วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Cover Story > ขวบปีแรกของสิงห์-มารุเซ็น ผลผลิตใหม่จากยอดชา

ขวบปีแรกของสิงห์-มารุเซ็น ผลผลิตใหม่จากยอดชา

 
ระยะเวลาหนึ่งปีที่สิงห์-มารุเซ็น เปิดตัวและก่อตั้งโรงงานสำหรับผลิตชาเขียวญี่ปุ่น แม้ว่าในเวลานั้นผู้บริหารอย่างพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ จะไม่สามารถให้รายละเอียดที่เกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้มากนัก
 
หากแต่ในห้วงเวลานี้สิงห์คงจะสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำมากขึ้นเมื่อ สิงห์-มารุเซ็น พร้อมที่จะส่งผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “ความภาคภูมิใจจากดินแดนเชียงราย” ออกสู่ตลาดเสียที ซึ่งความภูมิใจนั้นน่าจะมาจากการเพาะปลูกและผลิตชาเขียวญี่ปุ่นนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกบนที่ดินของ สิงห์ ปาร์ค เชียงราย
 
การเติบโตของสิงห์-มารุเซ็น ดูเหมือนจะส่งผลให้ผู้บริหารมือใหม่อย่าง พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด แสดงวิสัยทัศน์ได้ชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งเปิดเผยถึงเป้าหมายของบริษัทว่าจะมีการเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเขียวไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลักจะอยู่ที่ภูมิภาคอาเซียน แต่ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมารุเซ็น ที เจแปน จะทำการตลาดเอง
 
รวมไปถึงแนวทางการทำตลาดของชาเขียวมารุเซ็น จะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ ธุรกิจ B2B ประกอบด้วยกลุ่มโฮเรก้า (HoReCa) โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และธุรกิจรับจัดเลี้ยง ซึ่งในกลุ่มนี้จะส่งผลิตภัณฑ์ชาเขียวมัทฉะ หรือชาเขียวชนิดผง (Matcha)
 
สำหรับกลุ่มที่สองคือ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป B2C ซึ่งจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีก เช่น ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มนี้คือ ชาเขียวใบ (Original Sencha) และชาเขียวซองสำเร็จรูปพร้อมชง (Green Tea Bag) เป็นแบบชงเย็น ซึ่งในปีหน้าจะมีการขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติม เช่น กูร์เมต์ มาร์เก็ต และโฮม เฟรช มาร์ท ของกลุ่มเดอะมอลล์ โมเดิร์นเทรด เทรดดิชั่นนอล เทรด ร้านเบเกอรี่ เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกทั้งในอนาคตยังมีแผนที่จะรุกตลาดชา RTD อีกด้วย
 
ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ 100 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับกำลังการผลิตสินค้าที่มีอยู่ประมาณ 150,000 กิโลกรัม ต่อปี หรือ 150 ตัน โดยในส่วนของโรงงานสามารถรองรับกำลังการผลิตชาเขียวได้สูงถึง 200 ตันต่อปี 
 
อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตชายังคงพิถีพิถันตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี ซึ่งทำให้ชาเขียวมัทฉะมีกลิ่นหอมและรสชาติดี ในจุดนี้สิงห์คาดหวังว่าแบรนด์มารุเซ็นจะสามารถสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่สิงห์ต้องตระหนักคือรสนิยมของคนไทยที่มักจะคุ้นชินกับรสชาติของชาเขียวที่ถูกปรุงแต่งรสจนไม่เหลือความเป็นชาเขียวดั้งเดิม 
 
กระนั้นพงษ์รัตน์ยังกล่าวย้ำถึงจุดแข็งของมารุเซ็นว่า “นับเป็นความภูมิใจของบริษัท สิงห์ ปาร์ค และชาวจังหวัดเชียงราย ที่ได้ผลิตชาเขียวญี่ปุ่นแท้ๆ ล็อตแรกออกสู่ตลาดซึ่งชาเขียวมารุเซ็นนั้นมีจุดแข็งตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก เรามีการควบคุมระดับแสงแดดที่ใบชาจะได้รับ การผลิตสินค้าก็พิถีพิถันด้วยการคัดเฉพาะยอดอ่อนใบชาที่มีคุณภาพป้อนโรงงาน และยังใช้กรรมวิธีการอบไอน้ำหรือนึ่ง ซึ่งเราเป็นโรงงานแห่งเดียวในไทยที่ใช้วิธีการดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น 
 
โดยกระบวนการผลิตดังกล่าวต้องได้มาตรฐาน ผ่านการควบคุมและดูแลการผลิตโดยมารุเซ็นญี่ปุ่น ที่มีประสบการณ์การผลิตชามานานกว่า 70 ปี ทั้งหมดเพื่อให้ได้สินค้าชาเขียวญี่ปุ่นแท้ๆ ที่มีคุณภาพและรสชาติเทียบเท่าชาเขียวแท้จากญี่ปุ่น”
 
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนครั้งนี้สิงห์จะวางแผนการสำหรับการลงทุนในอนาคตเอาไว้ด้วย ทั้งแผนการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตซึ่งจะใช้งบประมาณ 450 ล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว และเวียดนาม และยังรวมไปถึงโซนยุโรปและอเมริกา
 
ซึ่งแผนการเดินเกมทั้งหมดของมารุเซ็นจะสามารถอาศัยโครงข่ายของบุญรอดเทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีอยู่ทั่วโลก รวมไปถึงเอเย่นต์ของเบียร์สิงห์ในประเทศเพื่อนบ้าน 
 
และสำหรับแผนที่จะรุกตลาดชาพร้อมดื่มหรือ RTD นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยและขั้นตอนโปรดักต์เทสต์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตไซส์เล็กขนาด 250 มล. ออกมาทดลองตลาดในช่วงแรก หากแต่ต้องดูตลาดรวมของชาเขียวพร้อมดื่มที่ต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามารุเซ็นอาจจะตัดสินใจผลิตชาเขียวพร้อมดื่มในรูปแบบพรีเมียม ทั้งเพื่อยกระดับและหนีจากตลาดเดิม
 
การได้ไฟเขียวจากมารุเซ็น ที เจแปน ที่ให้สิงห์ทำตลาดได้ทั่วโลกน่าจะมาจากเทรนด์ของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น ซึ่งการเติบโตของร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ญี่ปุ่นในไทยนั้นผุดขึ้นราวดอกเห็ด ทำให้ไม่ยากที่ญี่ปุ่นจะตัดสินใจเมื่อทางด้านฟากฝั่งของสิงห์เองก็มีความพร้อมและมีศักยภาพอยู่ไม่น้อย 
 
ปัจจุบันบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด มีรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ 80 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นน้ำสิงห์ และโซดา 70 เปอร์เซ็นต์ เครื่องดื่มบีอิ้ง น้ำแร่เพียวร่า และซันโว 30 เปอร์เซ็นต์ น่าสนใจที่ว่าชาเขียวภายใต้แบรนด์มารุเซ็นนั้นจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน 
 
ทั้งนี้พงษ์รัตน์ ยังเสริมอีกว่าข้อดีของการปลูกชาญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้นทำให้ได้เปรียบคู่แข่งเมื่อไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้สามารถทำราคาขายปลีกได้ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาดชาพรีเมียม ทั้งนี้มีการวางแผนจะใช้งบประมาณ 15 ล้านบาทในปีหน้าเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปีแรกจะมีรายได้ 150 ล้านบาท
 
ดูเหมือนว่าแผนการในอนาคตของมารุเซ็นที่ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทำผลิตภัณฑ์ชาเขียวพร้อมดื่ม ดังนั้นห้วงเวลานี้สถานะระหว่างสิงห์กับอิชิตันในฐานะพาร์ตเนอร์ คงจะต้องเปลี่ยนสถานะไปสู่การเป็นคู่แข่งอย่างช่วยไม่ได้
 
อย่างไรก็ตาม สิงห์ยังมีแผนต่อยอดธุรกิจชาไปสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว โดยจะใช้ชาเขียวจะวัตถุดิบ ซึ่งได้มอบหมายให้บริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี จำกัด เป็นที่ปรึกษาและศึกษาในรายละเอียดที่จะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ในอนาคต
 
นอกเหนือไปจากโรงงานผลิตชาเขียวแล้ว สิงห์ปาร์คยังมีแผนที่จะสร้างโรงแรม รวมไปถึงวอเตอร์สปอร์ต ไว้รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไร่สิงห์ปาร์คเชียงราย เฉียด 10,000 คนต่อวัน กิจกรรมหลักที่รองรับนักท่องเที่ยว เช่นการเที่ยวชมฟาร์ม กิจกรรมไต่ผา กิจกรรมซิบไลน์ พื้นที่จัดคอนเสิร์ต ร้านอาหาร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว 
 
ก้าวย่างต่อไปของสิงห์ในห้วงเวลาที่พรั่งพร้อมไปด้วยสรรพกำลัง ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีจุดแข็งชั้นดี รวมไปถึงแผนการตลาดที่ถูกวางขึ้นอย่างเป็นระบบ น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้บ้าง แต่จะมากน้อยเพียงใดเป็นที่พอใจต่อผู้บริหารมากน้อยแค่ไหนนั้นคงต้องจับตาดู