วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > กองทุนประกันสังคม เม็ดเงินมหาศาล 2 ล้านล้าน

กองทุนประกันสังคม เม็ดเงินมหาศาล 2 ล้านล้าน

แนวความคิดการประกันสังคมเกิดขึ้นในยุโรปจากการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต มีการค้นคิดเครื่องจักรทำให้มีการจ้างแรงงานมากขึ้น แต่เกิดปัญหาหลายอย่าง รัฐจึงต้องออกกฎหมายให้หลักประกันแก่คนงาน เริ่มจากการประกันด้านการเจ็บป่วย โดยเริ่มขึ้นที่ประเทศเยอรมนีในสมัยเจ้าชายบิสมาร์ค (Prince Otto Von-Bismarck) เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นขยายการประกันครอบคลุมมากขึ้น กลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

สำหรับภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายประกันสังคมในปี 2454

ด้านประเทศไทย การตั้งกองทุนเงินทดแทนเป็นก้าวแรกของการประกันสังคมไทยที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อปี 2515 ภายใต้การบริหารของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515

ในปีแรกครอบคลุมเฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ แล้วค่อยๆ ขยายจนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531

ต่อมา รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2533 มีนายอำพล สิงหโกวินท์ เป็นเลขาธิการคนแรก

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น กลุ่มผู้นำนักศึกษา นักวิชาการ อดีตอธิบดีกรมแรงงาน กลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อเนื่องมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีผู้มีบทบาทสำคัญ เช่น นิคม จันทรวิทุร อนุสรณ์ ธรรมใจ แล ดิลกวิทยรัตน์ โชคชัย สุธาเวศ ผู้นำแรงงานและผู้นำนักศึกษาอีกหลายคน

หลังจากนั้น นายนิคม นายอนุสรณ์ และแกนนำ ได้เคลื่อนไหวให้เกิดระบบประกันการว่างงานในปี 2541-2544 กระทั่งมีการขยายสิทธิประโยชน์การประกันการว่างงานในระบบประกันสังคมของไทย

ทั้งนี้ กลไกสำคัญ คือ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่คำนึงถึงวันเวลาและสถานที่ แต่ดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นหลัก

ขณะที่มีการเก็บสมทบจาก 3 ฝ่าย โดยนายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายทุกเดือน คือ ลูกจ้างถูกหักจากเงินเดือน 5% หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาท นายจ้างจ่ายสมทบ 5% และรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบอีก 2.75%

นิคม จันทรวิทุร (ภาพจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน)

ในส่วนผู้ประกันตน หรือลูกจ้างและพนักงานที่มีการจ่ายค่าประกันสังคมทุก ๆ เดือน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. ลูกจ้าง หรือพนักงานประจำที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ทางกฎหมายเรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองทุกกรณี ทั้งการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ รวมถึงการว่างงาน

2. บุคคลที่เลิกเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างที่ลาออกจากงาน เป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่ต่ำกว่า 1 ปี ลาออกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือทางกฎหมายเรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

3. บุคคลที่ทำงานอิสระและไม่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 อายุ 15-60 ปี ทางกฎหมายเรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถเลือกสิทธิความคุ้มครองได้ คือ หากเลือกจ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องของกรณีเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต หากเลือกจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมกรณีชราภาพ และหากจ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นไปอีกในกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระยะเวลามากกว่า 30 ปี ของการจ่ายเงินสมทบทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถสะสมเม็ดเงินจำนวนมหาศาล รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมยังบริหารจัดการกองทุนและให้บริษัทหลักทรัพย์นำเม็ดเงินไปลงทุนเพิ่มดอกผลผ่านการลงทุนรูปแบบต่างๆ เช่น ตราสารทุนไทยหรือหุ้นไทย หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ หน่วยลงทุนอสังหาฯ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลตอบแทนที่ลดต่ำลง ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อเร็วๆ นี้มีกระแสข่าวระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินความเสี่ยงทางการคลังของกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นปี 2565 มีเงินรวม 2.361 ล้านล้านบาท ลดลง 17,000-18,000 ล้านบาท และลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รายงานข้อมูลผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีเงินลงทุนสะสม 2,271,818 ล้านบาท และปี 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเงินลงทุนสะสม 2,345,347ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24% เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2565 พร้อมยืนยันไม่ล้มละลาย ผลตอบแทนการลงทุนมีรายได้รวม 231,284 ล้านบาท และอีก 4 ปี หรือปี 2570 สถานะกองทุนประกันสังคม คาดว่าจะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท

นายบุญสงค์กล่าวว่า การนำเงินไปลงทุนมีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการลงทุน มีนักลงทุนระดับประเทศติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั่วโลกก่อนอนุมัติการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมนำเงินลงใน SET 100 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ  มีขาดทุนบางส่วนและได้กำไร เช่น ปี 2564 ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 62,000 ล้านบาท

ทว่า ปี 2563-2565 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับเพราะเป็นช่วงโควิด ต้องใช้เงินเยียวยาผู้ประกันตนจำนวนแสนล้านบาท รวมทั้งช่วยนายจ้างและผู้ประกันตน โดยลดเงินสมทบจาก 5% เหลือแค่ 1-3% ทำให้รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย

แน่นอนว่า ประเด็นนี้จะยังถูกเกาะติดต่อไป.