอัตโนมัติใหม่ เพื่อรองรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้เทคโนโลยี ชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ ต้องการความอร่อย สะดวกและราคาเข้าถึงง่าย จะสามารถสร้าง engagement กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนทำงาน โดยวางแผนเปิดสาขาใหม่ 20 สาขา และปรับโฉมสาขาเดิมอีก 20 สาขา ให้กลายเป็น KFC Digital Lifestyle Hub

บริษัทคาดว่า แบรนด์ KFC ภายใต้การบริหารของซีอาร์จีจะสามารถปิดรายได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท หรือเติบโต 11% จากปี 2565 ที่มียอดขายรวมกว่า 6,300 ล้านบาท

รายที่ 2 บริษัท คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งทุ่มเม็ดเงินกว่า 11,300 ล้านบาท ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เมื่อปี 2560 ล่าสุดมีสาขารวม 430-450 แห่ง และเมื่อเร็วๆ นี้ประกาศสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เผยโฉม KFC Green Store แนวคิด Zero Waste ออกแบบตกแต่งร้านด้วยวัสดุรีไซเคิล ติดตั้ง Solar Rooftop เปิดสถานีชาร์จ EleX by EGAT สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของ KFC ในประเทศไทย ที่สาขา ดีโป บาย วนชัย เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น

ส่วนอาร์ดีซึ่งอยู่ระหว่างการต้อนรับทุนใหม่นั้น มีสาขารวม 274 แห่ง อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 113 สาขา ภาคใต้ 94 สาขา ภาคอีสาน 47 สาขา และภาคตะวันตก 20 สาขา

ช่วงหลายๆ ปี ท่ามกลางกระแสข่าวการร่วมทุนของกลุ่มต่างๆ อาร์ดีพยายามปรับกลยุทธ์ต่างๆ ลดตัวเลขขาดทุน จนเชื่อมั่นว่า ปิดปี 2566 สามารถผลักดันรายได้อยู่ที่ 5,176 ล้านบาท ทำกำไร 14-15% เทียบปี 2565 ขาดทุนกว่า 37 ล้านบาท และปี 2564 ขาดทุนกว่า 230 ล้านบาท

ที่สำคัญ การเข้ามาของกลุ่มทุนอินเดียแบบปึ้กๆ จะพลิกเกมใหม่ได้อย่างแน่นอน.