ระบบการดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top5 ของโลก และมีค่าใช้จ่ายการทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี หรือมีความมั่นคงทางสุขภาพสะท้อนจาก Gloval Health Security (GHS) Index 2021 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ไทยอยู่ในอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ในการรับมือวิกฤตโควิด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยธนชาติ คาดการณ์แนวโน้มรายได้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยเติบโตเทียบเท่าก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ในปีนี้ รายได้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในปี 2562 อยู่ที่ราว 2.47 หมื่นล้านบาท และลดลงมากกว่า 100% ในช่วงวิกฤตโควิด
เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้อย่างดี แต่ตัวเร่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นั่นคือการผสานเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาในอุตสาหกรรมการแพทย์ การดูแลสุขภาพในทุกมิติ
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ startup ให้ความสนใจและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพมากขึ้น นั่นเพราะทิศทางการเติบโตของธุรกิจนี้ในไทยเริ่มเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
เดฟนี โยว ผู้อำนวยการบริหารโครงการ กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ในฐานะผู้จัดงาน Medical Fair Thailand 2023 ระบุว่า “เราได้เล็งเห็นศักยภาพและความพร้อมด้านการแพทย์ของประเทศไทย โดยการจัดงานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2005 และล่าสุดในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนผู้ร่วมงานและนักลงทุนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของนวัตกรรมเฮลท์เทคของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางนานาชาติ และ startup ของไทยและตลาดใน South East Asia ในธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
การเติบโตของผู้ประกอบการไทยยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ และอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในงานนี้คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมและสตาร์ทอัปของประเทศ มีเป้าหมายที่จะผลักดันผู้ประกอบการและนวัตกรให้เติบโตไปอย่างสอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยเฉพาะการแพทย์และสุขภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่เป็นโอกาสสำคัญอย่างมากสำหรับขยายตัวของสตาร์ทอัป เพราะสินค้าหรือบริการทางการแพทย์ต้องใช้เทคโนโลยี และโซลูชันที่ทันสมัย และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ ดีพเทค เช่น ระบบอัตโนมัติ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง การเชื่อมอินเทอร์เน็ตกับหลากสรรพสิ่ง (IoT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มสตาร์ทอัปด้านการแพทย์และสุขภาพยังขาดพื้นที่ที่เป็นฮับในการเชื่อมโยงกับนักลงทุน เพื่อขยายโอกาสให้สตาร์ทอัปไปสู่ระดับสากลมากขึ้น และหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้า”
การแพทย์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นหนึ่งในแฟลกชิปของอุตสาหกรรมที่สำนักงานนวัตกรรมให้การสนับสนุน ทั้งการให้ทุนกับผู้ประกอบการ เช่น เบรนด์ ไดนามิก ผู้ผลิตเครื่องตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา NIA ได้สนับสนุนโครงการนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของการเชื่อมต่อระบบนวัตกรรมมากกว่า 600 ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนผลงานนวัตกรรมของธุรกิจให้เติบโตและขยายจำนวนฐานผู้ใช้งาน
หากจะมองว่างาน Medical Fair เป็นงานโชว์ของ แต่กว่าที่สตาร์ทอัปจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ควรต้องได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่ง NIA เป็นอีกหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะนอกจากจะช่วยให้สตาร์ทอัปดำเนินธุรกิจต่อไปได้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เรื่องการเแพทย์เป็นการทำให้สังคมลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ด้วย
แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ออกมาสู่ตลาดค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการผลิตภายใต้แบรนด์จากต่างประเทศ ขณะที่แบรนด์เครื่องมือแพทย์ที่เป็นเจ้าตลาดในปัจจุบันคือ เยอรมนี โดยมีจีนที่เริ่มเร่งเครื่องเข้ามาแชร์ตลาดเครื่องมือแพทย์นับตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด การสนับสนุนจากภาครัฐและนักลงทุนจากเอกชน น่าจะทำให้ในอนาคตไทยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นแบรนด์ของคนไทยมากขึ้น
กริชผกา ระบุว่า “ในปี 2021-2022 ตลาดด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่า 2,235.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวสูงขึ้นถึง 7,342.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 หากเป็นไปตามนี้น่าจะส่งผลต่อ GDP ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า”
การสร้างแบรนด์ Health Tech ควรเป็นวาระแห่งชาติ
ผอ. นวัตกรรมแห่งชาติมองว่า การสร้างแบรนด์ในธุรกิจนี้ควรเป็นวาระแห่งชาติ เพราะการสร้างความเข้มแข็งให้สตาร์ทอัป มีจุดสำคัญคือ การมีนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างกำลังคนที่จะเข้ามารองรับอุตสาหกรรมที่จะเป็นเป้าหมายหลัก หากจะพูดถึงจำนวนแพทย์ของประเทศไทยเรามีไม่เพียงพอ แต่หากพูดถึงความสามารถ ศักยภาพ แพทย์ไทยเราเก่งมาก ฉะนั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องสร้างคนขึ้นมารองรับการเติบโตของกระแสอุตสาหกรรมนี้ ถ้าเราต้องการที่จะเติบโตสามเท่า แต่เราไม่มีแพทย์ โตไม่ได้แน่นอน
นอกจากนั้น ตลาดภาครัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐเอง ควรจะต้องส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่มาจากผู้ผลิตคนไทยให้มากขึ้น ถ้าคนไทยหรือหน่วยงานไทยไม่ซื้อ แต่ต้องการให้ต่างชาติซื้อ เรามองว่าค่อนข้างแปลก”
โอกาสของสตาร์ทอัปไทยในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์
นพสิทธิ์ พิพิธพัฒนาปราปต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี จำกัด สตาร์ทอัปที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในการออกแบบและพัฒนาระบบตรวจการนอนหลับ (Polysomnography System) ดูแลการให้บริการและวิเคราะห์ประมวลผลการตรวจการนอนหลับ โดยใช้เทคโนโลยีทางด้านการนอนหลับที่ครบวงจร โดยอาศัยเทคโนโลยี IoT medical divice เก็บข้อมูลสัญญาณจากร่างกายคนไข้เพื่อวินิจฉัยภาวะการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ พร้อมฟังก์ชันช่วยแปลผลข้อมูลผู้ป่วยเบื้องต้นจากเทคโนโลยีเอไอ ทำให้สามารถลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการประเมินเพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นพสิทธิ์เปิดเผยมุมมองในฐานะสตาร์ทอัปว่า “สตาร์ทอัปไทยต้องการเพียงโอกาสจากผู้ให้บริการในไทย เปิดโอกาสลองใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือซอฟต์แวร์ ซึ่งบางอย่างดีกว่า บางอย่างอาจจะยังพัฒนาได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ การทำให้เป็นไทยแบรนด์ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เพราะไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีทางที่จะเทียบเท่าไต้หวัน ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ของเราเริ่มเป็นที่รู้จักและมีผู้ใช้งานมากขึ้น”
ปัจจุบันไต้หวันสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์เองได้ในจำนวนมาก และภาครัฐยังสนับสนุนด้วยการใช้เครื่องมือแพทย์ที่เป็นแบรนด์ของไต้หวันเอง
นอกจากสตาร์ทอัปทางการแพทย์และสุขภาพที่ NIA ต้องการจะสนับสนุนแล้ว นวัตกรรมด้านอื่นๆ ที่ กริชผกา ผอ. สำนักงานนวัตกรรมมองว่า ไทยยังขาดแคลน และยินดีที่จะสนับสนุนคือ 1. ด้านเกษตรกรรม เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ผลผลิตที่สร้างรายได้และเป็น GDP ยังนับว่าน้อยมาก ควรต้องสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นวัตกรรมจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการเพาะปลูก การควบคุมผลผลิต การสร้างมูลค่าในสินค้าแปรรูป แพ็กเกจจิ้ง การตลาด
2. ด้าน Soft Power ไทยขาดการบริการจัดการ Raw Material ที่มี เช่น วัฒนธรรม อาหาร เกาหลีใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ แต่กลับสร้างให้เกิด Soft Power ได้ดีกว่า การสร้าง Soft power ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม หรือเป็น Culture Innovation น่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 3. อาหาร การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตของวัตถุดิบอาหาร ทำอย่างไรอาหารจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค 4. พลังงาน ทุกภาคอุตสาหกรรมจะต้องเป็น Net Zero สตาร์ทอัปไทยต้องพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ ก่อนถึงกำหนดเวลาเดตไลน์
ในงาน เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นวัตกรรมมีส่วนสำคัญต่อทุกอุตสาหกรรมในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้น นวัตกรรมด้านการแพทย์จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของผู้ใช้งาน เช่น โรงพยาบาล แพทย์ และผู้เข้ารับบริการ เช่น ผู้ป่วย คงได้เห็นกันจากสตาร์ทอัปที่มาโชว์ศักยภาพภายในงานนี้.