วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ย้อนอดีตหญิงเหล็กยานยนต์ จุดเริ่มต้นเคพีเอ็นกรุ๊ป

ย้อนอดีตหญิงเหล็กยานยนต์ จุดเริ่มต้นเคพีเอ็นกรุ๊ป

ถ้าคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ยังอยู่ ความขัดแย้งในครอบครัวระหว่าง 3 พี่น้อง “กฤษณ์ ณพ กรณ์” ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 ปี ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

หลายคนในวงการเชื่อเช่นนั้น หลังเกิดกรณีนายเกษม ผู้เป็นบิดาโดนปลอมลายเซ็น ถูกนายณพ พี่ชายคนรอง กล่าวอ้างเรื่องการซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด และโอนหุ้นไปให้บริษัท โกลเด้น มิวสิค ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จนเป็นสาเหตุหลักที่ครอบครัวแถลงการณ์ประกาศตัดนายณพออกจากตระกูลเมื่อปี 2561

กระทั่งล่าสุด เกษมและลูกชาย 2 คน เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 กางหลักฐานพร้อมคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 พิพากษาว่า เอกสารที่ถูกกล่าวอ้างมีการปลอมลายเซ็นจริง

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทำให้ลูกชายทั้งสองคิดถึง “แม่” ซึ่งไม่ใช่แค่หญิงเหล็กที่ทุกคนในวงการเคารพ แต่เป็น “แม่” ที่ครอบครัวยอมรับทุกการตัดสินใจ เด็ดเดี่ยวและดำเนินธุรกิจด้วยความเที่ยงธรรม

แน่นอนว่า เส้นทางของหญิงเหล็กผู้นี้ผ่านประสบการณ์ บทเรียนมากมาย และเป็นกำลังหลักสร้างอาณาจักรสยามกลการ ก่อนแยกตัวมาลุยกิจการของตัวเอง

คุณหญิงพรทิพย์เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2489 เป็นบุตรของ ดร.ถาวร และนางรำไพ พรประภา เจ้าของบริษัท สยามกลการ ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน หลังเรียนจบโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ในชั้นมัธยมศึกษา ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโกลเดนเกต ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมาดูแลกิจการของครอบครัว

เวลานั้นคุณหญิงพรทิพย์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท เป็นหัวเรือใหญ่จัดกิจกรรมตอกย้ำแบรนด์ “นิสสัน” รุกวงการมอเตอร์สปอร์ตเป็นเจ้าแรก ๆ ของเมืองไทย และดูแลบริษัทลูกในเครือสยามกลการอีกกว่า 40 บริษัท ฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจจนได้ชื่อ “หญิงเหล็กแห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่คุณหญิงส่งเสริมอย่างเต็มที่ เพราะความชอบส่วนตัว คือ การจัดเวทีประกวดร้องเพลงระดับประเทศ “นิสสัน อวอร์ด” และการประกวดร้องเพลงระดับยุวชน “ยามาฮ่า อวอร์ด” ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักกันดีในฐานะเวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการ สร้างซูเปอร์สตาร์มากมาย เช่น เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย รัดเกล้า อามระดิษ นันทนา บุญหลง นนทิยา จิวบางป่า ปนัดดา เรืองวุฒิ เจนนิเฟอร์ คิ้ม อู๋ ธรรณธรณ์, เจิน เจิน บุญสูงเนิน ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด อมิตา ทาทายัง

ปี 2538 คุณหญิงตัดสินใจวางมือจากสยามกลการ แยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเองกับสามี “เกษม ณรงค์เดช” ตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยชื่อ “KPN” มาจากชื่อ เกษม และคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และดนตรี รวมทั้งต่อยอดสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยวางเป้าหมายให้ลูกชายทั้งสามคน คือ กฤษณ์ ณพ และกรณ์ ณรงค์เดช สืบทอดขยายอาณาจักรในอนาคต

ต้องบอกว่า การก่อตั้งของเคพีเอ็นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมยานยนต์และรถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่นมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นเริ่มขายยี่ห้ออื่นๆ ยกเว้นคาวาซากิ กิจการเติบโตและรุกขยายอุตสาหกรรมปั๊มหล่อ ผลิตชิ้นส่วนโลหะ ผลิตไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนพลาสติกต่างๆ จนเป็นผู้ผลิตส่วนประกอบและชิ้นส่วนถึง 80% ของความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงยุคอุตสาหกรรมการผลิตย้ายฐานจากประเทศไทยไปยังประเทศที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่า เคพีเอ็นจึงตัดสินใจตัดบางธุรกิจ และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีอัตราเติบโตสูง โดยมีการระบุว่า ธุรกิจของกลุ่มตระกูลณรงค์เดชมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท มีบริษัทในเครือมากกว่า 50 บริษัท

วันที่ 16 ตุลาคม 2556 คุณหญิงพรทิพย์ เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ทิ้งธุรกิจทั้งหมดให้ลูกชายทั้งสามคน แต่ใครจะเชื่อว่า ครอบครัวต้องเจอมรสุมใหญ่ ซึ่งเหมือนซ้ำรอยกับอดีตที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อน

ไม่ว่าจะเป็นกรณี ถาวร พรประภา มีปัญหาขัดแย้งกับพี่ชาย สินธุ์ พรประภา ในยุคค้าขายเศษเหล็กและอะไหล่เครื่องยนต์

กรณีคุณหญิงพรทิพย์ กับ ปรีชา พรประภา ผู้เป็นอา เพราะความเห็นต่างทางธุรกิจและการกุมอำนาจบริหารธุรกิจยานยนต์ บริษัท สยามกลการ จำกัด แต่ที่ลือลั่นหนักหนาสาหัสน่าจะเป็นความขัดแย้งหนักในกลุ่มพี่น้องที่มีจำนวนมาก

เล่ากันว่า คุณหญิงพรทิพย์เข้ามาช่วยงานพ่อในวัยเพียง 18 ปี ด้วยความเป็นคนเก่ง สู้ไม่ถอย และได้รับความไว้วางใจจากถาวร สามารถโชว์ฝีมือการบริหารงานอย่างโดดเด่น ใช้เวลาไม่นานก้าวขึ้นมาดูแลสยามกลการอย่างเบ็ดเสร็จ สร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง แต่ในมุมกลับกัน เกิดปมร้าวระหว่างพี่น้องในเรื่องอำนาจบริหารมากขึ้น

ท้ายที่สุด น้องชาย 3 คน ได้แก่ พรเทพ พรพงษ์ และพรพินิจ ให้ถาวรปลดคุณหญิงพรทิพย์ออกจากตำแหน่ง พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งพรเทพขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ พรพงษ์ เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส และพรพินิจเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ จนคุณหญิงพรทิพย์ต้องออกจากสยามกลการ

ส่วนความขัดแย้งล่าสุด แม้เวลานี้ยืนยันความถูกต้องของฝ่ายเกษมและลูกชาย 2 คน แต่ลึกๆ ยังต้องจับตาว่า จะจบเพียงเท่านี้ หรือเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่.